AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

ในประเทศไทย ทารกที่กำเนิดมาจะเป็นโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดราว 8 คน ใน 1,000 คน

“โรคหัวใจ” ฟังแล้วอาจทำให้นึกภาพผู้ป่วยสูงอายุ แต่สำหรับ “โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด” นั้น สื่อความตรงตัว คาดการณ์ว่าในประเทศไทย เบบี๋น้อยที่กำเนิดมาจะเป็นโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดราว 8 คน ใน 1,000 คน เราจะพาไปรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกับ นพ. ปรีชา เลาหคุณากร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจในเด็ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ผู้มากประสบการณ์ค่ะ

“โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด” แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

1. โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ

เช่น ลิ้นหัวใจตีบหรือหายไป หรือมีรูรั่วที่ผนังหัวใจ หรือมีห้องหัวใจไม่ครบ ซึ่งมีตั้งแต่ความผิดปกติเล็กน้อยจนถึงผิดปกติมาก ถือเป็นกลุ่มที่พบได้บ่อยที่สุด และถูกเรียกว่า “โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด”

2. ความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในหัวใจ

ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป

3. กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ

เป็นความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจเอง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนามาก หรือบางมาก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

สาเหตุของ “โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด”

หัวใจของทารกในครรภ์จะเริ่มสร้างเมื่ออายุครรภ์ 5 สัปดาห์ หากมีสิ่งรบกวนกระบวนการสร้างจะส่งผลให้ทารกมีหัวใจผิดปกติได้ สาเหตุที่แท้จริงนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่เราพอจะทราบว่าสิ่งต่อไปนี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความผิดปกติของหัวใจในทารก ได้แก่

1. โรคทางพันธุกรรมบางชนิด หรือความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการสร้างหัวใจ โรคทางพันธุกรรม คือ โรคที่มีความผิดปกติของโครโมโซม เช่น

กระบวนการสร้างหัวใจของทารกในครรภ์ต้องใช้ยีนจำนวนมากในการทำงาน หากยีนที่ควบคุมการสร้างหัวใจหายไป หรือไม่ทำงานแม้เพียงตัวเดียว การสร้างหัวใจจะถูกรบกวนทำให้หัวใจผิดปกติได้

2. ปัจจัยเสี่ยงของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์

ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ โรคหัดเยอรมัน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้หัวใจผิดปกติเท่านั้นแต่ยังทำให้อวัยวะอื่น เช่น สมอง หรือตา ผิดปกติ และโรคไข้หวัดใหญ่ จะทำให้ความเสี่ยงของหัวใจผิดปกติเพิ่มมากขึ้น 2 เท่า ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน (ในกรณีที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน) และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

การมีไข้สูงก็อาจส่งผลถึงหัวใจทารกได้ จึงควรรับประทานยาลดไข้ทันที ยาลดไข้ที่ปลอดภัยที่สุดในช่วงตั้งครรภ์คือพาราเซตามอล ยาลดไข้ชนิดอื่น เช่น แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟนนั้นไม่ควรใช้เนื่องจากอาจทำให้หัวใจทารกผิดปกติได้ ข้อพึงระวังคือ ขณะตั้งครรภ์ควรใช้ยาให้น้อยที่สุด และปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาทุกชนิด

(ยังมีต่อ)

อาการของ “โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด” เป็นอย่างไร

หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย หากหัวใจผิดปกติจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หากความผิดปกติของหัวใจรุนแรงจนมีอาการแสดงจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ

1. อาการหัวใจวาย

หมายถึง หัวใจไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการพลังงานของร่างกายได้ อาการที่เห็นได้ คือ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว อ่อนเพลีย ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายได้น้อยกว่าปรกติ สำหรับทารกในวัยขวบปีแรก กิจกรรมหลักของเขาคือ การดูดนม จึงสามารถสังเกตอาการได้จากการดูดนม คือ ดูดนมได้น้อยลง เหนื่อยขณะดูดนม และใช้เวลานานกว่าจะดูดนมเสร็จ ในบางรายอาจมีอาการบวมที่ใบหน้าและขา หรือตับโต

