โรค เท้าปุก เท้าแป เป็นความผิดปกติของเท้าที่เป็นตั้งแต่กำเนิดประเภทหนึ่ง ที่หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้เด็กได้รับความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน และนำมาซึ่งความพิการที่ทุกข์ทรมานได้
ลูกเท้าบิดผิดรูปเรียก “เท้าปุก เท้าแป” คืออะไร รักษาได้หรือไม่
เท้าปุก เท้าแป มีลักษณะอย่างไร?
โรคเท้าปุก ทารกจะมีลักษณะที่ข้อเท้าจิกลงข้างล่าง บิดเข้าข้างใน หรือฝ่าเท้าหงายขึ้น ทำให้มีรูปร่างเหมือนไม้กอล์ฟ อาจจะเป็นข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้
โรคเท้าแป เป็นภาวะผิดปกติที่ลักษณะของเท้าที่ไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า เมื่อลุกขึ้นยืน ฝ่าเท้าจะราบแนบไปกับพื้นทั้งหมด ตรงกลางฝ่าเท้าที่โค้งขึ้นมานั้นคืออุ้งเท้า (Arch) ซึ่งทอดไปตามแนวยาวและแนวขวางของฝ่าเท้า อุ้งเท้าเกิดจากการยึดกันระหว่างเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกเท้า โดยเส้นเอ็นที่เท้าเองและเส้นเอ็นส่วนที่ต่อจากขาส่วนล่างจะยึดกระดูกตรงกลางเท้าเข้ากับส้นเท้า ทำให้กลางฝ่าเท้าโค้งเข้ามาและไม่ราบไปกับพื้น หรือเรียกอีกอย่างว่า เท้าแบน นั่นเอง แต่เด็กที่เป็นเท้าแปจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเด็กปกติ สามารถวิ่งเล่น ทำกิจกรรม ได้ตามปกติ แต่ก็มีข้อด้อยคือ เมื่อเล่นกีฬาหรือเดินเป็นระยะเวลานาน อาจจะเกิดอาการเมื่อยบริเวณข้อเท้าและหน้าแข้งง่ายกว่าเด็กทั่วไป
อ่านต่อ เท้าปุก เท้าแป เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร?
โรค เท้าปุก เกิดจากอะไร?
โรคเท้าปุกเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กตั้งแต่กำเนิด โดยมีหลายๆ สาเหตุรวมกัน เช่น สิ่งแวดล้อมในครรภ์ของแม่ที่ส่งผลต่อท่าของเท้าขณะที่ลูกอยู่ในท้อง, มีญาติ หรือพ่อแม่เคยมีลูกเป็นเท้าปุกมาก่อน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกรรมพันธุ์, กระดูกเท้าถูกสร้างมาผิดรูป, กล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนไหวไม่สมดุล
โรคเท้าปุกมีอาการอย่างไร?
โรคเท้าปุก เป็นความผิดรูปของเท้าที่เป็นตั้งแต่กำเนิด มีรูปเท้าที่บิดเบี้ยวจนดูเหมือนไม้ตีกอล์ฟ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเด็กจะเดินด้วยหลังเท้า มีขาลีบ และยาวไม่เท่ากัน ปวดเท้า ใส่รองเท้าไม่ได้ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนอย่างคนอื่นๆ นำมาซึ่งความพิการที่ทุกข์ทรมาน และเป็นปมด้อยกับเด็กไปตลอดชีวิต
โรคเท้าปุกแท้หรือเทียมสังเกตอย่างไร?
1.เท้าปุกเทียม คือ ไม่มีความผิดปกติที่แท้จริงกับโครงสร้างเท้า แต่รูปเท้าบิดเกิดจากเด็กขดตัวแน่นอยู่ในครรภ์ เท้าถูกกดอยู่ในท่าบิดเข้าด้านในเป็นเวลานาน อาจทำให้เอ็นเท้าด้านในตึง ในขณะที่เอ็นเท้าด้านนอกหย่อน เท้าปุกชนิดนี้พบได้บ่อยในทารก
2.เท้าปุกแท้ คือ เท้าแข็ง ถ้าไม่ได้รับการรักษา เท้าจะบิดแข็ง มากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อเด็กโตขึ้นจะใช้หลังเท้าเป็นจุดรับน้ำหนักเวลาเดิน ซึ่งทำให้เดินลำบาก ทรงตัวยาก เจ็บปวดได้บ่อย ใส่รองเท้าทั่วไปไม่ได้
อ่านต่อ โรคเท้าแป เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไร
โรค เท้าแป เกิดจากอะไร?
