AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกฟันผุ เรื่องไม่เล็ก โทษเยอะเกินคาดคิด!

ลูกฟันผุ ดูแลฟันลูก แปรงฟัน

เมื่อลูกฟันผุจะส่งผลเสียหลายประการ แถมยังลดทอนความมั่นใจของลูกน้อยได้อีกต่างหาก มาดูแลฟันลูกกันดีกว่าค่ะ ทำได้ตั้งแต่ซี่แรกเลยนะ!

โรคฟันผุ เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันได้แก่  ลักษณะของฟัน น้ำลาย อาหาร (โดยเฉพาะอาหารที่มีรสหวานหรือคาร์โบไฮเดรต เช่น น้ำตาลแป้ง  ลูกอม  ขนมหวาน  น้ำอัดลม  รวมถึงน้ำผลไม้ชนิดต่างๆ) คราบจุลินทรีย์ พันธุกรรม และพฤติกรรมการดูแลสุขอนามัยในช่องปาก  คุณพ่อคุณแม่จะบอกให้ลูกระมัดระวังการเลือกกินอาหารหรือแปรงฟันให้สะอาดเอี่ยม  เขาก็ยังไม่สามารถทำได้ในทันที  จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องดูแลฟันของลูกน้อยให้แข็งแรง เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เบบี๋มีฟันซี่แรก  คุณพ่อคุณแม่ก็แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ให้เขาได้แล้ว! ผศ. ทพญ. ดร.เข็มทอง มิตรกูล ภาควิชาทันตกรรมเด็ก  คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีเคล็ดวิธีการดูแลฟันของลูกน้อยแต่ละช่วงวัยมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ

โทษของฟันผุมีเยอะมาก!

โรคฟันผุในเด็กมีรูปแบบการทำลายล้างเนื้อฟันที่รุนแรง  โดยในช่วงแรกรอยผุจะมีสีน้ำตาลหรือสีดำรอบคอฟัน  แต่หากปล่อยให้ลุกลามตัวฟันจะถูกทำลายจนเหลือแต่ตอของรากฟันเท่านั้น  ซึ่งโรคฟันผุไม่เพียงทำให้ลูกน้อยปวดฟัน  ฟันไม่สวย  หรือมีกลิ่นปากเท่านั้น  แต่ยังส่งผลต่อพัฒนาการและชีวิตประจำวันของลูกน้อยมากกว่าที่คิด

ความเจ็บปวดจากโรคฟันผุมักส่งผลให้เด็กรับประทานอาหารได้ไม่เต็มที่  ส่งผลให้เด็กขาดสารอาหาร  ร่างกายไม่แข็งแรง  หรือน้ำหนักตัวน้อย  นอกจากนี้อาการปวดฟันอาจทำให้เด็กน้อยนอนหลับได้ไม่เต็มอิ่ม  ทำให้การหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย (Growth Hormone)  ซึ่งจะหลั่งเฉพาะช่วงที่ลูกน้อยนอนหลับพักผ่อน  หลั่งได้ปริมาณลดลง  ร่างกายของลูกจึงเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน

โรคฟันผุมักเป็นสาเหตุให้เด็กสูญเสียความมั่นใจในการพูด  ทำให้เขาพลาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะการสื่อสารและการเข้าสังคมกับเพื่อนอย่างน่าเสียดาย  ปัญหาดังกล่าวอาจบ่มเพาะจนทำให้ลูกน้อยเติบโตเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจหรือมีปัญหาด้านบุคลิกภาพได้

ในเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมีความเสี่ยงทำให้ฟันแท้ผุตามไปด้วยสูงขึ้น  เนื่องจากฟันที่ไม่กำจัดรอยผุให้หมดไป  จะทำให้ช่องปากสูญเสียสมดุล  เชื้อที่อยู่ในฟันน้ำนมจึงสามารถย้ายไปอยู่ที่ฟันแท้ได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เด็กมีฟันชุดผสมคือมีทั้งฟันแท้และฟันน้ำนมปนกัน (ช่วงอายุ 7-12 ปี) หากปล่อยให้ฟันผุโดยไม่แก้ไข  ยิ่งมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ

หากฟันผุถูกทิ้งไว้นานวัน  เชื้อโรคอาจลุกลามเข้าไปบริเวณโพรงอากาศหรือช่องว่างที่มีอยู่ในกะโหลกศีรษะซึ่งในศีรษะและใบหน้ามีช่องที่เป็นโพรงอากาศและช่องว่างหลายช่อง  อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที เชื้อโรคอาจลุกลามไปในกระแสเลือดได้

อ่านต่อ “วิธีดูแลฟันลูกเล็กวัยแรกเกิดถึง 3 ขวบ” คลิกหน้า 2

ดูแลฟันลูกเล็ก (แรกเกิด – 3 ขวบ)

