ลูกมีไข้ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ใช้ยาตัวไหน และต้องมีอาการแบบไหนถึงควรพาลูกส่งโรงพยาบาล ที่นี่มีคำตอบ!
ลูกมีไข้ เมื่อไร ทำเอาพ่อแม่อย่างเราเครียด กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทำอะไรไม่ถูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่มือใหม่ที่อาจจะยังไม่เคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาก่อน อาจจะยังไม่รู้ว่าเวลา ลูกมีไข้ ไม่สบายแล้วไข้สูงนั้นควรที่จะต้องทำอย่างไร เช็ดตัวแบบไหน แล้วอาการแบบไหนที่ควรนำพาลูกส่งโรงพยาบาล ซื้อยาทานเองได้หรือไม่ ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้รวบรวมข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ให้หมดแล้วละค่ะ แต่ก่อนที่จะไปดูนั้นเรามาทำความรู้จักกับ “ไข้” กันก่อนดีกว่านะคะ
ไข้ หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายขึ้นสูงผิดปกติ โดยค่าปกติของอุณหภูมิที่วัดทางทวารคือ 36.6 – 38 องศาเซลเซียส วัดทางปาก 35.5 – 37.5 องศาเซลเซียส วัดทางรักแร้ 34.7 – 37.3 องศาเซลเซียส และวัดทางหู 35.8 – 38.0 องศาเซลเซียส
ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปรสิต แต่ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีกหลายอย่างด้วยเช่นกันนะคะ ไม่ว่าจะเป็น อากาศที่ร้อนมาก ๆ หรือสวมเสื้อหลายชั้นเกินไป การแพ้ยา เนื้องอกในสมองกดเบียดส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายจนทำงานผิดปกติ โรคไทรอยด์เป็นพิษ และฟันขึ้น เป็นต้น
วัดไข้วัดแบบไหนถึงจะดี
วิธีการวัดไข้ ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับมี 4 วิธี คือ ทางปาก (เฉพาะเด็กโตที่ร่วมมือโดยการอมไว้ใต้ลิ้น ในเด็กเล็กทำไม่ได้เพราะอาจเสี่ยงกับการกัดปรอทแตก) ทางทวาร (ในเด็กเล็ก) ทางรักแร้ และทางหู
ส่วนปรอทนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
- แบบปรอท ราคาถูก แต่ใช้เวลานานในการวัด เนื่องจากเป็นแก้วอาจจะต้องระมัดระวังการแตกหักได้
- แบบดิจิทัล ใช้เวลาวัด 10 – 60 วินาที แต่มีราคาแพงกว่า และต้องคอยเช็คและระวังเรื่องแบตเตอรี่ค่ะ หากแบตใกล้หมดความแม่นยำก็อาจจะลดน้อยลงไปด้วย
- แบบวัดทางหู มีราคาแพงที่สุด ใช้ในเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป เด็กเล็กกว่านี้ไม่ใช้เพราะรูหูเล็กเกินไป ใช้เวลาเพียง 1 – 3 วินาที แต่ถ้ามีขี้หูอุดตันจะไม่แม่นยำ
- แบบแปะหน้าผาก อันนี้ก็สามารถวัดได้ค่ะ แต่ก็อาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้บ้างเช่นกัน
หากคุณพ่อคุณแม่วัดไข้แล้วพบว่า ลูกมีไข้ จริงละก็ แนะนำให้เริ่มต้นทำให้ลูกไข้ลดก่อนเลยค่ะ ซึ่งเป้าหมายของการลดไข้ คือ ช่วยให้ลูกสบายตัวขึ้น ลดอาการปวดหัว ปวดตัว งอแงน้อยลง นอนหลับพักผ่อนได้ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะชักจากไข้สูงในรายที่มีความเสี่ยง โดยวิธีลดไข้ที่ว่านี้ ก็มีหลากหลายวิธีด้วยกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
วิธีลดไข้ทำได้ดังนี้
1.ใช้ยาลดไข้ ซึ่งมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ
- พาราเซตามอล (Paracetamol)
