AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา..อันตรายหรือไม่? ระวังก่อนติดเชื้อ หรือ เกิดภาวะขาดน้ำ

ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตาอาจเป็นอันตรายเพราะเด็กทุกคนนั้นเกิดมาพร้อมกับต่อมและท่อน้ำตา แต่ในช่วงแรกเกิด น้ำตาจะถูกผลิตขึ้นเพียงจำนวนเล็กน้อย มีไว้สำหรับทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นและป้องกันอันตรายจากฝุ่นผงเท่านั้น น้อยขนาดว่าจะไม่ไหลอาบแก้มลงมาให้เราเห็นนั่นแลเราจะได้เห็นน้ำตาของจริงก็เมื่อลูกอายุ 1 – 3 เดือนไปแล้ว เพราะต่อมน้ำตาเริ่มผลิตน้ำตามากขึ้น

ร้องไห้แต่ไม่มีน้ำตา..เพราะฝุ่นหรือไม่?

หากกลับกันนี่สิต้องสังเกตให้ดี ถ้าเบบี๋มีน้ำตาซึมออกมาทั้งๆ ที่ไม่ได้ร้องไห้ อาจเป็นเพราะมีฝุ่นไปอุดท่อน้ำตา แต่ส่วนใหญ่จะหลุดออกไปเองได้หรือจะไปให้คุณหมอตรวจดูเพื่อความมั่นใจก็ได้ แต่หากเห็นว่าบริเวณหัวตามีอาการแดง บวมหรือมีตุ่ม ต้องรีบไปหาคุณหมอโดยด่วน เพราะอาจหมายถึงท่อน้ำตาเกิดการติดเชื้อได้

 

Q: ลูกสาววัย 8 เดือนครึ่งร้องไห้ไม่มีน้ำตา ตอนร้องอ้าปากตะเบ็งเสียงแต่ก็ไม่มีน้ำตาเลย สุขภาพร่างกายก็แข็งแรงดี กินนมแม่ได้ปกติ หรือว่าเขาอาจจะขาดน้ำ?

ภาวะขาดน้ำ เกิดได้จาก

  1. การได้รับสารน้ำไม่เพียงพอเช่น กินน้ำกินนมได้น้อย พบได้เวลาลูกป่วย เบื่ออาหารปวดฟัน ปวดท้อง เป็นแผลในปาก เจ็บคอ
  2. การสูญเสียน้ำจากร่างกายเช่น อาเจียน ท้องเสีย ไข้สูง เสียเหงื่อมาก เมื่อร่างกายขาดน้ำจะมีอาการแสดง เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ปากแห้ง เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปากแห้งตาโหล กระหม่อมหน้ายุบ ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะออกน้อยและสีเข้มมาก ถ้าเป็นรุนแรงจะมีความดันเลือดต่ำ

กรณีลูกของคุณแม่เป็นเด็กสุขภาพแข็งแรงดี กินได้ตามปกติ ไม่มีอาการแสดงของการขาดน้ำตามที่หมอกล่าวมา  ถ้าลูกปัสสาวะบ่อยเหมือนเดิม ไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้งต่อวัน  ก็ไม่จำเป็นต้องพยายามให้ลูกกินน้ำเพิ่ม เพราะการกินน้ำมากเกินความต้องการ อาจทำให้ลูกไม่อยากกินนมแม่ จนทำให้ได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ

ส่วนสาเหตุที่ลูกร้องไห้โดยไม่มีน้ำตา หากตั้งแต่เกิด คุณแม่ไม่เคยเห็นน้ำตาของลูกเลย อาจเป็นเพราะต่อมน้ำตายังทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่เมื่อโตแล้วจะดีขึ้น แต่ถ้าลูกเคยร้องไห้มีน้ำตามาก่อน การร้องไห้ไม่มีน้ำตา โดยที่ไม่ได้เกิดจากภาวะขาดน้ำ หมอเดาว่าอาจเป็นการแกล้งร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจก็เป็นไปได้ เพราะวัยนี้แกล้งร้องไห้เป็นแล้วค่ะ

บทความโดย: พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด