คุณพ่อ คุณแม่ อาจจะคิดว่าการ สำลักนม ของเด็กๆ เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ และไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องเป็นกังวลอะไร เพียงแต่อุบัติเหตุนี้ไม่สามารถบอกเราได้ว่า เสี่ยงต่อความตายได้มากน้อยแค่ไหน เมื่อมีกรณีตัวอย่างที่จะเล่าให้อ่านต่อไปนี้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจพ่อแม่
5 กรณีตัวอย่างเด็ก สำลักนม
กรณีที่ 1 จ.ภูเก็ต
มีทารกแรกคลอดเสียชีวิตภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง จ.ภูเก็ต ที่เกิดเหตุเป็นแคมป์คนงานชาวเมียนมาก่อสร้างด้วยสังกะสี ภายในห้องพักพบศพทารกเพศหญิง อายุ 20 วัน นอนเสียชีวิตอยู่บนที่นอนท่ามกลางความเสียใจของ นางสู่ อายุ 31 ปีและสามี รวมทั้งเพื่อนคนงาน ตรวจสอบตามร่างกายไม่พบร่องรอยหรือบาดเแผลถูกทำร้าย
นางสู่ แม่ของหนูน้อยผู้เสียชีวิต เล่าว่า ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น. ได้ให้ลูกกินนมจากเต้าแล้วลูกเกิดสำลักนมจนอาเจียนออกมาหลายครั้ง จากนั้นก็ไม่กินนมอีกเลยเเละนอนหลับไปจนกระทั่งเวลาประมาณ 22.00 น. ตนสังเกตดูเห็นว่าลูกไม่หายใจแล้ว จึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเหลือแต่ลูกก็เสียชีวิตไปแล้ว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่นำศพส่งชันสูตรที่โรงพยาบาลถลาง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป
กรณีที่ 2 จ.จันทบุรี
ร.ต.ท.อุกฤษฎ์ แพงไธสง ร้อยเวร สภ.เมืองจันทบุรี พร้อมตำรวจสืบสวน แพทย์เวร โรงพยาบาลพระปกเกล้าฯ และกำลังเจ้าหน้าที่กู้ภัย สมาคมสว่างกตัญญูธรรมสถาน จันทบุรี ร่วมกันตรวจสอบภายในบ้านพักหลังหนึ่ง หลังจากได้รับแจ้งว่ามีเด็กทารกวัย 1 เดือนเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ พบคนเป็นแม่กำลังนั่งร้องไห้กอดศพลูกน้อยด้วยความโศกเศร้า พร้อมทั้งสามีและครอบครัว
จากการสอบสวนพบว่าทารกเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 3 – 5 ชั่วโมง แม่ของทารกน้อยให้การว่า ช่วงคืนที่ผ่านมาได้นอนให้นมลูกสาว แล้วเผลอหลับไปจนถึงเช้า โดยขณะที่ตื่นขึ้นมากำลังจะอุ้มลูกมาอาบน้ำ เพื่อเตรียมตัวไปพบแพทย์ตามที่นัด เพื่อตรวจดูอาการ เพราะเคยมีประวัติสำลักนมมาก่อน กลับพบว่าลูกน้อยตัวเย็น ไม่มีลมหายใจ และมีน้ำนมไหลออกมาจากปาก และจมูก จึงพยายามอุ้มขึ้นพาดบ่า และพยายามปั๊มหัวใจ แต่ไม่ได้ผล เพราะลูกสาวเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว
จากการชันสูตรเบื้องต้น พบว่าสาเหตุที่เสียชีวิตมาจากทารกน้อยสำลักนมแม่ ประกอบกับเป็นทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นผลพวงทำให้เด็กไม่สามารถรับน้ำนมแม่ได้มากเท่าทารกปกติ ทำให้เกิดการสำลักนมจนเสียชีวิต
