AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แก้ปัญหา เบบี๋หลับยากมาก!

Q: ลูกสาวอายุเพิ่งจะครบ 2 เดือนนอนหลับยากทั้งกลางวันและกลางคืน  ตอนกลางวันมีเสียงดังนิดหน่อยก็ตื่น  ต้องแก้ด้วยการให้นอนคว่ำจะหลับได้นานขึ้น ส่วนตอนกลางคืนดิ้นละเมอตลอด แต่ก็ไม่ร้องไห้กวนนะคะ นอกจากถึงเวลากินนม อยากทราบว่าผิดปกติหรือไม่ และจะส่งผลอะไรกับลูกหรือไม่ อย่างไรคะ

หมอขอตอบกว้างๆ จากประสบการณ์ดังนี้ค่ะ

1. กินมากเกินไป

จนมีอาการอึดอัด แน่นท้อง โดยมากมักมีอาการ

  1. ร้องเป็นแพะเป็นแกะ (แอะๆ แอะๆ)
  2. บิดตัวไปมา ร้องเสียงเอี๊ยดอ๊าด
  3. มีเสียงครืดคราดในลำคอ
  4. อาเจียนหรือแหวะนมออกทางปากหรือจมูก
  5. พุงกางออกเป็นรูปทรงน้ำเต้า

อาการดังกล่าวจะทำให้มีอาการเหมือนกับนอนหลับไม่สนิท วิธีแก้ไข คือ จำกัดปริมาณนมที่ลูกกิน ถามว่าแล้วจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ลูกกินให้พอดี ให้สังเกตจากปริมาณอุจจาระ 2 – 3 ครั้ง หรือปัสสาวะ 6 – 8 ครั้งต่อวัน หากทำทุกวิธีแล้วไม่สำเร็จ ต้องได้กินนมเท่านั้นจึงจะหยุดได้ คุณแม่ควรปั๊มนมออกก่อนบางส่วน (เก็บเพื่อใช้ในอนาคต) เพื่อเหลือนมในเต้าให้น้อยลง ลูกจะได้กินนมส่วนท้ายซึ่งมีไขมันที่ทำให้อยู่ท้องนานขึ้น และลดปริมาณแล็กโทสซึ่งมีมากในนมส่วนต้นซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ่ายบ่อย ก้นแดง นอนหลับไม่ดี

2. เป็นธรรมชาติของเด็กแต่ละคน

บางคนหลับแล้วนิ่ง แต่บางคนก็มีดิ้นไปมา กรณีนี้พ่อแม่อาจดูไม่ออกว่าปกติหรือไม่ แต่แพทย์จะดูออก ดังนั้นหมอจะแนะนำให้พ่อแม่อัดวิดีโอมาให้ดู ช่วงวัย 1 เดือนขึ้นไป เด็กมักนอนกลางวันน้อยลง นอนกลางคืนได้ดีขึ้น ถ้ารวมเวลาทั้งกลางวันกลางคืนได้ 11 ชั่วโมง ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เด็กบางคนหูไวมาก หากอยู่ในที่เงียบๆ แล้วมีเสียงอะไรดังแปลกปลอมขึ้นมา ก็จะตื่นทันที กรณีนี้วิธีแก้ไข แนะนำให้เปิดเสียงไว้เป็นพื้นฐานเบาๆ ตลอดเวลา เช่น เสียงพัดลมดังหึ่งๆ เสียงวิทยุซ่าๆ เสียงดนตรีบรรเลง หากมีเสียงแปลกปลอมดังขึ้น อาจไม่มีผลกระตุ้นให้ลูกตื่นเหมือนเคย

3. แพ้อะไรบางอย่างที่ส่งผ่านทางน้ำนมแม่

หมอเคยเจอเด็กแพ้นมวัวที่คุณแม่กินแล้วส่งผ่านทางนมแม่มาด้วยเรื่องนอนหลับไม่ดีเนื่องจากคัดจมูก หายใจไม่ออก มีอาการหายใจครืดคราด บางคนแพ้นมวัวแล้วคันตามผิวหนัง ทำให้นอนหลับไม่ดี มีอยู่รายหนึ่ง นอนหลับไม่ดีเนื่องจากแพ้แคลเซียมเม็ดที่คุณแม่กิน เมื่อหยุดสิ่งที่สงสัยแล้ว อาการก็จะดีขึ้น

 

เรื่องการนอนคว่ำอาจทำให้เด็กนอนหลับได้ดีขึ้น ด้วยเหตุผลคือ ลดการผวาเวลาเด็กขยับตัวแต่ละครั้ง แต่ทว่าการนอนคว่ำสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจนทำให้เสียชีวิตได้ (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) แพทย์จึงไม่แนะนำท่านอนคว่ำสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ หากต้องการฝึกให้ลูกได้นอนคว่ำบ้าง ให้ทำเวลาที่ลูกตื่นหรือมีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่ตลอดเวลา

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด