AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สังเกตลูก “หูเหม็น” ก่อนจะกลายเป็น “หูอักเสบ” เสี่ยง “หูหนวก”

หูเหม็นจังเมื่อก้มหอมแก้มลูกแล้วได้กลิ่นอะไรพิกลๆ  ลองดมไปเรื่อยๆ พบว่ามาจากหู ..กลิ่นอับชื้นดังกล่าวนี้มีที่มาอย่างไร? เป็นอันตรายหรือไม่  มาพบกับวิธีดูแลความสะอาดของหูลูกน้อยกันค่ะ

หูเหม็น กลิ่นเหม็นจากบริเวณหูอาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้ค่ะ

 

  1. ไม่เคยล้างหู

ที่พบบ่อยที่สุดคือ การไม่เคยได้รับการล้างหรือทำความสะอาดที่ใบหูเลยตั้งแต่แรกเกิด เพราะคุณแม่อาจกลัวว่าน้ำจะเข้าหู การใช้ไม้พันสำลีเช็ดเบาๆ ตามร่องในใบหู อาจไม่สะอาดเพียงพอ ใบหูและร่องหลืบไม่เคยได้สัมผัสน้ำและสบู่หรือแชมพูเลย จึงมีกลิ่นเหม็นอับชื้นคล้ายกลิ่นหนังศีรษะที่ไม่ได้สระผมหลายวันเพราะผิวหนังมีการหลั่งเหงื่อและสร้างไขมันเมื่อแบคทีเรียที่อยู่บริเวณนั้นย่อยสลาย จะเกิดเป็นกลิ่นเหม็น วิธีแก้ไขคือ เวลาอาบน้ำสระผมให้ลูก ให้ล้างหูลูกด้วยน้ำและแชมพูได้เพียงแต่เอียงหูที่กำลังได้รับการทำความสะอาดให้ต่ำ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้ารูหู และรอให้น้ำที่ไหลเข้าไปแล้วไหลออกมาจนหมด ก่อนที่จะย้ายไปล้างอีกข้างหนึ่ง คุณก็จะได้กลิ่นที่หอมสะอาดจากตัวและหูของลูกค่ะ 

  1. ขี้หูอุดตัน

แก้ไขโดยการตักออกโดยผู้ชำนาญหรือแพทย์หูคอจมูก อย่าทำเองถ้าไม่ชำนาญเพราะอาจมีอันตรายต่อเยื่อแก้วหูหรือผนังรูหู หรือการใช้ยาละลายขี้หู เพื่อให้ละลายแล้วไหลออกมาเป็นขี้หูเปียก

  1. การติดเชื้อที่หู

เช่น หูชั้นนอกอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ อาจเกิดจากเชื้อราหรือแบคทีเรีย วินิจฉัยได้โดยแพทย์ รักษาโดยยากินหรือยาหยอดหู

  1. มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในรูหู

เช่นซากแมลง เศษอาหาร ไม่ควรพยายามเอาออกเอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหู ควรพบแพทย์หูคอจมูกเพื่อเอาออก และอาจใช้ยาหยอดหูรักษาบาดแผลที่เกิดขึ้นจากสิ่งแปลกปลอม

อ่านเรื่อง “สังเกตลูก “หูเหม็น” ก่อนจะกลายเป็น “หูอักเสบ” เสี่ยง “หูหนวก””คลิกหน้า 2

  1. ผิวหนังบริเวณหูอักเสบจากการติดเชื้อ

หรือเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้หรือแพ้สารสัมผัส แก้ไขโดยการใช้ยาทาและหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้แพ้

น้ำเข้าหูทารกบ่อยๆ มีอันตรายไหม?

 

ถ้าลูกไม่ได้มีปัญหาหูชั้นกลางหรือหูชั้นนอกอักเสบ น้ำที่เข้าหูไม่ได้ทำอันตรายต่อหูลูก เพียงแค่เอียงให้หูข้างที่น้ำเข้าต่ำลง น้ำก็จะไหลออกมาได้เอง ไม่ควรใช้ไม้พันสำลีทำความสะอาด เพราะอาจทำให้บาดเจ็บเลือดออกหรือเยื่อแก้วหูทะลุ

หากหูมีปัญหาอักเสบอยู่แล้วและมีน้ำเข้าหู อาจทำให้ปวดหูมากขึ้น หรือน้ำอาจพาเชื้อโรคเข้าไปสัมผัสแผล ทำให้อักเสบมากขึ้น จึงควรระวังไม่ให้น้ำเข้าหูจะดีกว่าค่ะ

หูชั้นนอกอักเสบ หรือที่เรียกว่า swimmers ear  เกิดจากการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย ตามปกติท่อในหูชั้นนอกจะมีกรดซึ่งช่วยป้องกันเชื้อโรค แต่หากหูสัมผัสกับน้ำเป็นเวลานาน น้ำก็อาจจะชะเอากรดเหล่านี้ออกไป และน้ำที่ค้างอยู่ในหูก็ทำให้เชื้อราและแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีจนเกิดการอักเสบและเจ็บในหู ดังนั้นหลังขึ้นจากสระ ควรเอียงศีรษะให้น้ำไหลออกจากหู เช็ดใบหูและช่องหูด้านนอกด้วยสำลีหรือผ้าสะอาดเบาๆ ทุกครั้ง

 

หูอักเสบ คืออะไร?

วิธีสังเกตว่าลูกของคุณมีอาการหูชั้นนอกอักเสบหรือไม่ ให้ลองจับใบหูส่วนล่างดึงขึ้นเบาๆ ถ้าเขาเจ็บมากขึ้น ก็อาจเป็นสัญญาณของอาการหูชั้นนอกอักเสบ ถ้าหยุดการสัมผัสน้ำสักระยะและรักษาความสะอาดภายในช่องหู อาการอาจจะดีขึ้นได้เอง แต่ถ้าผ่านไป 1 สัปดาห์แล้วอาการเจ็บไม่ทุเลา ควรพาไปพบแพทย์

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : 

ปั่นหูลูก เรื่องอันตรายที่พ่อแม่ต้องระวัง!

https://www.amarinbabyandkids.com/uncategorized/clean-ears/

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด