โรคตาในเด็ก มีความแตกต่างจากโรคตาในผู้ใหญ่ หลายโรคสามารถตรวจและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยป้องกันไม่ให้โรคพัฒนารุนแรงไปไกลจนหมดหนทางรักษา คุณพ่อ คุณแม่ จึงไม่ควรมองข้ามปัญหาสายตา และการมองเห็นของลูกน้อย เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของลูกน้อย
ยุคไอทีทำให้มี โรคตาในเด็ก เพิ่มขึ้น
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเด็กไทยพบปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับที่เด็กใช้สายตาผ่านอุปกรณ์ดิจิตอลมากขึ้น การรับแสงและการเพ่งมองจอเป็นเวลานาน ส่งผลให้กล้ามเนื้อสายตาเมื่อยล้า หรืออาจทำให้จอตาเสื่อมไวขึ้น และนำไปสู่ภาวะตาบอดด้วยตาเลือนรางได้ หากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาอย่างเหมาะสมและทันเวลา เพราะสายตาและการมองเห็นคือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่พัฒนาการทางสมอง และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ให้เกิดกระบวนการจดจำคิดและสร้างสรรค์ จนกลายเป็นการเรียนรู้ความฉลาด และนำไปสู่พัฒนาการด้านอื่นตามมา ข้อมูลจากการสำรวจโดยครูในเด็กก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในโรงเรียน 17 แห่งในปี 2555 พบสายตาผิดปกติ ร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นสายตา ร้อยละ 4.1 คาดว่าทั่วประเทศมีเด็กที่จำเป็นต้องใส่แว่นตาประมาณ 2.6 แสนคน เพื่อลดปัญหาการตาบอดจากสายตาผิดปกติ
ข้อมูลข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า
รศ.พญ.สุดารัตน์ ใหญ่สว่าง จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก ได้กล่าวถึงช่วงเวลาทองของการดูแลลูกน้อยเอาไว้ว่า
“3 เดือนแรกดวงตาของทารกจะล่องลอยไปมาเหมือนตาเข เพราะดวงตาสองข้างไม่ได้ใช้งานร่วมกัน ฉะนั้นแพทย์จะวินิจฉัยโรคตาเขได้เมื่อผ่าน 3 เดือนไปแล้ว และถ้าจะวัดการมองเห็นที่ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ก็ต้องรอจนอายุ 6 เดือน ซึ่งพัฒนาการนี้จะดำเนินไปจนสมบูรณ์เต็มที่เมื่อเด็กอายุได้ 8-9 ขวบ”
พัฒนาการทางด้านสายตาของเด็กจะเริ่มต้นขึ้นเมื่ออายุ 3-6 เดือน โดยเด็กทารกจะเริ่มใช้สายตาทั้งสองข้างพร้อมกัน เริ่มมองเห็นสี เห็นภาพสามมิติ และสามารถกะระยะได้ ก่อนที่จะมีอายุ 8-9 ขวบ เป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากมีโรคที่มาขัดขวางพัฒนาการทางสายตา ก็ต้องรีบรักษาอย่างทันท่วงที เพราะเมื่อสายตาหยุดพัฒนาแล้ว จะไม่สามารถแก้ไขให้กลับมาได้เหมือนเดิม
อ่าน “โรคตาในเด็ก ที่พบบ่อย” คลิกหน้า 2
โรคตาในเด็ก ที่พบบ่อย
1.ความผิดปกติทางสายตา
- สายตาสั้น เด็กไทยมีสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น เด็กที่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านหรือนอกห้องเรียนมีปัญหาสายตาน้อยกว่า เด็กที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการมองระยะใกล้ๆ เป็นเวลานานเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดสายตาสั้น
- สายตายาว เด็กที่มีสายตายาวจะแตกต่างจากผู้ใหญ่ที่มีสายตายาว อาการสายตายาวในเด็กส่งผลให้การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเวลามองในระยะใกล้ บางรายอาจส่งผลให้เกิดภาวะตาเขเข้าด้านใน หรือหากสายตายาวเพียงข้างใดข้างหนึ่งอาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจได้
- สายตาเอียง สายตาเอียงเกิดจากการโฟกัสในแต่ละแนวของกระจกตาดำไม่เท่ากัน ส่งผลให้เห็นภาพมัว ทั้งระยะไกลและใกล้ เด็กที่มีสายตาเอียงมากมักจะเอียงหน้า หรือตะแคงหน้ามอง เพื่อหาแนวหรือมุมโฟกัสที่ชัดที่สุด
2.สายตาเข หรือตาเหล่
สายตาเข หรือตาเหล่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ และภาวะสายตาผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อตาแต่ละข้างทำงานไม่สมดุล หลายคนคิดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง และสามารถหายได้เองเมื่อโตขึ้น หรือเห็นว่าเป็นแค่ปัญหาเรื่องความสวยความงามเท่านั้น ค่อยรอไปรักษาตอนโต ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเมื่อตาข้างที่เขนั้นไม่ได้อยู่ในแนวตรง เด็กก็จะใช้ตาเพียงข้างเดียวในการมอง และเมื่อสายตาข้างที่เขไม่ได้ใช้งานเป็นเวลานานๆ ก็จะเริ่มมีภาวะตาขี้เกียจตามมา
3.หนังตาตกแต่กำเนิด
เกิดจากกล้ามเนื้อเปลือกตาอ่อนแรง อาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ หากหนังตาตกทั้งสองข้าง เด็กจะใช้วิธีเงยหน้าขึ้นเพื่อมองให้เห็นภาพได้ถนัด แต่หากหนังตาตกข้างเดียวจนบังม่านตาก็จะทำให้เกิดตาขี้เกียจได้ เพราะใช้ตาข้างเดียวในการมองเห็น
4.โรคตาขี้เกียจ
การมองภาพด้วยตาข้างเดียว พบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงประมาณ 8 ขวบ มักเกิดจากภาวะตาเข และสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้นมาก ยาวมาก เอียงมาก และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา ยิ่งตาข้างหนึ่งมีความผิดปกติมากกว่าอีกข้างหนึ่งก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคตาขี้เกียจมากเท่านั้น โรคตาขี้เกียจถือเป็นโรคที่รุนแรงโรคหนึ่ง หากปล่อยทิ้งไว้จนโตจะไปสามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้เหมือนเดิม เด็กอาจจะมีอาการตามัวอย่างถาวร
5.มะเร็งจอตาในเด็ก
โรคนี้เป็นโรคตาที่ร้ายแรงที่สุดในเด็ก อาการของโรคที่พบได้บ่อยคือมีลักษณะตาวาวสีขาวๆ กลางตาดำ เด็กที่มีอายุ 1-3 ขวบจึงควรพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย
อ่าน “โรคตาในเด็กป้องกันอย่างไร?” คลิกหน้า 3
โรคตาในเด็ก ป้องกันอย่างไร?
