เพื่อให้ลูกรักมีสุขภาพที่แข็งแรง “วัคซีน” ซึ่งเป็นเสมือนปราการด่านแรกที่จะช่วยปกป้องลูกน้อยจากเชื้อโรคร้ายต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วเด็ก จะได้รับวัคซีนฟรีจากรัฐบาลมี 6 ชนิด (10 โรค) หรือมากกว่า 16 เข็ม ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ขวบ แต่ด้วยปัจจุบันมีสถานการณ์เกี่ยวกับโรคร้ายต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งมีคุณพ่อแม่หลายคนเป็นห่วงว่าโรคนั้นจะลุกลามมาเกิดขึ้นกับลูกน้อยของตนเอง จึงต้องการให้ลูกรับ วัคซีนเสริม เพื่อป้องกันการเกิดโรคในอนาคต
วัคซีนเสริมจำเป็นต่อลูกแค่ไหน?
“วัคซีนเสริม” หรือ”วัคซีนทางเลือก” คือ วัคซีนที่ไม่ได้เป็นวัคซีนบังคับที่ต้องฉีด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพ่อแม่หรือสภาพการเลี้ยงดู หากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อโรคก็ควรฉีดเพื่อป้องกันไว้ ซึ่งปัจจุบันก็มีเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนับ 10 กว่าชนิด จนเกิดมีคำถามที่ค้างคาใจคุณแม่หลายคนว่า วัคซีนทางเลือกเหล่านี้จำเป็นกับลูกของเราแค่ไหนอย่างไร? เพราะบางคนไม่อยากให้ลูกเจ็บ ไม่อยากให้ลูกถูกฉีดยาบ่อยๆ
แต่อย่างไรก็ดี โรคติดเชื้อบางอย่าง อาจมีอาการรุนแรงได้ในเด็กบางราย การให้วัคซีนเสริมเพื่อป้องกันโรค และลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ในปัจจุบันราคาของวัคซีนในกลุ่มที่เป็นวัคซีนทางเลือกค่อนข้างสูง หากต้องการให้เด็กได้รับวัคซีนเสริม ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน รอให้วัคซีนลดราคาลงเสียก่อน (อ่านต่อ >> “รวมแพ็คเกจค่าฉีดวัคซีนเหมาจ่าย สำหรับลูกน้อยประจำปี 2559)
ข้อดีและข้อเสียของวัคซีนเสริม
ข้อดี
วัคซีนเสริม จะสามารถช่วยป้องกันโรคได้เพิ่มขึ้น เหมาะสำหรับเด็กที่จำเป็นต้องไปฝากเลี้ยงที่ศูนย์เด็กเล็ก (เนอสเซอร์รี่) หรือเด็กที่อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีอาชีพเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เด็กที่พ่อหรือแม่เป็นหมอหรือพยาบาล ซึ่งอาชีพนี้จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยตลอดเวลาโอกาสติดเชื้อกลับมาที่บ้านก็ง่าย นอกจากนี้ อาชีพอื่น ๆ ที่ต้องทำงานในโรงพยาบาล หรือทำงานในศูนย์ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ก็ถือว่าเป็นอาชีพเสี่ยงเช่นกันค่ะ
หรือรวมไปถึงบางบ้านที่มีไม่ได้เลี้ยงลูกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงข้างต้น แต่ก็เลือกที่จะให้ลูกฉีดวัคซีนเสริม ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้โรคบางโรค เช่น อีสุกอีใส ไวรัสตับอักเสบเอ จะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง ไม่ถึงชีวิต (สำหรับเด็กที่มีภูมิคุ้มกันปกติ) และอาจจะไม่ต้องนอน รพ.ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเป็นโรคเหล่านั้นไปแล้ว เด็กก็ต้องมีอาการป่วย โทรม หยุดเรียน เล่นไม่ได้กินไม่ได้ไปพักใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกจากจะทำให้ลูกทรมาน แล้วพ่อแม่ยังรู้สึกเจ็บปวดแทน และอาจต้องเสียค่ารักษาพยาบามากกว่าค่าวัคซีนนั้นๆ ด้วยซ้ำไป
ข้อเสีย
1. มีราคาแพง
2. เด็กต้องเจ็บตัวหลายเข็ม (แทนที่จะฉีดวัคซีนแค่ ขา 1 ข้าง 1 เข็ม ก็อาจต้อง 2 ข้าง 2 เข็ม ในคราวเดียวเป็นต้น)
ทั้งนี้หลักคิดในการตัดสินใจเลือกเสริมวัคซีนทางเลือกให้แก่ลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาดังนี้
- ควรพิจารณาว่า โรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนนั้น พบบ่อยมากน้อยเพียงใด และมีความรุนแรงแค่ไหน
- ประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ความปลอดภัย และอาการข้างเคียง ของวัคซีนชนิดนั้นเป็นอย่างไร และมีให้เลือกใช้กี่รูปแบบ และมีความแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงราคาของวัคซีนนั้น ๆ ของแต่ละโรงพยาบาลด้วยว่า เหมาะสมหรือไม่ และคุณพ่อคุณแม่รับได้หรือไม่