- วิธีการรับประทานก็คือ ขนาดยา 10 – 20 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / ครั้ง โดยรับประทานทุก 4 – 6 ชั่วโมง ไม่มีฤทธิ์กัดกระเพาะจึงกินได้ขณะท้องว่าง การกินยามากเกินไปอาจจะส่งผลเป็นพิษต่อตับได้
- ส่วนคำแนะนำที่เตือนว่า ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องเกิน 5 วัน ทั้งนี้เปรียบเสมือเป็นการเตือนให้คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังแล้วว่า ลูกเป็นนานมากเกินไป ควรรีบพาไปพบหมอเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะการกินยาลดไข้เป็นเพียงการบรรเทาอาการไข้เท่านั้น ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ หากได้รับการตรวจจากหมอจนทราบสาเหตุของไข้แล้ว คุณหมอจะเป็นคนวินิจฉัยต่อเองว่าควรใช้ยาลดไข้ต่อไปหรือไม่
- ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือยาลดไข้สูง ใช้ได้ในเด็ก 6 เดือนขึ้นไป
- วิธีการรับประทานก็คือขนาดยา 5 – 10 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม / ครั้ง รับประทานทุก 6 ชั่วโมง
- หากให้ยาพาราเซตามอลแล้วไข้ไม่ลด อาจเสริมยาชนิดนี้ได้ในระหว่างมื้อยาของพาราเซตามอล ในกรณีที่ยังไม่ครบ 4 ชั่วโมงจากการให้ยาครั้งสุดท้าย ทั้งนี้ยามีฤทธิ์กัดกระเพาะอาหาร จึงห้ามกินขณะท้องว่างนอกจากนี้ยายังส่งผลให้เลือดออกง่าย และห้ามกินในรายที่มีปัญหาเลือดออกง่าย เช่น ไข้เลือดออก เป็นต้น
- แอสไพริน (Aspirin) ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า12 ปี เพราะอาจเกิด Reye Syndrome ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่หรือโรคอีสุกอีใส ซึ่งภาวะ Reye Syndrome เป็นภาวะที่อันตรายมาก เนื่องจากอาจทำให้เสียชีวิตจากการที่ตับและสมองทำงานผิดปกติอย่างรุนแรง และทำให้มีเลือดออกง่ายเหมือนยาไอบูโปรเฟนได้
หมายเหตุ: การซื้อยามาให้ลูกรับประทานเอง อาจจะถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสทราบเลยว่าที่ ลูกมีไข้ ไม่สบายอยู่ตอนนี้นั้น เป็นโรคอะไรแน่ หากซื้อยาไป แล้วยิ่งไปส่งกระทบกับร่างกายละก็ อาจจะทำให้อาการของลูกยิ่งแย่มากขึ้นไปอีกได้ค่ะ
2.การปรับอุณหภูมิห้อง ควรปรับให้พอเย็นสบาย และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ แต่หากเปิด ก็ไม่ควรให้เย็นจนหนาวสั่น ใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนออกได้ง่ายไม่ห่มผ้าหนา ๆ นะคะ เพราะหากห่มผ้าหนาเกินไปแล้วทำให้เหงื่อยิ่งออก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงได้ว่า ลูกอาจจะยิ่งมีไข้สูงมากขึ้นจนเกิดอาการชักได้ ที่สำคัญให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะเวลาที่ร่างกายขาดน้ำจะยิ่งส่งผลทำให้ไข้สูงมากขึ้น
3. การเช็ดตัว ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นเล็กน้อย ห้ามใช้น้ำเย็นหรือแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้เส้นเลือดฝอยที่ผิวหนังหดตัว ระบายความร้อนออกไม่ได้ มีอาการหนาวสั่นและไข้สูงมากขึ้น
