แม่ระวังให้ดี หากทาน อาหารกลุ่มเสี่ยง หรือบำรุงครรภ์เน้น นม ไข่ หรืออื่นๆ มากเกินไป อาจเกิดผลร้าย หรือมีความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเกิดมาแพ้อาหารเหล่านั้นได้
การแพ้อาหาร หรือ ผื่นภูมิแพ้ เป็นโรคที่คุณแม่หลายคนกังวลว่าลูกของเราจะเป็นหรือเปล่า ซึ่ง อาหารกลุ่มเสี่ยง ที่ทำให้ลูกมีอาหารแพ้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแพ้นมวัว แพ้ไข่ แพ้แป้ง แพ้อาหารทะเล เยอะแยะไปหมด แล้วจะทำอย่างไรถึงจะลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้ ตามมาดูกันค่ะ
ลูกแพ้อาหาร เพราะแม่กิน อาหารกลุ่มเสี่ยง มากเกินไป
ปัจจุบัน มีเด็กที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีอาการแพ้อาหารอยู่เยอะมาก นั่นเป็นเพราะปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือตอนท้องคุณแม่ได้กินอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป และเมื่อลูกน้อยเกิดมากินนมแม่ ที่ซึ่งก่อนหน้านี้คุณแม่ได้กินอาหารกลุ่มเสี่ยงเข้าไป จึงทำให้สารก่อภูมิแพ้ไปกระตุ้นภูมิต้านทานของลูกน้อยอีกครั้ง ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้อาหารขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ถือเป็นเรื่องจริงที่เรียกได้ว่ามีคุณแม่หลายคนได้ประสบพบเจอกับตัวเองมาแล้ว
เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์ให้กับทางทีมงาน Amarin Baby & Kids ฟังว่า …
ลูกชายตัวน้อยซึ่งปัจจุบันอายุ 1 ขวบ 8 เดือน มีอาการเป็นผื่นภูมิแพ้ขึ้นเมื่อตอนวัยเพียง 2 เดือน ซึ่งคุณแม่พบและทราบสาเหตุหลังพาลูกไปหาหมอ และคุณหมอบอกว่า ลูกแพ้อาหาร
อ่านต่อ “แม่แชร์ประสบการณ์ ลูกแพ้อาหาร
เพราะแม่กินอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป” หน้า 2
โดยคุณแม่เล่าอาการของน้องฌาน ให้ฟังว่า… น้องขึ้นผื่นแพ้เต็มทั่วใบหน้าหลังกินนมแม่ เป็นผลทำให้ ลูกแพ้อาหารที่แม่กิน เพราะคุณแม่คิดว่าหลังคลอดแรกๆ อยากกินอาหารง่ายๆ อย่างไข่ดาว ไข่เจียว เพราะหาง่าย และกินมาตอนขณะที่ให้นมลูก
ซึ่งเมื่อคุณแม่พาน้องฌานไปตรวจ และทำ สกินเทส (การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง) คุณหมอก็บอกว่าน้องแพ้อาหารหลายอย่าง เมื่อเจาะเลือดค่าการแพ้แสดงให้เห็นสูงมาก โดยเฉพาะไข่และนมวัว
โดยคุณแม่ได้สรุปให้ฟังว่า สิ่งที่น้องแพ้ทั้งหมด คือ นอกจาก อาหารกลุ่มเสี่ยง จำพวก ไข่แดง ไข่ขาว แป้งสาลี นมวัว ถั่วเหลือง ถั่วทุกชนิด กุ้ง ก็ยังมี หญ้าสนาม ขนหมา ขนแมว หรือเรียกง่ายๆว่าแพ้ทุกอย่าง โดยคุณหมอบอกว่าสักประมาณ 7 ขวบก็น่าจะดีขึ้น
และคุณแม่ยังบอกอีกว่าตัวเองคุณแม่เองก็เป็นโรคภูมิแพ้และหอบหืด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้น้องฌานแพ้อาหาร หรือเป็นโรคภูมิแพ้นั่นเอง
ขอบคุณภาพและเรื่องราวจากคุณแม่ Kik Waranya Sritecha
ทำไมลูกถึงแพ้ อาหารกลุ่มเสี่ยง
เพราะอาการแพ้ อาหารกลุ่มเสี่ยง หรือการที่ลูก เกิดมาเป็นโรคภูมิแพ้ ปัจจัยแรกมาจากพันธุกรรม ซึ่งหากตัวคุณแม่เองหรือคนในครอบครัวทั้งทางคุณแม่และคุณพ่อมีประวัติภูมิแพ้ ก็อาจทำให้ลูกเกิดมาเป็นภูมิแพ้ด้วย ปัจจัยต่อมาก็คืออายุครรภ์ที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ และปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับ
โดยทั่วไปถ้าคุณแม่ท้องได้รับสารก่อภูมิแพ้ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จะไม่ค่อยมีผลอะไรมากนักกับความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้ในอนาคต … แต่ถ้าแม่ท้องได้รับสารก่อภูมิแพ้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ขึ้นไปก็อาจจะมีผลขึ้นกับปริมาณของ อาหารกลุ่มเสี่ยง หรือ สารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับ
- ซึ่งถ้าได้รับในขนาดที่น้อยถึงน้อยมากก็จะไม่มีผลอะไร
- แต่ถ้าได้รับในขนาดปานกลางก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน
- แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจจะก่อให้เกิดการแพ้ได้
- แต่ถ้าได้รับหลังคลอด ในปริมาณเล็กน้อยก็จะไม่มีผล
- แต่ถ้าปริมาณมากหลังคลอด (กินนมแม่ ที่แม่กินอาหารกลุ่มเสี่ยง) ก็จะทำให้เกิดการแพ้
ซึ่งโรคภูมิแพ้ที่ลูกน้อยมักเป็นหลังคลอด หมายถึง สิ่งต่างๆที่จะสามารถส่งผ่านไปยังตอนเป็นทารกในครรภ์ได้ เพราะต้องดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและผ่านรกไปยังลูกน้อย สารก่อภูมิแพ้ที่พูดถึงในที่นี้ คือ อาหารการกินของแม่ท้อง นั่นเอง
แล้วแม่ควรจะกินหรือทำอย่างไร ถึงจะลดความเสี่ยงได้ อ่านต่อ หน้า 3
แม่ควรจะกินหรือทำอย่างไร ถึงจะลดความเสี่ยง
สำหรับเรื่องนี้ หมอเมษ์ จากเพจใกล้มิตรชิดหมอ ได้เขียนกระทู้พันทิป แจ้งไว้ว่า … คำตอบง่ายๆ คือ กินอาหารแต่ละอย่างในสัดส่วนที่พอดีๆ กัน (balanced diet) อย่า “โด๊ป” หรือ “โหลด” อาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป
…เช่น เมื่อคุณหมอบอกว่า ให้กินนมเสริมแคลเซียม เกิดมาในชีวิตนี้ไม่เคยกินนมเลย พอท้องกินเข้าไปวันละ 3-4 แก้ว พอคลอดออกมาลูกก็แพ้นมวัว
…บางคนได้ยินเรื่องแพ้นมวัว เลยเปลี่ยนไปกินนมถั่วเหลืองแทน วันนึง 3-4 กล่อง พอคลอดลูกก็แพ้นมถั่วเหลือง
…บางคนพอท้องแล้วไม่รู้อะไร อยากกินแต่พิซซ่า สปาเกตตี้ กินขนมเบเกอร์รี่ เช้า เที่ยง เย็น คราวนี้ลูกแพ้หมดเลย นม ไข่ แป้ง ชีสต์ …
สรุปคือ ลูกกินอะไรไม่ได้ซักอย่าง … หรือบางคนแย่กว่านั้น กินอาหารปกติครบถ้วนแล้ว โหลดนมยังไม่พอ โหลดโปรตีนเสริมที่ขายกันเกลื่อนเข้าไปอีก เพราะคนนั้นบอกว่าดีคนนี้บอกว่าดี กินมาแล้วตอนท้องอย่างนั้นอย่างนี้ สุดท้ายลูกแพ้โปรตีน อดกินเนื้อสัตว์ไปตลอดชีวิต
ดังนั้นเวลาเลือกรับประทานอาหาร ก็ควรจะเป็นเหมือนที่คุณแม่เคยเรียนมาตอนเด็กๆ คือ กินให้ครบ 5 หมู่ แป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ และพยายามเปลี่ยนชนิดอาหารให้หลากหลาย อย่าจำเจอยู่แต่ชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น มื้อนี้กินข้าวกับหมูผัดขิง แล้วก็ไข่ต้ม 1 ฟอง
แล้วมื้อต่อไปก็เปลี่ยนเป็น แกงจืดตำลึง กับปลาทอด ตอนเย็นก็กินก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
หรือถ้าตอนเช้ากินไข่ไปแล้ว 1 ฟอง ตอนเที่ยงตอนเย็นอาจจะไม่กินแล้ว
ส่วนพวกขนมเค้ก เบเกอร์รี่ ก็อาจจะนานๆ ที ไม่ใช่หลังอาหารทุกมื้อต้องตามด้วยเค้ก หรือเบเกอร์รี่แบบนี้นอกจากน้ำหนักเกิน อาจจะได้รับแป้ง นม ไข่มากไปก็ได้
สุดท้ายคุณหมอยังได้บอกอีกว่า… โดยส่วนตัว ไม่เคยแนะนำให้ใครกินอาหารอะไรเพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ แต่บอกให้กินแบบพอดีๆ ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่พอเหมาะ ส่วนอาหารบำรุงก็ไม่เคยแนะนำอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งหากคุณแม่มีปัญหาหรือสงสัยว่ากินอาหารเหล่านี้แล้วลูกจะแพ้ไหม ก็ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ได้ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :
- ข้อสรุปสำหรับพ่อแม่ เรื่องการแพ้อาหารในเด็ก
- เตือนจากแม่ถึงแม่!! ลูกแพ้อาหาร เพราะแม่ท้องโด๊ปอาหารกลุ่มเสี่ยงมากเกินไป
- อาหารแม่ท้องและให้นมลูก กินอย่างไร? ไม่ให้ลูกแพ้อาหาร
- แพ้อาหาร ภัยเงียบที่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : pantip.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่