AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกเบบี๋ร้อง เข้าไปอุ้ม หรือไม่อุ้มดีนะ

Q. เคยอ่านหนังสือพบว่า อุ้มลูกบ่อย ในช่วง 3 เดือนแรกจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างแม่และเด็ก แต่พ่อแม่ฝ่ายสามีติงว่าอาจทำให้ลูกติดมือไปจนโต อยากทราบว่าจริงๆ แล้วควรอุ้มหรือไม่อุ้ม

มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า เด็ก 6 เดือนแรกเป็นวัยที่สื่อสารความต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ได้โดยการร้องไห้เท่านั้น หากได้รับการตอบสนองจากคนเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเข้าไปหา การอุ้ม การสัมผัส หรือพูดคุยเพื่อปลอบให้หายกลัว และได้รับความช่วยเหลือตรงกับความต้องการของเด็ก เขาจะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับคนเลี้ยงได้เป็นอย่างดี จะเกิดความไว้ใจว่ามีคนคอยดูแล และจะร้องไห้น้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเติบโตขึ้นมาจะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่เรียกร้องความสนใจมากจนเกินไป

ตรงข้ามกับเด็กที่ขาดคนตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอในวัยทารก เช่น เด็กกำพร้าที่มีผู้ดูแลน้อยเพราะต้องดูแลเด็กจำนวนมาก มักโตขึ้นมาอย่างคนขาดรัก และเรียกร้องมาก เพราะได้รับการเติมมาไม่เต็มพอ การอุ้มในวัยนี้จึงไม่ใช่การตามใจเด็กจนเสียนิสัย แบบเดียวกับกรณีของเด็กที่โตจนพูดเข้าใจแล้ว แต่ยังใช้วิธีร้องไห้เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ ดังนั้นคุณแม่อุ้มได้ค่ะ

อ่านต่อ “คำแนะนำหากลูกร้องโคลิก” หน้า 2

ส่วนการที่ลูกของคุณแม่ยังมีปัญหาร้องมากในตอนกลางคืน อาจเป็นการร้องโคลิก ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้บ่อยในการร้องแบบไม่มีสาเหตุ (ไม่ได้หิว ผ้าอ้อมเลอะ หรือปวดท้อง) การจะปลอบให้หยุดได้ยาก และเด็กมักไม่ยอมนอนจนกว่าจะอุ้มหลับคามือ หรือพาขับรถวนรอบหมู่บ้าน (จริงๆ แล้วเขาร้องจนพอใจหรือครบเวลาแล้วก็หยุดร้องไปเอง)

หมอแนะนำให้พยายามอดทนต่ออีกนิด เพราะสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อลูกอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ในระหว่างนี้ หากลูกร้องต่อเนื่องเป็นชั่วโมง ถ้าทำทุกวิถีทางแล้วยังไม่หยุดร้อง การผลัดกันอุ้มบ้าง พักวางบ้างหากไม่มีคนช่วยอุ้มและแม่เหนื่อยมากแล้ว (ขอเวลานอกให้แม่ไปสูดอากาศก่อนกลับมาอุ้มใหม่) อย่างที่คุณพ่อคุณแม่สามีแนะนำ ก็ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับสุขภาพจิตของลูก แต่ไม่ใช่ไม่อุ้มเพราะกลัวว่าลูกจะติดมือไปจนโตนะคะ

ก่อนที่จะสรุปว่าลูกเป็นโคลิก คุณแม่คงต้องพยายามแก้ที่สาเหตุอื่นๆ ดูก่อน เช่น ถ้ามีแก๊ส การให้ยาขับลมหรือทามหาหิงค์ุก็จะช่วยได้ การแพ้อาหารหรือนมก็อาจเป็นสาเหตุให้ร้องเพราะปวดท้องตอนกลางคืนได้เช่นกันหรืออาจเป็นเพราะการปวดฟันที่กำลังจะขึ้น การฝันร้าย และอื่นๆ อีกมาก หมอบอกสาเหตุที่เจาะจงได้ยาก เพราะไม่ทราบอายุที่แท้จริงของลูกคุณแม่ค่ะ

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ: Shutterstock