2. อาการเขียว

สาเหตุของอาการเขียวเกิดจากการผสมกันของเลือด ระหว่างเลือดดำจากหัวใจข้างขวา และเลือดแดงจากหัวใจข้างซ้าย ทำให้เลือดมีสีคล้ำลง อาการที่สังเกตได้ คือ ริมฝีปาก เยื่อบุในช่องปากและเล็บ มีสีม่วงคล้ำ เหนื่อยง่ายเมื่อทำกิจกรรมหรือออกกำลัง เมื่อเหนื่อยเด็กเหล่านี้มักจะนั่งยองๆ สักพักจนหายเหนื่อยแล้วจึงเล่นต่อ บางครั้งอาจมีอาการเขียวมากขึ้นอย่างเฉีบยพลัน (cyanotic spell หรือ blue spell) ซี่งมักเกิดตามหลังอารมณ์โกรธ ความเจ็บปวด หรือการออกกำลังกาย สำหรับวัยทารกจะเห็นได้เวลาดื่มนมหรือร้องไห้ ภาวะนี้อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ดี

เด็กบางคนมีเพียงอาการของหัวใจวาย บางคนมีเพียงอาการเขียว แต่บางคนมีอาการทั้งสองอย่างร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของความผิดปกติในหัวใจ นอกจากนี้ เด็กเหล่านี้ยังมีการเจริญเติบโตช้า ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ หากลูกเบบี๋มีอาการต่างๆ ที่กล่าวมาควรพาไปพบแพทย์

รักษา “โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด” ได้อย่างไร

โรคหัวใจที่มีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยมักไม่มีอาการ ไม่มีปัญหาต่อการเจริญเติบโตและอายุขัย สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติก็ไม่ต้องรักษา ในกลุ่มที่มีอาการ เช่น หัวใจวาย อาจให้ยาเพื่อควบคุมอาการ จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับชนิดที่เป็น บางชนิดหายเองได้ หรือดีขึ้นจนถึงจุดที่ไม่อันตราย และไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด กลุ่มที่หายเองไม่ได้มักลงเอยด้วยการผ่าตัดหรือการสวนหัวใจ ในปัจจุบันการรักษารูรั่วที่ผนังหัวใจบางชนิด หรือปิดเส้นเลือดที่ไม่มีความจำเป็น สามารถทำได้ด้วยวิธีการสวนหัวใจ โดยใช้สายพลาสติกเล็กๆ สอดเข้าไปทางเส้นเลือดจนถึงบริเวณของหัวใจที่มีความผิดปกติ แล้วสอดอุปกรณ์ที่จะเข้าไปปิดรูรั่วผ่านทางสายพลาสติกนี้ วิธีการเช่นนี้ได้ผลดีและทำให้หลีกเลี่ยงการผ่าตัดใหญ่ได้

การผ่าตัดนั้นเราทำได้เพียงทำให้หัวใจใช้งานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด อย่างไรความผิดปกติของหัวใจก็จะไม่หายไปอย่างสิ้นเชิง เด็กๆ เหล่านี้จึงยังคงมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว

การดูแลลูกน้อย “โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด”

เด็กที่เป็นโรคหัวใจมักมีภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว จึงต้องเฝ้าระวังอาการอยู่ตลอดเวลา อาการที่อาจเป็นได้มีดังนี้

  1. อาจเป็นโรคปอดอักเสบบ่อย
  2. อาจเกิดอาการอักเสบภายในหัวใจได้เมื่อมีเชื้อเข้าไปในกระแสเลือด เชื้อโรคมักมาจากช่องปาก จึงต้องดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้ดี ระวังอย่าให้ฟันผุ
  3. อาจทำให้ความดันในปอดสูงขึ้น (Pulmonary Hypertension) ซึ่งหากทำให้เส้นเลือดในปอดเสียหายจะไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ จึงเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ค่อนข้างอันตราย
  4. อาจมีจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ แม้จะผ่าตัดรักษาแล้วหรือไม่ก็ตาม
  5. ส่วนใหญ่มักมีปัญหาพัฒนาการทางสมอง เรียนได้ช้า ตามเพื่อนไม่ทัน กระทบกับการใช้กล้ามเนื้อละเอียด หรือมีปัญหาพฤติกรรม คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจ และปรึกษากุมารแพทย์ด้านพัฒนาการโดยตรง

 

รู้หรือไม่?

เมื่อเทียบความผิดปกติหรือความพิการแต่กำเนิดของอวัยวะต่างๆ ในทารกแล้ว ความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิดถือว่ามีมากกว่าอวัยวะอื่นพอสมควรเลยทีเดียว

 

อ่านเพิ่มเติม โรคคาวาซากิ ภัยร้ายเด็กเล็กที่ก่อโรคหัวใจในเด็ก

 

ที่มาจาก นิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ ฉบับเดือนมกราคม 2559

ขอขอบคุณข้อมูลจาก นพ. ปรีชา เลาหคุณากร กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจในเด็ก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์

ภาพ: Shutterstock