และเมื่อทราบข้อดีข้อเสียกันไปแล้ว เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า วัคซีนเสริมมีอะไรบ้าง และจะป้องกันโรคอะไรได้บ้าง
อ่านต่อ >> “วัคซีนทางเลือกเสริมสำหรับเด็ก” คลิกหน้า 2
วัคซีนทางเลือกเสริมสำหรับเด็ก
วัคซีนทางเลือก หรือวัคซีนเสริม ปัจจุบันมีอยู่หลายชนิด เช่น
- วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส แนะนำให้ในผู้ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เด็กอายุ 1-13 ปี ให้ 1 เข็ม หรือ 2 เข็ม โดยการให้วัคซีนเข็มที่ 2 ซ้ำที่อายุ 4-6 ปี จะเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรคได้ ถ้าอายุมากกว่า 13 ปี ให้ 2 เข็มห่างกัน 4-8 สัปดาห์
- วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ สาเหตุทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน ทำให้เด็กมีไข้ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ตัวเหลือง อ่อนเพลีย การติดเชื้ออาจไม่มีอาการ อาการไม่มากจนถึงรุนแรงได้ แต่ก่อนฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 ปี แต่ปัจจุบัน สามารถเริ่มได้ที่อายุตั้งแต่ 1 ปี โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน
- วัคซีนป้องกันโรคฮิบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย HIB (Hemophilus Influenza Bacteria) ทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น พบบ่อยที่สุดในเด็กอายุ 2 เดือนถึง 5 ปี ส่วนใหญ่แนะนำให้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน ส่วนจำนวนครั้งที่ฉีดขึ้นกับอายุที่เริ่มฉีด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวัคซีน HIB นี้มักอยู่รวมกับวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นวัคซีนรวมเข็มเดียวชนิด 5 โรค หรือ 6 โรค แต่ราคาค่อนข้างแพง
- วัคซีนป้องกันเชื้อโรตาไวรัส อันเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กทั่วโลก ซึ่งยังไม่มีการรักษาจำเพาะ ส่วนใหญ่ก็จะให้การรักษาตามอาการและรักษาแบบประคับประคอง โดยวัคซีนโรต้าเป็นวัคซีนแบบรับประทาน (หยอดทางปาก) เริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุประมาณ 2 เดือน โดยให้ทั้งหมด2-3 ครั้ง ที่ 2, 4 เดือน หรือ 2, 4, 6 เดือน แล้วแต่ชนิดของวัคซีน หรือ สามารถให้ได้ครั้งแรกที่อายุ 6 สัปดาห์ และอายุมากสุดของการให้วัคซีนครั้งแรก คือ 14 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ครั้งที่ 2 หรือ 3 ถ้าอายุมากกว่า 32 สัปดาห์
- เชื้อโรตาไวรัส พบบ่อยในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งเป็นวัยที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด เด็กที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้ อาเจียน ถ่ายเหลว และอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ในรายที่รุนแรง อย่างไรก็ดี วัคซีนนี้ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 85-96 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นได้รับวัคซีนแล้วก็อาจเป็นโรคนี้ เพียงแต่ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยลง นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสโรต้าสามารถเป็นได้หลายครั้ง เนื่องจากเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางระบบหายใจและทางเดินอาหาร อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ไม่สามารถป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้ออื่นๆ ได้
- วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมค็อกคัส หรือวัคซีนไอพีดี (IPD) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้บ่อยในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่ติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีเมื่อติดเชื้อมักเข้าสู่กระแสเลือดได้ อาจทำให้เกิดปอดอักเสบ หูอักเสบ ในรายที่เป็นรุนแรงอาจทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พิการทางสมองหรือเสียชีวิตได้
- ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคติดเชื้อนิวโมค็อกคัส เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับวัคซีนนี้ให้ได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน สามารถให้พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นได้ ถ้าเริ่มให้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน จะให้ทั้งหมด 4 เข็ม ที่ 2, 4, 6 เดือน และ 1 ปี เป็นต้น การให้วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการลดความรุนแรงของโรคที่ติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดที่บรรจุในวัคซีนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ยังมีราคาค่อนข้างแพง
ทั้งนี้ยังมีวัคซีนที่จัดอยู่ในกลุ่มวัคซีนพื้นฐานอยู่แล้ว แต่มีคุณสมบัติบางอย่างที่แตกต่างไป เช่น ทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น มีอาการข้างเคียงจากวัคซีนลดลง ใช้สะดวก (ฉีดน้อยเข็มลง) รวมวัคซีนหลายชนิดไว้ในเข็มเดียว หรือมีวัคซีนบางชนิดเพิ่มเติมเข้าไป วัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่
- วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์ (แทนวัคซีนชนิดเต็มเซลล์)
- วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อเป็น (แทนวัคซีนชนิดเชื้อตาย)
- วัคซีนรวม (แทนวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน-ตับอักเสบบีโดยใช้วัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์และวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดแทนวัคซีนชนิดเต็มเซลล์และวัคซีนชนิดหยอดตามลำดับ และเพิ่มวัคซีนฮิบ)
- วัคซีนทีแดบ (แทนวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบโดยเพิ่มวัคซีนไอกรนชนิดไม่มีเซลล์)
และวัคซีนพิเศษ วัคซีนในกลุ่มนี้ ได้แก่ วัคซีนไทฟอยด์ สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่พบโรคทัยฟอยด์ได้บ่อย วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น สำหรับผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญในประเทศทางตะวันออกกลาง วัคซีนพิษสุนัขบ้า สำหรับคนที่ถูกสุนัขแมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดกัด และ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับเด็กอายุ 6-12 เดือน และเด็กที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและคาดว่าจะนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้ เช่น วัคซีนไข้เลือดออก วัคซีนมาลาเรีย วัคซีนเอดส์
สำหรับคำถามที่ว่า ลูกจำเป็นต้องรับวัคซีนเสริมหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องศึกษาและเข้าใจข้อมูลของวัคซีนเสริม หรือวัคซีนทางเลือกแต่ละชนิดให้ดีเสียก่อน และควรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเองในการเลือกที่จะให้หรือไม่ให้วัคซีนเพิ่มเติมสำหรับลูก และที่สำคัญอย่าลืมพาลูกไปฉีดวัคซีนของดีและฟรีตามแผนของกระทรวงสาธารณสุขให้ครบด้วยนะคะ เพราะสุขภาพของลูกน้อย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องดูแลเอาใจใส่ เพราะฉะนั้นแล้วอีกหนึ่งวิธีที่จะป้องกันโรคได้ดีที่สุด ควรให้ลูกกินอาหารครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้สุขภาพกาย และใจก็จะเกิดความสมดุล โรคต่างๆ ก็จะไม่กล้าเข้ามารบกวน ลดการใช้ยาโดยไม่จำเป็นแล้วล่ะค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!!
วัคซีนพื้นฐาน 6 ชนิดที่ลูกน้อยต้องได้รับ
เคล็ดลับ ปราบอาการเจ็บของลูกหลังฉีดวัคซีน
ภูมิแพ้ ชนิดรุนแรง รักษาให้หายขาดด้วยวัคซีน
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th