ความเจ็บป่วยเกิดขึ้นได้กับลูกๆ ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะรู้และสังเกตเห็นอาการที่เกิดขึ้นกับลูกได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะอาการเจ็บป่วยที่เรียกว่า มะเร็งจอตา สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กเล็ก ทีมงาน Amarin Baby & Kids อยากให้ผู้ปกครองได้รู้เท่าทันกับโรคมะเร็งจอตา เพราะหากรู้ก่อน รักษาได้ทันเวลา ลูกก็ไม่ต้องเสียดวงตาในการมองเห็นค่ะ
มะเร็งจอตา โรคฮิตอันดับ 3 ในเด็ก!!
มะเร็งจอตา พบมากเป็นอันดับที่ 3 รองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวและเนื้องอกในสมอง หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตดีๆ จะพบว่าลูกมีดวงตาวาวคล้ายตาแมว หรือเพียงใช้สมาร์ทโฟนเปิดแฟลช และถ่ายดวงตาของลูกในระยะใกล้ ก็สามารถเช็กได้แล้วว่าลูกมีอาการเป็นมะเร็งจอตาหรือไม่ อย่างเช่นคุณแม่ท่านนี้ ที่พบความผิดปกติในดวงตาของลูกโดยบังเอิญ
ทีน่า ทรีดเวลล์ คุณแม่ชาวอังกฤษที่ฝันอยากเห็น ลูกชายตัวน้อยของเธอได้มีผลงานถ่ายแบบ จึงตัดสินใจจับลูกน้อยมาแต่งตัวหล่อ และถ่ายภาพลูกเพื่อเตรียมส่งให้กับทางโมเดลลิง แต่แล้วเรื่องไม่คาดคิดของคนเป็นแม่ก็เกิดขึ้น เมื่อเธอสังเกตพบบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นในรูปที่เธอถ่าย แล้วพบว่าลูกเป็น “มะเร็งจอตา”
ดวงตาข้างขวาของเทย์เลอร์นั้นเหมือนมีการสะท้อนของแสงแฟลช และเมื่อเธอมองดูใกล้ๆ ถึงรู้ว่าไม่ใช่!!ตาขวาของเทย์เลอร์นั้นมีลักษณะตาวาว มีสีขาวๆ อยู่ตรงกลางตาดำ เธอจึงรีบพาลูกไปหาจักษุแพทย์ และผลตรวจทำให้เธอถึงกับช็อก เมื่อแพทย์บอกว่า เทย์เลอร์เป็น “โรคมะเร็งจอตาในเด็ก” โดยแพทย์ตรวจพบมีก้อนเนื้อเล็กๆ สีขาวที่ตาข้างซ้าย และก้อนเนื้อสีขาวขนาดใหญ่กว่าที่ตาข้างขวา
Must Read >> สัญญาณเตือนโรคมะเร็งในเด็กที่พ่อแม่ควรรู้
เทย์เลอร์ต้องเข้ารับการรักษามะเร็งจอตา ด้วยการทำคีโม หรือเคมีบำบัด เป็นเวลานานสี่เดือนที่โรงพยาบาลเกรท ออร์มอน สตรีท แต่น่าเศร้า ที่มะเร็งก้อนใหญ่ได้ทำลายจอประสาทจนทำให้ตาข้างขวาบอด
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ>> โรคมะเร็งจอตาคืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร คลิกหน้า 2
โรคมะเร็งจอตาคืออะไร?
โรคนี้คือ โรค/ภาวะ ตาวาว หรือ ลิวโคโคเรีย (Leukocoria) ได้แก่ โรคที่ทำให้การสะท้อนแสงภายในลูกตาผิดปกติ จึงเห็นเป็นตาวาวขึ้นโดยเฉพาะในที่มืด โดยชื่อโรคมาจากคำว่า Leuko แปลว่า สีขาว Coria แปลว่า รูม่านตา เมื่อสองคำรวมกันจึงหมายความว่า ภาวะเป็นสีขาวบริเวณรูม่านตา ซึ่งลักษณะที่เห็นจะเหมือนดวงตาของแมวเวลาค่ำคืน ที่ฝรั่งเรียกว่า Amaurotic cat eye (อะเมาโรติก แคท อาย หรือ ตาแมวตอนกลางคืน) เห็นเงาสะท้อนดูเป็นแสงแวววาวออกจากรูม่านตาบริเวณกลางตาดำ อาจจะมองเห็นเพียงจากด้านใดด้านหนึ่งหรือทุกทิศทาง อาจเป็นตลอดเวลาหรือเห็นเป็นบางครั้งก็ได้
จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีเด็กป่วยมะเร็งจอตา 8,000 รายต่อปี ส่วนประเทศไทยพบประมาณ 40 รายต่อปี โรคตาวาวเป็นโรคมักเกิดในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี พบได้ในเด็กเกิดใหม่ 1 ต่อ 18,000 – 20,000 เด็กหญิงและเด็กชายพบได้ใกล้เคียงกัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะเสียชีวิตภายใน 1-2 ปี หลังอายุ 7 ปี ไปแล้วจะพบน้อยมาก
สาเหตุของโรคมะเร็งจอตา
สาเหตุของโรคเกิดได้ทั้งจากพันธุกรรม ความผิดปกติในการแบ่งตัวของเซลล์จอตา และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยพบว่าหากครอบครัวมีประวัติ เด็กก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ โรคมะเร็งจอตาร้อยละ 40 จะเป็นทั้งสองข้าง ประเภทนี้มักเกิดจากพันธุกรรม และร้อยละ 60 จะเป็นเพียงข้างเดียว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สูตรหาความเสี่ยงสำหรับพ่อแม่ในการพิจารณามีบุตรคนต่อไป
เนื่องจากมะเร็งจอตามีทั้งชนิดที่เป็นกรรมพันธุ์ และชนิดที่ไม่ได้เป็นกรรมพันธุ์ จึงได้มีผู้พยายามศึกษาถึงแนวโน้มการถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานของมะเร็งชนิดนี้ และพบว่า
- พ่อแม่ปกติ มีบุตรเป็นมะเร็งจอตา 1 คน โอกาสที่บุตรคนต่อไปจะเป็น = 6%
- พ่อแม่ปกติ มีบุตรเป็นมะเร็งจอตา 2 คน บุตรคนต่อไปมีโอกาสเป็น = 50%
- ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็งจอตา และมีประวัติในครอบครัว มีโอกาสที่บุตรจะเป็น = 50%
- ผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากมะเร็งจอตา แต่ไม่มีประวัติครอบครัว มีโอกาสที่บุตรเป็นโรค = 12.5%
โดยมะเร็งจอตามีลักษณะที่แตกต่างจากมะเร็งชนิดอื่นๆ ดังนี้
- อาจเป็นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะในบางครั้งจะตรวจพบทันทีในเด็กแรกเกิด
- เป็นมะเร็งอันแรกที่พิสูจน์ว่าถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แม้มะเร็งอื่นๆ จะพบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ส่วนใหญ่พิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าถ่ายทอดแบบใด ขณะที่มะเร็งจอตาจะมีการถ่ายทอดแบบปมเด่น (dominant gene) และชี้ลงไปได้ว่ามีความผิดปกติที่โครโมโซม 13
- อาจพบพร้อมกันมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยไม่ใช่การแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เช่น พบเนื้องอกขนาดใกล้เคียงกันในตา 2 ข้าง
- มีโอกาสเกิดมะเร็งชนิดอื่น เมื่อรักษามะเร็งจอตาหายดีแล้ว หรือเป็นซ้อนขึ้นมาในขณะกำลังรักษา
- หายได้เอง (spontaneous regression) อันนี้ถือว่าเป็นข้อดีกว่ามะเร็งชนิดอื่น หรือที่เรียกกันว่าปาฏิหาริย์ เพราะขณะที่มะเร็งอื่นมีอัตราการหาย 1:80,000 แต่อัตราการหายได้เองของมะเร็งจอตาจะ อยู่ที่ 1:100 โดยจะเห็นเป็นรอยฝ่อของมะเร็งจอตาในบิดาหรือมารดาผู้ป่วย ที่ไม่เคยมีรายงานพบเห็นอยู่ประปราย
อ่านต่อ>> อาการและวิธีการรักษาโรคมะเร็งจอตา คลิกหน้า 3
โรคมะเร็งจอตามีอาการอย่างไร?