สุขภาพในช่องปากจะดีที่สุดได้  ต้องเริ่มจากวัยทารก  แต่เด็กยังไม่สามารถแปรงฟันหรือดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากได้ด้วยตัวเอง  จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่โดยตรงที่จะช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากของลูกน้อยอยู่เสมอ  ซึ่งวิธีการดูแลง่ายๆ คือ  ไม่ปล่อยให้เบบี๋หลับคาขวดนม  ฝึกให้เลิกดูดนมขวดตั้งแต่ 1 ขวบ  เริ่มแปรงฟันทันทีที่เบบี๋มีฟันซี่แรก  โดยใช้ยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดข้าว  พาไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ  และเริ่มใช้ไหมขัดฟันตั้งแต่ 3 ขวบ  เพียงเท่านี้เบบี๋ก็มีฟันที่สะอาดและแข็งแรงแล้วค่ะ

ปริมาณยาสีฟันสำหรับลูกวัยแรกเกิด-3 ขวบ

—————————————————————-

ดูแลฟันลูกวัยซน (อายุ 3-6 ปี)

ลูกวัยนี้บางคนสามารถแปรงฟันด้วยตัวเองได้บ้างแล้ว  แต่ยังไม่สะอาดเท่าที่ควร  คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลอย่างใกล้ชิดและแปรงซ้ำให้เสมอ   ซึ่งวิธีการแปรงฟันและดูแลสุขภาพฟันสำหรับลูกวัยซนคล้ายกับลูกเล็ก  แต่มีสิ่งที่ควรดูแลเพิ่มเติม  ดังนี้

เด็กในวัยนี้ควรเพิ่มปริมาณยาสีฟันให้เท่ากับเมล็ดข้าวโพดหรือบีบยาสีฟันตามขวางของหัวแปรง  คุณพ่อคุณแม่ที่ยังช่วยลูกแปรงฟัน  สามารถแปรงฟันให้ลูกในท่าจับลูกนอนตักเช่นเดียวกับท่าแปรงฟันของลูกเล็ก  เพราะเป็นท่าที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นฟันของลูกน้อยได้ชัดเจนที่สุด  เคล็ดลับคือ  ไม่จำเป็นต้องให้ลูกบ้วนน้ำหลังแปรงฟันหลายครั้งจนเกินไป  เพราะอาจทำให้ฟลูออไรด์ค้างอยู่ในช่องปากไม่นานเท่าที่ควร ไม่ต้องกังวลว่าลูกน้อยจะกลืนยาสีฟันลงไปนะคะ  เพราะการบีบยาสีฟันให้เหมาะสม จะไม่ทำให้ลูกกลืนยาสีฟันในปริมาณมากแน่นอน

ปริมาณยาสีฟันสำหรับลูกวัย 3-6 ขวบ

ลักษณะการผุของฟันมี 3 ชนิดคือ ไม่มีฟันผุเลย ผุที่หลุมหรือร่องฟัน และผุในซอกฟัน  ซึ่งการผุในซอกฟันกรามจะลุกลามเร็วกว่าด้านบดเคี้ยวและไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า  ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกวัยซนมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อทำการถ่ายภาพรังสีตรวจดูฟันผุตรงบริเวณนี้

อ่านต่อ “วิธีดูแลฟันลูกโตวัย 6 ขวบขึ้นไป” คลิกหน้า 3

ดูแลฟันลูกโต (อายุ 6-12 ปี)

เมื่อลูกโตถึงช่วงวัยนี้คุณพ่อคุณแม่คงจะสบายใจไปเปลาะหนึ่งแล้ว  เพราะลูกวัยนี้สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ดีขึ้น  การแปรงฟันก็เป็นหนึ่งในงานง่ายๆ ที่เขาสามารถดูแลรับผิดชอบได้  เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่อาจต้องคอยกำชับกวดขันสักนิด  เพื่อไม่ให้เขาละเลยการแปรงฟันทุกวันหลังอาหารเช้าและก่อนนอน  หรืออาจยังต้องช่วยแปรงฟันอยู่บ้างในเด็กบางรายที่ยังไม่สามารถแปรงฟันได้สะอาดพอ  ส่วนในช่วงเที่ยงหากไม่สะดวกแปรงฟันหลังอาหาร  อาจกำชับลูกรักให้กลั้วน้ำบ้วนปากทุกครั้ง

เด็กในวัย 6 ขวบเป็นต้นไป  จะใช้ปริมาณยาสีฟันเพิ่มมากขึ้น  โดยใช้ยาสีฟันบีบให้เต็มความยาวของหัวแปรง  นอกจากนี้เด็กโตยังเริ่มมีฟันกรามถาวรล่างซี่ที่หนึ่งขึ้นและคุณพ่อคุณแม่มักจะคิดว่าเป็นฟันน้ำนม จึงไม่มีการเอาใจใส่เท่าที่ควร  ทำให้ฟันซี่ดังกล่าวมีโอกาสผุสูง  จึงควรพาลูกรักมาพบทันตแพทย์เพื่อเคลือบหลุมและร่องฟันป้องกันฟันผุไว้ก่อนนะคะ 