โรคเท้าแป เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อเยื่อและกระดูกของฝ่าเท้าและขาส่วนล่าง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเท้าแบนเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่เกิด หรือกระดูกเท้ายังเจริญไม่เต็มที่เมื่ออยู่ในครรภ์ รวมทั้งได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยโรคเท้าแปแต่กำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- เท้าแบนแบบนิ่ม (Flexible Flat Foot) ภาวะเท้าแบนลักษณะนี้จัดเป็นภาวะเท้าแบนที่พบได้มากที่สุด พบตอนเป็นเด็ก เมื่อยืน ฝ่าเท้าจะราบไปกับพื้นทั้งหมด แต่เมื่อยกเท้าขึ้นมาจะเห็นช่องโค้งของฝ่าเท้า เท้าแบนแบบนิ่มไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
- เท้าแบนแบบแข็ง (Rigid Flat Foot) เท้าแบนลักษณะนี้พบได้น้อย โดยตรงอุ้งเท้าจะโค้งนูนออก เท้าผิดรูป แข็ง และเท้ามีลักษณะหมุนจากข้างนอกเข้าด้านในเสมอ (Pronation) ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดหากต้องยืนหรือเดินมากเกินไป รวมทั้งมีปัญหาเกี่ยวกับการสวมรองเท้า
โรคเท้าแป มีอาการอย่างไร?
ในเด็กแรกเกิด จะสังเกตอาการได้ยาก เพราะเท้าของเด็กเล็กส่วนใหญ่จะยังมองไม่เห็นอุ้งเท้าที่ชัดเจนจนกว่าจะอายุ 5 ขวบ ทำให้การรักษามักจะเป็นการรักษาในเด็กที่โตแล้ว อย่างไรก็ตาม ในเด็กบางคนอาจรู้สึกเจ็บเท้า โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้าหรืออุ้งเท้า อาการเจ็บนั้นจะยิ่งแย่ลงเมื่อต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเกิดอาการบวมที่ข้อเท้าด้านในร่วมด้วย โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่เป็นโรคเท้าแป ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หากไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์
- รู้สึกเจ็บฝ่าเท้าแม้จะสวมรองเท้าที่ใส่สบายและรองรับเท้าแล้ว
- รู้สึกเจ็บที่อุ้งเท้าและส้นเท้า
- ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น
- ยืนไม่ค่อยได้ หรือเคลื่อนไหวทรงตัวบนเท้าลำบาก
- เจ็บหลังและขา
- รองเท้าที่เคยสวมได้ ไม่สามารถสวมได้ และชำรุดเร็วเกินไป
- เท้าแบนมากยิ่งขึ้น
- ฝ่าเท้าอ่อนแรง รู้สึกชา หรือเกิดอาการฝ่าเท้าแข็ง
อ่านต่อ “วิธีการรักษา เท้าปุก เท้าแป และรักษาแล้วจะเป็นปกติหรือไม่”
วิธีการรักษา โรคเท้าปุก
เท้าปุกสามารถรักษาให้หายได้ ยิ่งทำการักษาเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งดี โดยสามารถรักษาได้ทั้งเท้าปุกเทียม และเท้าปุกแท้ มีวิธีการดังนี้
1.เท้าปุกเทียม การดัดหรือกระตุ้นให้เส้นเอ็นมีการปรับความตึงให้สมดุล สามารถทำให้เท้ามีการเคลื่อนไหวเป็นปกติได้ หรืออาจทำการดัดเท้าและใส่เฝือกยาวตั้งแต่ปลายเท้าถึงต้นขา ประมาณ 2 – 3 ครั้ง จนเท้าอยู่ในรูปร่างปกติ มักจะหายภายในสามเดือน
2.เท้าปุกแท้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่เป็นทารก ผลการรักษามักอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถทำให้เดินได้เหมือนเด็กปกติ โดยแพทย์จะทำการดัดเท้าและใส่เฝือกยาวตั้งแต่ปลายเท้าถึงต้นขาตั้งแต่ในช่วง 1 – 2 สัปดาห์แรก รูปร่างของเท้าจะค่อยๆ ดีขึ้นจนเกือบปกติ แต่ข้อเท้ามักจะยังกระดกขึ้นได้ไม่สุดเหมือนปกติ แพทย์จะทำการตัดเอ็นร้อยหวาย และใส่เฝือกยาวต่ออีก 3 สัปดาห์ ผลการรักษาขึ้นอยู่กับความแข็งของเท้าปุก
โรคเท้าปุก รักษาแล้วจะเป็นปกติหรือไม่
ในปัจจุบันโรคนี้ สามารถรักษาให้หายจนปกติ หรือเกือบปกติได้โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่เลย ขอเพียงแต่ ได้รับการรักษากับแพทย์ที่ได้ฝึกฝนการดัดและเข้าเฝือกอย่างชำนาญเท่านั้น การรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่ที่เคยเป็นที่นิยมในอดีตได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ถ้าแพทย์ที่รักษาลูกแนะนำให้ผ่าตัดใหญ่ โปรดปรึกษาแพทย์ที่สามารถรักษาด้วยการดัดและเข้าเฝือกที่ชำนาญการณ์เสียก่อน