มีครอบครัวหนึ่ง คุณแม่ทำงานเป็นพนักงานบริษัท มีลูกน้อยวัย 4 เดือน วันนั้นคุณพ่ออยู่บ้านเลี้ยงดูลูกน้อย คุณพ่อให้นมลูกน้อย แล้วไม่ได้ทำให้เรอ ปล่อยให้ลูกนอนคว่ำหน้า ลูกเล่นตามปกติ แล้วหลับไป สักพักหนึ่ง คุณพ่อเห็นว่าลูกน้อยหน้าอกไม่กระเพื่อม จึงเข้าไปดูพบว่าลูกน้อยหยุดหายใจ และตัวเริ่มเขียว จึงรีบส่งโรงพยาบาล และติดต่อญาติผู้ใหญ่ และคุณแม่
ลูกน้อยถูกส่งเข้าห้อง ICU ในเย็นวันนั้น คุณแม่นั่งอยู่ข้างๆ ลูก พร้อมพูดว่า “ถ้าลูกสู้ แม่ก็จะสู้ ถ้าลูกไม่ไหว ก็ขอให้พักผ่อนเถอะนะ”
คุณหมอแจ้งว่า สาเหตุเกิดจากการสำลักนม ซึ่งนมเข้าไปอยู่ในปอดนานเกินไป ทำให้ระบบการหายใจติดขัด เมื่อเข้าไปในห้อง ICU ทำการดูดนมออกจากปอด และต่อท่อออกซิเจนเพื่อช่วยให้หายใจได้ดีขึ้น พร้อมบอกว่าทีมหมอจะช่วยถึงที่สุด แต่ไม่รับปากว่าเด็กจะรอดหรือไม่ เพราะถ้ารอดก็อาจจะเป็นเจ้าหญิงนิทรา
หลังจากนั้นไม่นานคุณหมอก็เรียกให้คุณแม่เข้าไปดูลูกน้อยอีกครั้ง หัวใจของเขาค่อยๆ เต้นช้าลง ช้าลง และจากไปอย่างสงบ คนเป็นพ่อ เป็นแม่ใจแทบขาด ลูกน้อยต้องจากไปด้วยอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
กรณีที่ 4
คุณแม่คนหนึ่ง มีลูกน้อยวัย 3 เดือนกว่า เรื่องเกิดขึ้นตอนกลางคืน เมื่อคุณแม่พาลูกน้อยเข้านอนตั้งแต่ทุ่มกว่า ลูกน้อยหลับไปตามปกติ และตื่นขึ้นมาอีกตอน 2 ทุ่มกว่า จึงให้ลูกกินนมแม่เพราะลูกหิว กินได้นิดหน่อย แม่จึงไปชงนมเพิ่ม อยากให้ลูกกินให้อิ่มจะได้นอนยาวๆ เหมือนทุกคืน แต่ลูกไม่ยอมนอน แม่จึงพยายามยัดเยียดให้ลูกกินนม แต่ลูกอมๆ เอาไว้แล้วคายออกมา ลูกนอนเล่นไปเรื่อยๆ จนประมาณ 4 ทุ่มกว่า ก็ยังไม่ยอมนอน จึงเอาจุกหลอกให้ลูกดูด สักพักได้ยินเสียงลูกสะอึกเสียงดัง จึงลุกขึ้นมาดู พบว่านมออกมาทางจมูก มีอาการคล้ายกำลังชัก แม่จึงรีบยกลูกขึ้นมาอุ้ม และเรียกให้รู้สึกตัว พยายามเขย่า และบีบปากลูกให้เปิดออก เพราะคิดว่าลูกชัก เมื่อเปิดปากได้ เหมือนลูกจะเริ่มหายใจได้ ลูกน้อยพยายามจะร้อง แต่เหมือนมีอะไรบางอย่างติดคอ คุณแม่จึงยกลูกพาดบ่า แล้วตบลูบหลัง แล้ววางนอนลง ลูกน้อยจึงร้องไห้เสียงดัง อาการดีขึ้นและหลับไป คืนนั้นคุณแม่กลัวว่าลูกจะเป็นอะไรไป ไม่กล้านอนหลับ คอยดูลูกทั้งคืน
เช้าวันรุ่งขึ้นจึงเล่าเหตุการณ์ให้ย่าฟัง ท่านบอกว่า เป็นอาการสำลักนม ให้ระวังเพราะมีเด็กเสียชีวิตจากอาการแบบนี้มาแล้ว ตอนที่ลูกสำลัก แล้วไม่เปิดปาก ทำให้หายใจไม่ได้ เพราะนมไปอุดที่จมูก ถ้าปล่อยเอาไว้นานๆ อาจจะขาดอากาศหายใจได้ โชคดีที่คุณแม่คิดว่าลูกชัก จึงเอามือบีบปากให้เปิดออก จึงรอดมาได้