ปริมาณยาสีฟันสำหรับลูกวัย 6 ปีขึ้นไป

ดูแลฟันลูกวัยรุ่น

เด็กวัยนี้คงไม่มีใครให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยแปรงฟันให้อีกแล้ว  เพราะสามารถดูแลสุขอนามัยของตัวเองได้ด้วยตัวเอง  สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะดูแลเพื่อช่วยให้สุขภาพฟันของลูกสมบูรณ์แข็งแรงได้  จึงเป็นการแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ร่วมด้วยหลังการแปรงฟัน  เพื่อลดเชื้อจุลินทรีย์ที่อาจตกค้างในช่องปากจนก่อให้เกิดฟันผุ

หากฟันของลูกไม่ได้รับการดูแลความสะอาดให้เหมาะสมตามวัยของเขามาตั้งแต่เด็กๆ  อาจเป็นสาเหตุให้โรคฟันผุผุชนิดเฉียบพลันกระจายอย่างรวดเร็วในช่วงวัยนี้ได้  เพราะฉะนั้นจะช่วงวัยใด  สุขภาพในช่องปากก็เป็นสิ่งสำคัญ  คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใส่ใจไม่แพ้สุขภาพอนามัยด้านอื่นๆ นะคะ

อ่านต่อ วิธีการเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟันที่ดี / ลูกต้องจัดฟันไหม? คลิกหน้า 4

แปรงสีฟัน+ยาสีฟัน เลือกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

แปรงสีฟันและยาสีฟันในท้องตลาดมีมากมายเหลือเกิน  คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกสับสนว่าเราควรจะเลือกให้ลูกรักอย่างไรดี  ในคอลัมน์นี้คุณหมอมีคำตอบให้ค่ะ

การเลือกแปรงสีฟันควรเลือกให้มีขนาดพอเหมาะกับช่องปากของลูกน้อย  ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป  ส่วนลักษณะของแปรงสีฟันที่เหมาะสมคือ  ด้ามแปรงและหัวแปรงมีลักษณะตรงเป็นแนว  หัวแปรงมีลักษณะแคบเพื่อให้ทำความสะอาดด้านหลังของฟันซี่ในสุดได้  หน้าตัดของขนแปรงควรมีลักษณะเรียบ  ขนแปรงควรเป็นไนลอนชนิดนุ่มเพื่อไม่ให้ระคายเคืองช่องปาก  สำหรับแปรงไฟฟ้ามีการศึกษาพบว่า  แปรงสีฟันไฟฟ้าบางชนิดมีประสิทธิผลในการกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ดีกว่าแปรงธรรมดา  ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวกและความเหมาะสม

คุณหมอแนะนำให้ใช้ยาสีฟันผสมฟูลออไรด์ซึ่งปัจจุบันมีคำแนะนำจากองก์กรวิชาชีพทันตแพทย์ทั้งในประทศอเมริกาและยุโรปให้ประชากรทุกวัยตั้งแต่เบบี๋ที่มีฟันซี่แรกจนถึงผู้สูงวัย  ใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ 1000 ppm เนื่องจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ พบว่าในฟลูออไรด์ปริมาณนี้สามารถลดฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของทุกวัย

การดูแลฟันลูกน้อย

ลูกน้อยพร้อมดัดฟันหรือยังนะ

เด็กแต่ละคนควรได้รับการจัดฟันหรือไม่  ขึ้นอยู่กับปัญหาของการสบฟันว่ามาจากตัวฟันหรือจากกระดูกขากรรไกร  ในเด็กช่วงอายุชุดฟันน้ำนมอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการจัดฟัน  แต่ในช่วงชุดฟันผสม  หากมีปัญหาฟันล่างและฟันบนคร่อมกัน อาจต้องได้รับการจัดฟัน  หรือถ้ามีปัญหาการสบฟันที่จะนำไปสู่การทำให้กระดูกขากรรไกรเจริญเติบโตผิดปกติ หรือเบี้ยวไปทางด้านใดด้านหนึ่ง ก็จำเป็นต้องจัดฟันกับทันตแพทย์ค่ะ

 

เรื่อง: ผศ. ทพญ. ดร.เข็มทอง มิตรกูล ภาควิชาทันตกรรมเด็ก  คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล

เรียบเรียง: กองบรรณาธิการนิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์

ภาพ: Shutterstock, advancerecruitment.net, ช่างภาพนิตยสารอมรินทร์เบบี้แอนด์คิดส์ (ภาพยาสีฟัน 3 ภาพ)