- เวลาเช็ดตัวให้คุณพ่อคุณแม่ถอดเสื้อผ้าลูกออกให้หมด แล้วคลุมส่วนที่ยังไม่ได้เช็ดด้วยผ้าห่มบาง ๆ เปิดเช็ดทีละส่วนโดยเช็ดย้อนทิศทางการไหลของเลือด เน้นซอกคอใบหน้า ท้อง ข้อพับแขน หลังเข่า และวางผ้าชุบน้ำตามซอกแขน ขาหนีบ จะช่วยดึงความร้อนออกจากเส้นเลือดได้มาก ไม่ควรถูแรง ๆ เพราะจะทำให้ลูกเจ็บได้
- กรณีไม่ยอมให้เช็ดตัว แต่ไข้สูงมาก ให้ยาแล้วยังไม่ลดลง ให้พาอาบน้ำได้ โดยให้นั่งในอ่างเปิดฝักบัวเบา ๆ ราดน้ำอุ่นเล็กน้อยไปตามตัว แล้วรีบเช็ดตัวให้แห้ง
- ควรปิดแอร์และพัดลมขณะเช็ดตัว
หมายเหตุ: การวางผ้าเย็นหรือเจลลดความร้อนบริเวณหน้าผากไม่ได้ช่วยให้ไข้ลดลงมาก เนื่องจากเจลช่วยดูดซับความร้อนเฉพาะตำแหน่งที่วางเจลหรือผ้าเย็น ไม่สามารถดึงความร้อนทั้งหมดออกจากร่างกาย แต่มีประโยชน์ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไข้ได้
เวลา ลูกมีไข้ จะรู้ได้อย่างไรว่า อาการแบบไหนถึงควรพาลูกไปหาหมอนั้น คุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้ให้คำแนะนำไว้ ว่า เมื่อไรก็ตามที่ ลูกมีไข้ และมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นร่วมด้วย อย่ารอช้า ให้รีบนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลโดยทันที
15 อาการอันตรายยาม ลูกมึไข้
- หากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่มีไข้ และเป็นเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน อย่าชะล่าใจนะคะ เนื่องจากลูกยังเล็ก อาจจะทำให้สังเกตอาการได้ยาก การพาลูกไปหาหมอ เพื่อเข้ารับการตรวจนั้นดีที่สุดเลยละค่ะ เพราะถ้าหากคุณหมอวินิจฉัยแล้วว่า ลูกมีไข้ หรือไม่สบายเนื่องจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสตัวใด รู้ทัน โอกาสที่ลูกจะหายไวและปลอดภัยก็มีมากขึ้น
- ลูกมีไข้ สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นหนึ่งในอาการน่าเป็นห่วง เพราะนั่นหมายถึงโอกาสที่จะทำให้ลูกชัก หรือลูกอาจเป็นโรคร้ายแรงได้
- ลูกกินอาหาร หรือนมได้น้อยกว่าปกติ
- ลูกมีอาการอาเจียน และถ่ายเหลว
- มีไข้นานกว่า 24 ชั่วโมงในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบ หรือนานกว่า 72 ชั่วโมงในเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบ
- ร้องไห้ต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง
- กระสับกระส่าย ซึมมาก ปลุกไม่ตื่น
- มีผื่นสีม่วงหรือแดงเป็นจุด หรือมีจ้ำเลือดขึ้นตามตัว
- ริมฝีปาก ลิ้น เล็บ มีสีคล้ำซึ่งแสดงถึงภาวะระบบไหลเวียนหรือการหายใจล้มเหลว
- กระหม่อมโป่ง หรือยุบผิดปกติ ซึ่งแสดงถึงการติดเชื้อที่สมองหรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง
- คอแข็ง หรือปวดศีรษะมาก อาจเป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- ขาอ่อนแรง อาจเป็นอาการของโปลิโอ
- ลูกเริ่มหายใจลำบาก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกกำลังมีปัญหาด้านการหายใจ
- ต้องนั่งโน้มตัวไปด้านหน้าและมีน้ำลายไหลตลอดเวลา อาจเป็นอาการของโรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
- มีอาการชัก เพื่อหาสาเหตุและป้องกันไม่ให้ชักรุนแรงจนสมองบวม
ขอบคุณที่มา: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
อ่านต่อบทความอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่