สำหรับคุณแม่ที่ลูกน้อยอาจมีอาการแบบนี้ ให้ยกลูกพาดบ่า แล้วเอามือตบลูบหลัง จะช่วยให้ลูกหายใจได้ และหลังจากกินนมในแต่ละครั้งต้องทำให้ลูกเรอทุกครั้ง คืนนั้น ถ้าคุณแม่ไม่ยัดเยียดให้ลูกกินนม เหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่คุณแม่เสียใจที่สุด และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีกเลย
กรณีที่ 5 จ.เชียงใหม่
พ.ต.ท.สมบูรณ์ ถือคุณ สารวัตรเวร สภ.สันป่าตอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ รับแจ้งความทารกเสียชีวิต คาดว่าตายผิดปกติ เพราะตามร่างกายมีรอยฟกช้ำ จึงเข้าตรวจสอบ พบว่าเป็นทารกเพศชายอายุ 1 เดือน นอนตัวซีดอยู่บนฟูกในห้องนอนชั้นล่าง มีคุณแม่อายุ 20 ปี นั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ
จากการสอบปากคำ พบว่า คลอดลูกมาได้ 1 เดือน เป็นลูกคนแรก และไม่ทราบว่าลูกตาย โดยก่อนเกิดเหตุประมาณ 3 ทุ่ม ได้ให้ลูกน้อยดูดนมแล้ววางลงบนฟูก จนกระทั่งหลับไป ประมาณตี 4 ได้ตื่นขึ้นมาเตรียมให้นมลูกอีกครั้ง เมื่อเข้าไปอุ้มลูก และปลุกให้กินนม ลูกกลับไม่ขยับเขยื้อน ตัวเย็นเฉียบ จึงเรียกให้ญาติมาดู พบว่าเสียชีวิตแล้ว สร้างความเสียใจให้ครอบครัวเป็นอย่างมาก
จากการชันสูตรพลิกศพพบว่า เด็กเสียชีวิตมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง สภาพศพปลายเท้าเขียว แต่ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย จากการตรวจร่างกาย ประกอบกับการสอบปากคำของแม่ เบื้องต้นแพทย์สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดจากการสำลักนม หรือสำลักแป้ง
เพราะหลังจากให้นมลูก คุณแม่ให้ลูกน้อยนอนทันที โดยไม่ได้อุ้มให้เรอก่อน จากการสอบถามเพิ่มเติม พบว่า เด็กมีอาการนอนกรน นอนอ้าปาก ทางแม่ให้นอนหงาย ซึ่งวิธีการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้อง
นายแพทย์สมคิด วงศ์ศิริอำนวย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันป่าตอง ฝากเตือนไปยังคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ในการเลี้ยงลูกด้วยว่า หลังจากให้นมลูกแล้วต้องให้ลูกเรอก่อนเสมอ เพื่อป้องกันการสำลักนม และถ้าพบว่าลูกน้อยมีอาการนอนกรน จะต้องให้เด็กนอนตะแคง ถ้าพบว่าเด็กมีอาการอ้าปากในขณะนอนหลับ ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา เพราะอาจเป็นไข้หวัดแทรกซ้อนได้ง่าย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “ปัจจัยเสี่ยง สังเกต ป้องกัน และรับมือลูกสำลักนม” คลิกหน้า 2
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ ลูกสำลักนม
