AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูก 9 เดือน กรี๊ดเอาแต่ใจได้แล้วหรือ??

เด็ก 9 เดือน กรี๊ดเอาแต่ใจได้แล้วจริงหรือ? เป็นพัฒนาการทารกหรือเปล่า? มาดูเคสจริงจากคุณแม่กันค่ะ

Q: ลูกชายอายุ 9 เดือน ชอบส่งเสียงกรี๊ด หรือโวยวาย บางทีก็เหมือนเรียกคุณแม่แต่บางทีก็รู้สึกว่าเขาร้องกรี๊ดเพื่อเอาแต่ใจ อยากทราบว่าลูกวัยนี้เขาร้องกรี๊ดเพื่อเอาแต่ใจได้แล้วหรือคะ แล้วแม่ควรทำอย่างไรดี?

เด็ก 9 เดือน ควรเริ่มสอนให้ลูกพึ่งตัวเอง ไม่กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ

วัย 9 เดือน ลูกเริ่มรู้ได้ว่าการโวยวายเป็นอาวุธที่ดีในการนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องการจากผู้อื่น และวัยนี้ก็เป็นเวลาสำคัญในการสอนให้ลูกเรียนรู้การพึ่งพาตัวเอง รู้จักเล่นคนเดียวเป็น อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างดี การเรียนรู้ว่าคนอื่นก็มีความต้องการหรือมีหน้าที่ต้องทำนอกเหนือจากการดูแลลูก หากพ่อแม่ไม่สอนลูกในเรื่องเหล่านี้ลูกจะคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของบ้าน เป็นศูนย์กลางของสังคม กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง ดังนั้นพ่อแม่จะต้องฝึกให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ค่ะ

อ่านต่อ “ฝึกให้ลูกรู้ว่า แม่ไปแล้วเดี๋ยวก็กลับมา ทำอย่างไร” คลิกหน้า 2

เด็ก 3 เดือน เริ่มฝึกให้ลูกเรียนรู้ว่า แม่ “ไปแล้วก็กลับมา”

วัย 3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ทารกยังใหม่ต่อโลกใบนี้จึงต้องการให้มีคนอยู่ใกล้ๆ เพื่อคอยดูแลระวังคุ้มกันภัยให้
โดยเฉพาะผู้เป็นแม่ เพราะลูกจะได้ดูดนมแม่ได้เต็มที่ (อ่านต่อ ลูกเบบี๋ร้อง เข้าไปอุ้ม หรือไม่อุ้มดีนะ) แต่หลังจาก 3 เดือน ลูกจะเริ่มปรับตัวกับโลก สนใจสิ่งแวดล้อมเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น คุณแม่จึงควรฝึกให้ลูกเล่นเองคนเดียวในที่ปลอดภัยบ้าง โดยคุณแม่อาจเดินไปทำงานบ้านเป็นพักๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า ไปแล้วก็กลับมา ไม่ได้หายไปเลย ถึงแม้ว่าลูกจะร้องไห้ ร้องกรี๊ด ก็อย่าชะงัก อย่าลังเลหรือมีสีหน้าเครียด ไม่กล้าเดินไปจากลูก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกกลัวว่าการที่ไม่มีคุณแม่อยู่ด้วยเป็นเรื่องที่น่ากลัว ไม่สนุก ให้คุณแม่ทำหน้ายิ้มๆ พูดกับลูกว่า เดี๋ยวแม่มาหาลูกเล่นไปก่อนนะ บ๊ายบาย

“บอก” ลูกเป็นพักๆ ว่า “แม่อยู่ตรงนี้”

หากลูกจะร้องไห้ตลอดเวลาที่คุณแม่เดินจากไปนาน 10 นาที หรือครึ่งชั่วโมงก็ไม่เป็นไรถ้าลูกยังเห็นว่าแม่ทำอะไรอยู่บ้าง คุณแม่อาจส่งเสียงบอกลูกเป็นระยะๆ ว่ากำลังทำอะไร อาจช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้หรือกรี๊ดได้ เมื่อคุณแม่กลับมา ให้ทำสีหน้าดีใจทักทายลูกว่า เป็นยังไงบ้าง คิดถึงแม่ไหม ทำเวลาที่ได้กลับมาให้เป็นเวลาแห่งมีความสุข เช่น อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เล่นของเล่นด้วยกัน

อ่านต่อ “อย่าหายหน้าไปจากลูกเฉยๆ เพราะอะไร?” คลิกหน้า 3

อย่าแอบหนีลูก เพราะจะทำให้ลูกติดแม่

อย่าใช้วิธีแอบหนีลูกไป ตอนลูกเผลอ เพราะจะทำให้ลูกกังวลแล้วกรี๊ดมากขึ้นและคอยเฝ้าคุณแม่ไว้ กลัวจะหนีหายไปอีก การเล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนของให้ลูกเปิดหาใต้ผ้า หรือในแก้วกระดาษ จะช่วยให้ลูกเข้าใจหลักการเรื่องสิ่งต่างๆ ที่หายไปจากสายตาเดี๋ยวก็กลับมาได้อีก ถ้าลูกอยู่ในที่เดิมนานๆ อาจรู้สึกเบื่อ จึงควรเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น เอาออกจากเปลไปอยู่ในที่เล่น หรือเอาออกจากคอกกั้นไปอยู่ที่เบาะปูพื้นหรือรถเข็นบ้าง

ถ้าลูกยังร้องกรี๊ดไม่หยุดเพื่อให้คุณอุ้ม ให้เบี่ยงเบนความสนใจ เอาของเล่นมาโชว์ลูก หรือทำท่าตลกๆ ให้ลูกดู แต่อย่าอุ้มลูกขึ้นมา ต้องอดทนฟังเสียงร้องกรี๊ดของลูกบ้าง ลูกจะไม่รู้สึกแย่ กลายเป็นเด็กขี้โมโห หรือกลายเป็นเด็กขาดความอบอุ่นค่ะเพราะเรายังอยู่กับเขา และกำลังให้ความสนใจเขาอยู่

ปรับพฤติกรรมอย่างไร เมื่อลูกชอบกรี๊ด?

ลูกวัยนี้ ยังมีทักษะการสื่อสารด้วยภาษาพูดไม่ดีพอ เวลาโมโหบางคนใช้วิธีตี บางคนใช้วิธีกรีดร้องซึ่งบางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นเอง หรือเกิดจากการเลียนแบบได้ วิธีแก้ไขคือ ถ้าลูกกรี๊ดให้หันเหความสนใจลูกไปสู่กิจกรรมอื่น ทำสีหน้าเฉยๆ ลูกจะเรียนรู้ว่าการกรี๊ดไม่ได้ผลต่อพ่อแม่ ถ้ากรี๊ดเพราะแย่งของเล่น ให้เก็บของเล่นต้นเหตุ ไม่ให้เล่นต่อ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ผลที่ตามมาว่า การกรี๊ดไม่ได้ช่วยให้ได้ของเล่น และเมื่อใดที่ลูกไม่กรี๊ด มีพฤติกรรมที่ดี ไม่ก้าวร้าว ให้รีบชมเชยทันที เป็นการให้แรงเสริมในทางบวกกับพฤติกรรมที่ดี เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ลูกไม่เป็นเด็กช่างกรี๊ดอีกต่อไปค่ะ

 

เรื่อง : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ : Shutterstock