มีคุณแม่ท่านหนึ่งสอบถามเข้ามาว่า “คุณแม่สังเกตว่าเวลาลูกดูโทรทัศน์ หรือมองอะไรที่มีรายละเอียด มักจะขมวดคิ้วและเพ่ง เขาจะสายตาสั้นหรือว่าเอียงได้หรือไม่ค่ะ แต่เขาอายุแค่สามขวบครึ่ง ควรพาไปพบจักษุแพทย์เลยหรือรอดูอาการอีกสักพัก และการให้อาหารบำรุงสายตา จะช่วยเรื่องนี้ได้ไหมคะ”
ทีมงานจึงนำคำถามนี้ไปสอบถามกับ พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด โดยคุณหมอได้ให้คำตอบว่า
“เป็นไปได้ค่ะ คุณแม่พาลูกไปพบจักษุแพทย์ได้เลยค่ะ ยิ่งถ้าเป็นจักษุแพทย์ที่เชี่ยวชาญการตรวจเด็กๆ จะยิ่งดีมากขึ้น เพราะคุณหมอจะมีความอดทนต่อการร้องไห้กลัวของลูก มีวิธีทำให้เด็กร่วมมือ และมีความนุ่มนวลอ่อนโยนในการตรวจเด็กมากเป็นพิเศษ คุณหมอตาที่ชำนาญสามารถตรวจได้แม้เด็กทารกคลอดก่อนกำหนดด้วยซ้ำไป อย่ารีรอที่จะไปตรวจ เพราะหากลูกมีปัญหามองเห็นไม่ชัดจะมีผลเสียหลายอย่าง เช่น
1. กล้ามเนื้อตาต้องทำงานหนัก
ทำให้อ่อนล้าและมีปัญหาปวดตา ปวดศีรษะ ตาเข
2. เมื่อมองเห็นไม่ชัดจะทำให้เรียนหนังสือไม่ดี
เพราะมองเห็นกระดานไม่ชัด หรือไม่สนใจการเรียนเท่าที่ควร
3. เกิดภาวะตาขี้เกียจ
หากสายตาผิดปกติเพียงข้างเดียวโดยที่ตาอีกข้างปกติ สมองจะลดการใช้งานจากตาข้างที่ไม่ชัด เพื่อรับภาพจากข้างเดียว จนตาข้างที่ไม่ชัดไม่ทำงานไปโดยปริยาย เกิดภาวะที่เรียกว่าตาขี้เกียจ หากภายหลังแก้ไขโดยการใส่แว่นแล้ว ตาข้างนี้ก็ยังไม่กลับมาทำงาน จนกว่าจะใช้วิธีการปิดตาข้างปกติ เพื่อพยายามใช้ตาข้างที่ขี้เกียจให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าตาข้างนี้จะกลับมาทำงานได้เป็นปกติ
หากลูกมีปัญหาสายตาผิดปกติ ต้องแก้ไขด้วยเลนส์ คือการใช้แว่นตาค่ะ ส่วนการทำเลสิคและการใช้คอนแทคเลนส์ต้องทำตอนโตขึ้นค่ะ
การให้อาหารบำรุงสายตา ได้แก่ อาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินอี วิตามินซี สังกะสี โอเมก้า 3 และแอนโตไซยานินส์ ไม่ได้ช่วยแก้ไขความผิดปกติของสายตา แต่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติที่จอประสาทตาเนื่องจากการขาดวิตามินและสารดังกล่าว ขณะที่การลดปริมาณการดูทีวีและการใช้สายตาเพ่งจออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ทั้งหลายจะช่วยชะลอความผิดปกติของสายตาได้บ้าง”
ข้อมูลอ้างอิง: สสส, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!
เด็กสายตาสั้น ป้องกันได้ตั้งแต่ยังเล็ก มาดูกันว่าทำอย่างไร?
ปัญหาสายตาในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
โรคตาขี้เกียจในเด็ก (Lazy eye) คืออะไร?
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่