1.เด็กมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจ หรือปอด ทำให้หายใจเร็วขึ้น และมีโอกาสในการสำลักมากกว่าเด็กทั่วไป
2.เด็กมีพัฒนาการช้า มีประวัติการชัก หรือคลอดก่อนกำหนด มีโอกาสเสี่ยงต่อการสำลักได้ง่ายขึ้น
3.วิธีการให้นม ถ้าให้นมจากเต้าโอกาสในการสำลักมีได้น้อย แต่ถ้าให้นมขวดอาจเสี่ยงสำลักได้ง่ายกว่า
4.ให้นมลูกไม่ถูกวิธี เช่น ป้อนนมขณะที่เด็กหลับ ป้อนนมขณะเด็กกำลังร้องไห้ บังคับให้ลูกกินนม
5.ปริมาณนมมากเกินไป เช่น ไม่ว่าลูกจะร้องเพราะอะไร ยัดนมให้ลูกไว้ก่อน เมื่อปริมาณนมมากก็จะสำลัก
6.การใช้จุกนมผิดขนาด ไม่เหมาะกับช่วงวัย ก็มีส่วนให้ลูกได้รับนมมากเกินไป
7.หลังจากให้ลูกกินนมแล้ว ไม่ได้ทำให้ลูกน้อยเรอออกมา โดยการอุ้มพาดบ่า แล้วตบหลัง ทำให้นมค้างอยู่
สังเกตอาการ สำลักนม ของลูกน้อย
1.ระหว่างที่กินนม แรกๆ เด็กจะไอ เหมือนขย้อนนมออกมา ถ้าสำลักมาหน้าจะเขียว มีเสียงหายใจผิดปกติ
2.ถ้ามีอาหารอื่นร่วมด้วย เด็กอาจตัวเขียว และมีผลข้างเคียง เช่นไอเรื้อรัง หายใจผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์
3.อาจเกิดการสำลักขณะที่ลูกนอนหลับ เพราะหูรูดกระเพาะอาหารค่อยๆ ผ่อนคลาย ทำให้นมไหลย้อน
4.ถ้าของเหลวเข้าไปในหลอดลม ทำให้เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้เด็กขาดออกซิเจน พิการ และเสียชีวิตได้
ป้องกันลูกน้อย สำลักนม
1.ควรให้ลูกน้อยกินนมแม่เพียงอย่างเดียวช่วง 6 เดือนแรก และให้อาหารเสริมตามวัยที่เหมาะสม
2.ของเล่นชิ้นเล็กๆ หรือแตกหักได้ ไม่ควรนำมาให้ลูกเล่น เช่น กระพรวน กระดิ่ง เหรียญ ลูกปัด
3.เด็กเล็ก 0-2 เดือน คอยังไม่แข็ง ให้ลูกนั่งตัก ใช้มือประคองศีรษะ และมืออีกข้างลูบหลังหลังกินนม
4.ถ้าลูกคอแข็งดีแล้ว อาจทำให้เรอด้วยการอุ้มพาดบ่า ใช้มือประคองหลัง ลูบขึ้นเบาๆ หลังกินนมเสร็จ
รับมืออย่างไรเมื่อ ลูกสำลักนม?
1.จับเด็กนอนตะแคง ให้ศีรษะลงต่ำ ป้องกันไม่ให้นมที่อยู่ที่ปากย้อนกลับไปที่ปอด ไม่ควรจับลูกอุ้มขึ้นมาทันที เมื่อสำลักนม
2.วิธีตบหลัง ให้จับเด็กนอนคว่ำ ศีรษะต่ำลงบนแขน ใช้ฝ่ามือตบหลัง 5 ครั้ง
3.วิธีกระแทกหน้าอก จับเด็กพลิกหงายบนตัก ศีรษะต่ำ ใช้นิ้วมือ 2 นิ้วกระแทะแรงๆ ที่กระดูกหน้าอกเหนือลิ้นปี่ 5 ครั้ง ตบหลัง และกระแทกหน้าอกสลับกันจนกว่านมจะออกมา
4.ขณะช่วยเหลือให้รีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจอาการโดยเร็วที่สุด
เครดิต: pantip.com, blogspot.com, www.thairath.co.th, http://natur.co.th
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
“เรอ” นั้นสำคัญไฉน
เออ อ อ อ… เรอแล้วสบายจัง
กรดไหลย้อน ทารกป่วยง่าย อันตรายกว่าที่คิด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save