อาการมะเร็งจอตาที่พบบ่อยคือ
- มีสีขาววาวจากกลางตาดำ
- ตาเข โดยก้อนมะเร็งอยู่ที่จอตาบริเวณตรงกลาง ทำให้เด็กตามัวลงอย่างมาก ตาข้างนั้นไม่ใช้งานจึงเขออก (ตาเข สาเหตุจากมะเร็งพบได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ตาเขไม่ได้เกิดจากมะเร็ง เกิดโดยยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน)
- เด็กมีดวงตาเลื่อนลอย คล้ายจะมองไม่เห็น
- มีการอักเสบของเบ้าตา ทำให้ตาโปนแดง
- เป็นต้อหินจากเซลล์มะเร็งอุดตันทางเดินน้ำในลูกตา
- มีเลือดออกภายในช่องหน้ากระจกตาโดยไม่รู้สาเหตุ
- ตาเจ็บ ตาแดง เป็นๆ หายๆ มักพบในเด็กที่มะเร็งลามไปมากแล้ว
วิธีสังเกต เช่น ดูสีลักษณะตาของเด็ก เล่นปิดตาที่ละข้างให้หาของเพื่อสังเกตการมองเห็น เด็กบางคนอาจหกล้มบ่อยกว่าปกติ เดินชนสิ่งของเนื่องจากการมองที่ผิดปกติ หรือบางครั้งจะมีก้อนเนื้อเกิดขึ้นที่ตาและมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นตั้งแต่ระยะแรกโอกาสจะรักษาได้หายจะมีสูง โดยเฉพาะกรณีที่เป็นพันธุกรรม มีคนในครอบครัวป่วย ควรพบจักษุแพทย์ทันที หากเป็นมะเร็งจะได้ทำการรักษาให้ทันท่วงที ไม่ต้องควักลูกตา เพราะในกรณีที่มาพบแพทย์ช้า นอกจากต้องควักลูกตาแล้ว ในบางรายอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งพบประมาณ 5-10%
ระยะต่างๆ ของมะเร็งจอตา
มะเร็งจอตาแบ่งได้เป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับมะเร็งอื่นๆ ได้แก่
ระยะที่ 1 ก้อนเนื้อมะเร็งยังลุกลามเฉพาะในลูกตา
ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามออกจากลูกตาเข้าในเบ้าตา และ/หรือเข้าประสาทตา
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามเข้าสมอง และ/หรือน้ำไขสันหลัง (CSF: cerebrospinal fluid)
ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่กระจายสู่อวัยวะอื่นๆ ที่พบบ่อยคือ ไขกระดูกและกระดูก
อ่านต่อ วิธีการรักษาโรคมะเร็งจอตา คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การรักษาโรคมะเร็งจอตา
ทางเลือกวิธีรักษาในปัจจุบันมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาดและการกระจายของโรค การเป็นโรคในตาข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง และสภาพร่างกายของเด็ก
1. การผ่าตัดนำลูกตาออก
ถ้าก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ และไม่สามารถรักษาสภาพการมองเห็นได้แล้ว การรักษาคือ การผ่าตัดนำลูกตาออก ถือเป็นการผ่าตัดที่ไม่ยาก และแพทย์สามารถใส่ลูกตาปลอมให้เด็กได้ภายใน 3-6 สัปดาห์หลังผ่าตัด