สามารถเข้าไปดูประสบการณ์การรักษาโรคเท้าปุกของคุณพ่อ คุณแม่ที่มีประสบการณ์ได้ที่นี่ facebook.com/บันทึกเท้าปุก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “วิธีการรักษา เท้าปุก เท้าแป และรักษาแล้วจะเป็นปกติหรือไม่”
วิธีการรักษา โรคเท้าแป
โรคเท้าแป ไม่จำเป็นต้องรักษาหากไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดใด ๆ แต่หากลูกรู้สึกเจ็บปวดหรือทรมานจากภาวะดังกล่าว ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งวิธีรักษาภาวะเท้าแปขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการ ดังต่อไปนี้
- วิธีบำบัดทางกายภาพ
- ใส่อุปกรณ์เสริมที่เท้า (Orthotic) การสวมอุปกรณ์เสริมนับเป็นขั้นแรกของการรักษาภาวะเท้าแป โดยอุปกรณ์เสริมจะบรรเทาอาการเจ็บเท้าและช่วยหนุนเท้า โดยเด็กเล็กจะได้รับรองเท้าที่ออกแบบมาโดยเฉพาะจากแพทย์ เพื่อสวมใส่จนกว่าฝ่าเท้าจะเจริญเต็มที่
- ออกกำลังยืดเส้น สำหรับเด็กที่เป็นโรคเท้าแป จากเอ็นร้อยหวายสั้นเกินไปอาจต้องออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันของขาส่วนล่าง โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยแนะนำการออกกำลังกาย ท่าออกกำลังกายยืดเอ็นร้อนหวายเริ่มจากโน้มตัวไปข้างหน้ายันผนังไว้ ก้าวขาข้างหนึ่งมาด้านหน้างอเข่า ส่วนขาที่อยู่ข้างหลังยืดตรงและลงน้ำหนักที่ส้นเท้า ทำค้างไว้ 15-30 วินาที ระหว่างที่ทำท่านี้ ควรให้ส้นเท้าราบไปกับพื้นทั้งหมด ปลายนิ้วเท้าของขาหลังอยู่ในทิศทางเดียวกับส้นเท้าของขาที่อยู่ด้านหน้า
- สวมรองเท้าที่รับกับเท้า การสวมรองเท้าที่พอดีและรับกับรูปเท้าจะทำให้รู้สึกสบายเท้ามากกว่าการสวมรองเท้าแตะหรือรองเท้าที่รองรับเท้าของผู้สวมได้น้อย
- ทำกายภาพบำบัด เด็กที่เท้าแปอาจได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งมากขึ้น นักกายภาพบำบัดจะช่วยวิเคราะห์ลักษณะการวิ่ง เพื่อช่วยปรับลักษณะและเทคนิคการวิ่งให้ดีขึ้น
- การรักษาด้วยยา สำหรับเด็กที่เกิดอาการเจ็บเท้าเรื้อรังและเท้าอักเสบ จะได้รับยาต้านอักเสบเพื่อบรรเทาอาการปวดบวม
- การผ่าตัด หากการรักษาภาวะเท้าแปวิธีอื่น ๆ ไม่ช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลงได้ หรือสาเหตุของภาวะดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะผ่าตัดให้ แต่วิธีผ่าตัดจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น ผู้ป่วยเท้าแบนที่มีรูปกระดูกผิดปกติหรือติดกัน จำเป็นต้องผ่าตัดแยกกระดูกและยืดให้ตรง ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันจะได้รับการผ่าตัดรักษาเนื้อเยื่อที่เกิดปัญหา หรือผู้ที่เอ็นร้อยหวายสั้นเกินไป อาจได้รับการผ่าตัดเพื่อยืดเอ็นและลดอาการเจ็บปวดที่เท้า
โรค เท้าปุก เท้าแป สามารถรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการดูแลตั้งแต่เล็ก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรคอยสังเกตว่าลูกมีอาการ เท้าปุก เท้าแป หรือไม่ หากสงสัยว่าอาจจะเป็น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
อ่านบทความดี ๆ เพิ่มเติม คลิก
พ่อแม่ควรระวัง! 5 โรคที่มาพร้อมจูบ
โรคเด็ก ที่พบบ่อย โรคในเด็ก ยอดฮิต พ่อแม่ต้องระวัง
นี่คือพัฒนาการ ความจำ ของลูกทารกตั้งแต่แรกเกิด – 1 ขวบ
เครดิต: นาวาอากาศเอก นายแพทย์อำนวย จิระสิริกุล กองออร์โธปิดิกส์ รพ. ภูมิพลอดุลยเดช พอ.บนอ., พ.ญ.ปาริชาต เทียบรัตน์ ศัลยแพทย์โรคกระดูกและข้อ (เฉพาะทางโรคกระดูกในเด็ก) โรงพยาบาลเวชธานี, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาศัลศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ มหาวิทยาลัยแห่งไอโอว่า เมืองไอโอว่าซิตี้, พบแพทย์
Save
Save
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่