หากลูกเรามีปัญหาฟันขึ้นช้า ให้ฟลูออไรด์จะช่วยเรื่องฟันของลูกหรือเปล่า มาดูคำตอบและคำแนะนำง่ายๆ เพื่อฟันแข็งแรงจากคุณหมอกันค่ะ
Q: ลูกชายอายุ 7 เดือน ฟันยังไม่ขึ้นเลยค่ะ มีเพื่อนแนะนำว่าให้ผสมฟลูออไรด์ลงไปในน้ำให้ลูกดื่มได้ จึงอยากขอคำแนะนำคุณหมอว่าให้ฟลูออไรด์ลูกน้อยได้แค่ไหนและเป็นอันตรายหรือไม่คะ?
การให้ฟลูออไรด์ผสมในน้ำดื่มไม่ได้ช่วยให้ฟันขึ้นเร็วขึ้น ฟลูออไรด์ในปริมาณที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงฟันผุ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมากเกินไป เช่น กินน้ำจากแหล่งน้ำที่มีฟลูออไรด์สูงกว่า 1.5 มิลลกรัมต่อลิตรต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดปัญหาฟันตกกระหรือฟลูออโรซิส คือเนื้อฟันเสีย เป็นรอยขาวขุ่น เป็นหลุม ร่องหรือเนื้อฟันเป็นสีน้ำตาล และถ้าสะสมไปเรื่อยๆ ก็จะมีผลต่อกระดูก ทำให้มีอาการผิดปกติตามข้อต่อต่างๆ เนื่องจากฟลูออไรด์ไม่ได้มาจากน้ำแต่เพียงอย่างเดียว อาจมาจากยาสีฟันซึ่งมีปริมาณฟลูออไรด์สูงเช่น 1000 ppm ควรเลือกใช้ชนิดที่มีแค่ 500 ppm ก็เพียงพอสำหรับเด็ก
เคล็ดลับฟันแข็งแรง
1. ตรวจสอบว่าน้ำกินในแหล่งที่อยู่อาศัยมีปริมาณฟลูออไรด์เท่าใด ถ้ามีน้อยต้องเสริมฟลูออไรด์เม็ดหรือนัดเคลือบฟลูออไรด์สม่ำเสมอ
2. สอนให้ลูกดื่มของเหลวจากถ้วย ยิ่งฝึกเร็วยิ่งดีเพราะการดื่มจากถ้วยเนื้อฟันจะสัมผัสโดนของเหลวน้อยกว่า เมื่อเลิกขวดได้จะทำให้งดนมมื้อดึกได้
3. เมื่อมีฟันขึ้นแล้ว ถ้าลูกติดดูดขวดหรือต้องถือถ้วยน้ำติดมือไว้ตลอดเวลา ให้ใส่แค่น้ำเปล่าเท่านั้น ถ้าอยู่ในคาร์ซีทต้องฝึกให้กินน้ำเปล่าแก้กระหายเท่านั้น
อ่านต่อ “เคล็ดลับดูแลฟันลูกให้แข็งแรง ข้อ 4-6” คลิกหน้า 2
4. ไม่ให้ลูกกินขนมหวานหรืออาหารที่เหนียวติดเนื้อฟัน เช่น ลูกกวาดหมากฝรั่ง คุ้กกี้ แครกเกอร์ มันฝรั่งแผ่น ถ้าจะกินให้กินเฉพาะมื้ออาหารเท่านั้น ไม่ให้จัดเป็นอาหารว่าง
5. สอนให้ลูกใช้ลิ้นกวาดเศษอาหารที่เกาะติดฟัน ในระหว่างที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะได้แปรงฟันอย่างสะอาด
6. พาลูกไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ หรือแนะนำให้ไปพบเร็วกว่านั้น โดยงานวิจัยพบว่าการพาไปตรวจฟันตั้งแต่ยังไม่มีปัญหาอะไรจะช่วยประหยัดเงินค่าใช้จ่ายสำหรับปัญหาในระยะยาวได้ค่ะ
ถ้าลูกต้องเสียฟันน้ำนมไปก่อนเวลาอันควรเนื่องจากฟันผุ ฟันที่อยู่ใกล้เคียงจะเคลื่อนไปจากตำแหน่งที่ควรจะเป็น ทำให้ตำแหน่งของฟันแท้คลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสียค่าใช้จ่าย ก่อความเจ็บปวด และอาจทำให้ติดเชื้อที่อันตรายแก่ชีวิตได้ จึงควรดูแลฟันให้ดีตั้งแต่ฟันซี่แรกของลูกขึ้นนะคะ
บทความโดย: พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ภาพ: Shutterstock