การรักษาโดยวิธีนี้จะทรมานจิตใจทั้งผู้ปกครองมากจนบางครั้งผู้ปกครองบางคนปฏิเสธการรักษา และเปลี่ยนไปรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือนำเด็กกลับไปอยู่บ้าน และกลับมาพบแพทย์อีกครั้ง เมื่อมะเร็งแพร่กระจายไปมาก จนอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้น ถ้ามะเร็งเป็นมากจนมีข้อบ่งชี้ว่าต้องผ่าตัดเอาลูกตาออก ก็ควรจะทำเพื่อที่จะรักษาชีวิตของเด็กเอาไว้ ส่วนเรื่องที่ไม่มีดวงตานั้น แพทย์สามารถใส่ตาปลอมที่เป็นพลาสติกแทนได้ ทำให้เด็กไม่มีปัญหาเรื่องความสวยงาม ที่สำคัญอย่าพาเด็กไปอยู่บ้านเฉยๆ เพราะเด็กจะเป็นมากจนเสียชีวิตได้ แทนที่จะเสียดวงตาเท่านั้น
2. รังสีรักษา
โดยทั่วไปถือว่าโรคมะเร็งจอตาในเด็ก เป็นมะเร็งที่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการฉายรังสี อย่างไรก็ตาม ภาวะแทรกซ้อนของการฉายรังสี คืออาจทำลายเนื้อเยื่อใกล้เคียง ก่อให้เกิดเป็นต้อกระจกในภายหลังได้ และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อจอตาได้เช่นกัน นอกจากนี้ การฉายรังสีจะมีผลต่อการเจริญของเนื้อเยื่อกระดูกที่อยู่ใกล้ๆ ลูกตา อาจทำให้เกิดมะเร็งกระดูกได้
3. เคมีบำบัด
ในปัจจุบันการรักษาโดยวิธีนี้ ช่วยให้หลีกเลี่ยงการฉายรังสีหรือการผ่าตัดนำลูกตาออกได้ในผู้ป่วยบางราย ยาเคมีบำบัดที่ใช้มีหลายชนิด ซึ่งจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ทำให้อาจเกิดผลข้างเคียงได้มากผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล
4. การวางแร่
เป็นวิธีที่ให้รังสีรักษาเฉพาะที่บริเวณก้อนมะเร็ง ซึ่งมีขนาดปานกลาง ข้อดีของวิธีนี้คือผู้ป่วยไม่เสี่ยงต่อภาวะผิดปกติของกระดูกเบ้าตา ภาวะแทรกซ้อนของการวางแร่ อาจเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในจอตา
5. การรักษาด้วยแสงเลเซอร์
เป็นการรักษาโดยใช้ลำแสงเลเซอร์ เพื่อทำลายก้อนมะเร็งขนาดเล็ก ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาด้วยเลเซอร์ อาจเกิดจอตาฉีกขาด จอตาลอกหลุด
6. การจี้ด้วยความเย็น
เป็นการรักษาโดยใช้ความเย็นทำลายเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยวิธีการจี้ความเย็นใช้ได้กับก้อนมะเร็งขนาดเล็ก ภาวะแทรกซ้อนของการจี้ด้วยความเย็น อาจเกิดจอตาฉีกขาด จอตาลอกหลุด ม่านตาอักเสบ
จะเห็นได้ว่า การรักษามีหลายวิธีที่จะสามารถรักษาดวงตาของลูกไว้ได้ หากสังเกตพบความปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ และทำการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนที่จะสายเกินไปแบบหนูน้อยเทเลอร์ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
“แสงแฟลช” ทำลายดวงตาเด็กจริงหรือ?
7 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับดวงตาของเด็กวัยเรียน ที่เกิดจากหน้าจอ
เครดิต: haamor.com, aroka108.com, manager.co.th, si.mahidol.ac.th