AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ไขข้อข้องใจ ลูกทารก “ขาโก่ง” ผิดปกติไหม?

Q: ลูกอายุ 6 เดือนกว่า ถ้าหากดิฉันจะเริ่มประคองให้เขาเดินจะเร็วไปหรือไม่ และจะมีปัญหา ลูกขาโก่ง หรือเปล่าคะ เวลาอุ้มเขา ดิฉันใช้วิธีช้อนใต้วงแขนทั้งสองข้างแล้วยกขึ้น เป็นวิธีที่ถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง ดิฉันควรใช้วิธีไหนแทนดี

ไขข้อข้องใจ  ลูกขาโก่ง ผิดปกติไหม?

การจับให้เด็กอายุ 6 เดือนทำท่าเหมือนก้าวเดิน ไม่ได้ช่วยให้พัฒนาการเดินของลูกเร็วขึ้นแต่อย่างใด แต่หากเป็นการทำเพื่อให้ลูกรู้สึกสนุก ก็ไม่ได้เป็นผลเสียต่อกระดูกขาของลูก สามารถทำได้ค่ะ แต่หยุดทำเมื่อลูกไม่อยากทำ โดยแสดงอาการร้องไห้หรือต่อต้าน หรือคุณเริ่มรู้สึกเมื่อยหลังจากการก้มหลังนานๆ

ส่วนเรื่องของขาโก่งนั้น ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่พบลักษณะขาโก่ง (bowleg) ส่วนใหญ่เป็นภาวะปกติ ไม่ต้องการการรักษา มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่ผิดปกติเนื่องจากเป็นโรคกระดูก เช่น ขาดวิตามินซี วิตามินดี หรือเป็นโรคพันธุกรรมที่พบได้ยาก ซึ่งหากเป็นความผิดปกติจริง เด็กต้องมีอาการผิดปกติของแขนหรือกระดูกส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย หรือเป็นการโก่งที่มีการบิดของปลายเท้าชี้เข้าด้านใน (In Toeing) หรือพบขาโก่งร่วมกับตัวเตี้ยผิดปกติ ความผิดปกติเหล่านี้ต้องรักษาโดยวิธีผ่าตัดแก้ไขรูปทรง หรือการตัดรองเท้าพิเศษโดยศัลยแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางสำหรับเด็ก

อ่านต่อ “ลูกขาโก่งเกิดจากอะไร” คลิกหน้า 2

ทำไม “ลูกจึงขาโก่ง”?

ภาวะโก่งแบบปกติที่พบในเด็กแรกเกิดทุกคนเกิดจากการที่เขาอยู่ในท้องแม่ซึ่งเป็นที่แคบๆ จึงต้องงอแขนงอขาให้มากที่สุด ทำให้กล้ามเนื้อบางมัด เส้นเอ็นบางเส้น ตึงมากกว่าอีกด้านหนึ่ง ลักษณะของกระดูกจึงไม่ตรง แต่เมื่อคลอดออกมาแล้ว แขนขาจะเหยียดออกมากขึ้น กระดูกจะดูตรงมากขึ้นเองเมื่ออายุ 2 ขวบ หากบางคนยังอาจดูโค้งเหมือนโก่งนิดๆ จนโต อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน เป็นลักษณะกรรมพันธุ์ ไม่ต้องรักษา เนื่องจากไม่ส่งผลทำให้การเดิน การวิ่งผิดปกติ

วิธีตรวจดูว่าขาโก่งมากผิดปกติหรือไม่ ทำโดยจับขาให้เหยียดตรง โดยให้ตาตุ่มด้านในอยู่ชิดกันมากที่สุด แล้วสังเกตว่าด้านในของข้อเข่าอยู่ห่างกันกี่เซนติเมตร ปกติจะไม่เกิน 5 เซนติเมตร หากไม่แน่ใจควรปรึกษากุมารแพทย์หรือศัลยแพทย์โรคกระดูกเฉพาะทางสำหรับเด็ก

ซ้าย – ขาปกติ, ขวา – ขาโก่ง

(รูปภาพจาก www.childrenshospital.org)

ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาวะ “ขาโก่ง”

  1. การดัดขาหลังอาบน้ำจะช่วยให้ขาตรงมากขึ้น ไม่จริง และไม่ควรทำ เพราะอาจทำให้ลูกเจ็บ
  2. การใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะทำให้ขาโก่งมากขึ้น ไม่จริง ที่จริงแล้วยังใช้เป็นการรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อนได้ด้วย
  3. การอุ้มเข้าสะเอวจะทำให้ขาโก่งมากขึ้น ไม่จริง และเช่นเดียวกับการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป หมอแนะนำให้ทำเพื่อเป็นการรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อน

การอุ้มลูกโดยการช้อนใต้วงแขนลูกทั้งสองข้างแล้วยกขึ้นมาเป็นการอุ้มที่ถูกต้องแล้วค่ะ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ท่าที่อันตรายคือการจับส่วนอื่นๆ ของแขน เพราะอาจทำให้ข้อศอกหรือข้อไหล่เคลื่อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการจับเพียงแขนเดียว


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

ภาพ: Shutterstock