AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แม่ใจสลาย ลูกน้อยเสียชีวิตเพราะผ้าห่มคุณยาย

แม่ใจสลาย ลูกน้อยเสียชีวิตเพราะผ้าห่มคุณยาย

คุณพ่อ คุณแม่เคย ห่มผ้าให้ลูก มั้ยคะ แน่นอนอยู่แล้วว่าทุกบ้านคงเคย แต่คุณพ่อ คุณแม่เริ่มห่มผ้าให้ลูกน้อยช่วงอายุเท่าไหร่กันเอ่ย? แม่น้องเล็กเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับ SIDS อาการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันในทารก เรามาดูกรณีตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งที่อาจทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้เช่นกัน

ห่มผ้าให้ลูก จนเสียชีวิต

มีคุณแม่คนหนึ่ง ชื่อ Jordan DeRosier โพสต์เผยความผิดของตัวเองในสื่อโซเชียลมีเดีย มีใจความว่า

“ถึงผู้แสดงความคิดเห็น และตำหนิวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันให้ลูกชายของเรารอดชีวิต ตอนแรกฉันก็ไม่อยากจะอธิบายรายละเอียดการตายของลูก เพราะมันเป็นความผิดของฉันเอง และกลัวการถูกประณามจากสังคม แต่ฉันไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีกเลย จึงตัดสินใจออกมาบอกความจริง

ฉันพาลูกเข้านอน พร้อมห่มผ้าห่มที่คุณยายซื้อให้เขา และห่มผ้าห่มสีเทาอีกหนึ่งผืน ซึ่งเป็นผ้าห่มที่เขามีติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด แต่หลังจากที่หลับไปได้สักพัก ลูกของฉันก็ดึงผ้าห่มมาคลุมศีรษะของเขาโดยไม่รู้ตัว จนขาดอากาศหายใจอยู่ในนั้น คุณจะไม่รู้เลยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับคุณ คุณจะไม่คิดว่าเกิดกับลูกของคุณได้ กรุณาอย่าวางลูกน้อยไว้ใกล้ๆ กับผ้าห่ม

ฉันไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้น เพราะลูกชายของฉันอายุ 7 เดือนแล้ว เขาสามารถคลาน ยืนได้ด้วยตัวเอง และปีนไต่ได้แล้ว คิดว่าจะห่มผ้าได้อย่างปลอดภัยแล้ว

ทารกหยุดหายใจขณะหลับเพราะขาดอากาศหายใจ

นี่คือใบหน้าของแม่ที่ใจสลาย โศกเศร้า และเจ็บปวดใจเป็นอย่างยิ่ง กับความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ของตัวเอง และจะรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต ได้โปรดเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ทำให้โลกทั้งใบของฉันป่นปี้”

แม่น้องเล็กฝากเรื่องราวนี้เอาไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับคุณพ่อ คุณแม่หลายๆ คน “ก็แค่ห่มผ้าให้ลูก แค่เล่นคลุมโปง คงไม่เป็นไรหรอกมั้ง?” อย่าคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องเล็กๆ เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะเสียลูกน้อยไปเมื่อไหร่ นอกจากนี้ แม่น้องเล็กยังมีคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับการป้องกันลูกเสียชีวิตจากผ้าห่มมาฝากค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “นอนคลุมโปงอันตรายหรือไม่?” คลิกหน้า 2

นอนคลุมโปงอันตรายหรือไม่?

คุณพ่อ คุณแม่คงเคยนอนคลุมโปงกันนะคะ แม่น้องเล็กก็เคยเช่นกัน ลองสังเกตเวลาเรานอนคลุมโปง พอเรานอนไปได้สักพัก จะเริ่มรู้สึกเหมือนหายใจไม่ค่อยออก จากความรู้เบื้องต้นที่เราก็เคยเรียนกันมา มนุษย์เราจะหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป และหายใจคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ในพื้นที่ที่จำกัดอย่างใต้ผ้าห่ม เมื่อเราใช้อากาศที่มีออกซิเจนไปจนหมดแล้ว ใต้ผ้าห่มที่เราอยู่ ก็จะเหลือเพียงคาร์บอนไดออกไซด์ นั่นแหละค่ะ จะทำให้เราขาดอากาศหายใจได้

กระทรวงสาธารณะสุขเคยออกมาเตือนเรื่องนี้ในฤดูหนาว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็นมากๆ และมีเด็กๆ อาศัยอยู่ ให้ระมัดระวังเรื่องการนอนคลุมโปง เพราะอาจจะทำให้ขาดออกซิเจน ส่งผลเสียต่อร่างกายได้ หลายคนอาจจะบอกว่า “ฉันนอนคลุมโปงมาตั้งแต่เด็ก ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ถ้าเป็นแบบนี้ ทุกคนที่เคยนอนคลุมโปง คงตายกันไปหมดแล้วสิ” อย่าคิดว่าไม่เป็นอะไรค่ะ เพราะถ้าเรานอนคลุมโปงติดต่อกันทุกๆ คืน มันอาจจะสะสมและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง และอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้เมื่ออายุเพิ่มขึ้น

นอนคลุมโปง

เครดิตภาพ: Jones Salad

แล้วจะให้ลูกห่มผ้าได้เมื่อไหร่ล่ะ? นี่คงเป็นคำถามที่กำลังค้างคาใจของคุณพ่อ คุณแม่ และกำลังรอคอยคำตอบ จริงๆ แล้วการห่มผ้าก็เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันของทารก (SIDS) ที่แม่น้องเล็กเคยเขียนเอาไว้ในบทความก่อนหน้า แต่อาจจะยังไม่ได้โฟกัสเกี่ยวกับการห่มผ้าเท่าไหร่ เรามาอ่านเพิ่มเติมในบทความต่อไปนี้กันค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อ “5 ข้อป้องกันลูกเสียชีวิตจากการนอน และห่มผ้า” คลิกหน้า 3

5 ข้อปฏิบัติป้องกันลูกเสียชีวิตจากการนอน และห่มผ้า

สำหรับลูกน้อยวัยทารกแรกเกิด – 1 ขวบนั้น คุณพ่อ คุณแม่คงทราบกันดีอยู่แล้วถึงการเสียชีวิตแบบเฉียบพลันของทารก (SIDS) ที่ต้องระมัดระวังในขณะที่ลูกน้อยนอนหลับ (สามารถย้อนอ่านได้จากบทความที่เกี่ยวข้อง) สำหรับบทความนี้ แม่น้องเล็กขอโฟกัสไปที่การนอน ที่มีผ้าห่มเป็นส่วนประกอบหลักค่ะ

1.ให้ลูกนอนหงายบนที่นอนแบนราบ

ความเชื่อเรื่องนอนคว่ำแล้วหัวทุย ขอพับเก็บไปได้เลยสำหรับลูกน้อยวัยแรกเกิด – 1 ขวบ เพราะอาจจะต้องแลกมากับความเสี่ยงที่ประเมินค่าไม่ได้ เพราะการนอนคว่ำ ถือเป็นอันตรายสำหรับลูกน้อยวัยนี้ ที่นอนอาจเกิดไปปิดปาก ปิดจมูกลูกน้อยจนเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ลูกในวัยนี้ยังเล็กเกินกว่าที่จะขยับคอได้เอง จึงไม่แนะนำให้ลูกน้อยคว่ถ้าไม่มีคุณพ่อ คุณแม่คอยจับตาดูอยู่ตลอดเวลาค่ะ

2.อย่าห่มผ้าให้ลูกจนคลุมศีรษะ

เวลาที่คุณพ่อ คุณแม่นอนเปิดแอร์ หรือเปิดพัดลมให้ลูกน้อย หลายคนเกิดความกังวล กลัวว่าตอนกลางดึก ลูกน้อยจะหนาวเย็นเกินไป จึงมักจะห่มผ้าให้ลูก จนบางครั้งผ้าห่มเลื่อนคลุมไปจนมิดศีรษะ การห่มผ้าเช่นนี้เป็นอันตรายมาก ควรหาเสื้อผ้าหนาๆ อุ่นๆ หรือห่อตัวลูกน้อยในวัยนี้ เพื่อป้องกันอากาศหนาว หาหมวกอุ่นๆ มาใส่ แทนการใช้ผ้าห่มก็เพียงพอแล้วค่ะ (อ่านวิธีการห่อตัวลูกน้อยปลอดภัย)

ป้องกันโรค sudden infant death syndrome (sids)

3.ใช้ผ้าห่มสำหรับเด็ก แทนผ้านวมของผู้ใหญ่

ผ้าห่มสำหรับเด็กจะมีผืนเล็ก และบางกว่าผ้าห่มของผู้ใหญ่ ซึ่งออกแบบและผลิตมาสำหรับวัยเด็กโดยเฉพาะ ลูกน้อยยังได้รับความอบอุ่น แต่จะสบายตัวกว่า และระบายอากาศได้ดีกว่าผ้านวม หรือผ้าห่มของผู้ใหญ่

4.ควบคุมอากาศให้คงที่

พยายามทำให้อุณหภูมิในห้องอยู่ที่ 24-26 องศา อาจจะติดเทอร์มิเตอร์เอาไว้ใกล้ๆ ไม่ให้ลมจากแอร์ หรือพัดลมเป่าโดนศีรษะลูกโดยตรง ไม่ควรให้ลูกนอนใกล้หน้าต่าง เพราะอาจถูกฝนสาด หรือโดดแดดตอนกลางวัน ถ้าไม่มีเทอร์โมมิเตอร์ ลองคลำบริเวณท้อง หรือคอด้านหลัง เพื่อดูว่าลูกรู้สึกร้อนหรือเปล่า มีเหงื่อออกหรือไม่ ดูว่าเย็นไป หรือร้อนไปหรือเปล่า

5.อย่านอนกับลูกบนเตียง หรือโซฟา

คุณพ่อ คุณแม่อาจเผลอนอนทับลูก หรือใช้ผ้าห่มผืนใหญ่ห่มพร้อมกับลูก การเผลอเพียงไม่กี่นาที อาจเกิดอันตรายจากการนอนหลับกับลูกน้อยได้โดยไม่รู้ตัว ควรแยกที่นอน และเลือกที่นอนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ

ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ต้องการจะเริ่มต้นห่มผ้าให้ลูกน้อย แม่น้องเล็กขอแนะนำว่าควรเริ่มเมื่อลูกน้อยมีอายุ 1 ขวบขึ้นไปแล้ว และระมัดระวังเรื่องการนอนคลุมโปงของลูกน้อยด้วยนะคะ

อยากให้ลูกๆ ปลอดภัย เพื่อลูกฉลาด ดี และมีสุข

แม่น้องเล็ก

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง คลิก!!

SIDS หรือไหลตายในเด็ก ภัยเงียบของลูกน้อย

ทารกนอนคว่ำ เสี่ยงหลับไม่ตื่น ไหลตายไม่รู้ตัว

ห่อตัวลูก อบอุ่นปลอดภัย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Save

Save

Save