นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (ซีดีซี) เปิดเผยว่า ไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์สามารถติดต่อได้โดยการที่เคี้ยวให้ละเอียดก่อนที่จะ ป้อนอาหาร ให้เด็กทารกกิน ซึ่งเป็นวิธีการที่พบบ่อยในประเทศยากจน และประเทศที่กำลังพัฒนาหลายแห่ง
โดยพาหะที่นำเชื้อโรคคือเลือด ไม่ใช่น้ำลาย จากผู้ที่มีเชื้อเอดส์และมีแผลในช่องปาก นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนพ่อแม่ และพี่เลี้ยงเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีไม่ให้เคี้ยวอาหารให้เด็ก เป็นไปได้ว่าทั้งคนเลี้ยงดู และเด็กต่างก็มีแผลในช่องปากด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งเป็นการง่ายสำหรับไวรัสที่จะติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งทางเลือด
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่าการเคี้ยวอาหารให้เด็กเป็นช่องทางในการแพร่เชื้อโรคบางอย่าง เช่น เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร และเชื้อที่เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอ
ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็พบว่ามีกรณีที่เด็กเล็กได้รับเชื้อเอชไอวีผ่านการให้อาหารในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน ล่าสุดมีการรายงานว่าพบเด็กได้รับเชื้อเอชไอวีจากญาติคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นคนดูแลเด็กคนนั้น และเป็นผู้ให้อาหารเด็กด้วยการเคี้ยวก่อนป้อน
ทั้งนี้นักวิจัยกล่าวว่าการให้อาหารเด็กแบบที่เคี้ยวก่อนป้อนนั้นพบมากในประเทศกำลังพัฒนาที่แม่หรือคนที่เลี้ยงเด็กไม่มีอุปกรณ์ในการช่วยบดอาหารเป็นต้นว่าเครื่องปั่นหรือบดอาหารสำหรับเด็ก ซึ่งต่างจากประเทศที่พัฒนาแล้วหรือประเทศในซีกโลกตะวันตกอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถึงแม้ว่าจะพบว่ามีอยู่บ้างก็น้อยเต็มที
อ่านต่อ >> “ป้อนอาหาร ด้วยการเคี้ยวให้ วิจัยเผยมีสิทธิ์ติดโรคเอดส์!!” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ผลการวิจัยนี้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมวิชาการซึ่งจัดขึ้นในเมืองบอสตันประเทศสหรัฐอเมริกา และระบุว่าน้ำลายนั้นไม่ใช่ตัวที่ทำให้เชื้อเอชไอวีแพร่ไปสู่เด็ก แต่เลือดที่อาจมีปนอยู่กับน้ำลายน่าจะเป็นสื่อที่ทำให้ไวรัสเอชไอวีแพร่ไปสู่เด็กที่รับอาหารที่ผู้ติดเชื้อเคี้ยวให้เข้าไปสู่ร่างกายได้
นักวิจัยระบุด้วยว่าการติดเชื้อเอชไอวีของเด็กที่รับประทานอาหารที่เคี้ยว โดยคนที่ติดเชื้อเอชไอวีนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเลือดจากเหงือกของคนเคี้ยวที่ติดเชื้อที่ปนเปื้อนมากับอาหารเข้าไปสู่กระแสเลือดของเด็กผ่านทางรอยแผล หรือแผลอักเสบในช่องปากหรือท่อทางเดินอาหารของเด็ก
ทั้งนี้นักวิจัยกล่าวว่าการวิจัยของพวกเขาได้ตัดกรณีโอกาสที่เด็กอาจจะติดเชื้อผ่านทางการให้นมแม่ หรือการเปลี่ยนถ่ายเลือดออกแล้ว จึงมั่นใจว่าเป็นการได้รับเชื้อผ่านทางอาหารที่เคี้ยวป้อนอย่างแน่นอน
“การติดเชื้อเอชไอวีผ่านทางการป้อนอาหารที่เคี้ยวก่อนนี้ถือเป็นช่องทางใหม่ในการแพร่เชื้อที่เพิ่งค้นพบและน่าจะเป็นพื้นฐานให้กับการศึกษาต่อๆ ไปในการที่จะหาทางในการลดการแพร่เชื้อในลักษณะนี้” ดร. เคน โดมินิเกซ์ และคณะผู้วิจัยกล่าว
Amarin Baby and Kids แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาพี่เลี้ยงไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียดก่อนที่จะรับให้ดูแลลูกของเรา พร้อมทั้งตรวจสอบเรื่องความสะอาด และสุขภาพว่าเป็นโรคติดต่ออะไรหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันลูกของเราไม่ให้ติดโรคร้ายแรงจากพี่เลี้ยง และอย่าให้พี่เลี้ยง “ป้อนอาหาร” ด้วยการเคี้ยว
และเพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยจะได้กินอาหารที่ครบคุณค่าอาหาร สะอาด ปลอดภัย Amarin Baby and Kids จึงมีคำแนะนำมาฝาก เห็นคำแนะนำมากมายแล้วอย่าเพิ่งท้อใจนะคะ หลายๆ ข้อคุณอาจทำอยู่แล้วก็เป็นไปได้ ค่อยๆ ทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของลูกเราค่ะ
อ่านต่อ >> “เคล็ดลับป้อนอาหารลูกเล็กอย่างปลอดภัย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
10 เคล็ดลับ ป้อนอาหารลูกเล็กอย่างปลอดภัย
1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนป้อนอาหารเด็ก
ถ้าทำอาหารเองมืออาจจับของสด ของดิบ หรือไข่ ยิ่งควรล้างให้สะอาดอีกครั้ง นอกจากนี้ทุกครั้งคุณไอ จามหรือเอามือโดนปาก หรือคุณมีแผลบาดที่มือ ยิ่งต้องล้างมือให้สะอาดค่ะ
2. เก็บอาหารสำเร็จรูปให้ดี
อาหารสำเร็จรูปต่างๆ สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้เปิด ควรเก็บไว้ในที่เย็น แห้ง ห่างจากความร้อนสูงหรือเย็นจัด ที่พลาดไม่ได้คือ ตรวจตราวันหมดอายุให้ดีและสังเกตลักษณะกระป๋องอย่าให้บุบ บี้ เบี้ยวก่อนนำมากิน
3. เช็ดฝาขวดบรรจุอาหารเด็กด้วยผ้าสะอาดก่อนเปิด
หรือเปิดน้ำก๊อกไล่ฝุ่นบนฝาก่อนเปิด ถ้าขวดอาหารเปิดยาก ให้รินน้ำอุ่นรดรอบๆ คอขวดก่อนหรือใช้ที่เปิดขวดค่อยงัดบริเวณข้างๆ ฝาจนกระทั่งได้ยินเสียงป๊อบจะเปิดง่ายขึ้น พยายามอย่าให้ที่เปิดโดนปากขวดเพราะอาจแตก และมีชิ้นส่วนขวดแก้วหล่นลงไปในเนื้ออาหารได้
4. ไม่ป้อนอาหารจากขวดบรรจุโดยตรง
ควรใช้ช้อนสะอาดตักแบ่งออกมา และอย่าเก็บจานข้าวที่เด็กกินเหลือไว้กินมื้อต่อไป เพราะเอ็นไซม์และแบคทีเรียจากน้ำลายของเด็กจะเริ่ม “ย่อย” อาหารและบูดอย่างรวดเร็ว
5. เก็บอาหารหลังป้อนเสร็จให้ดี
หลังจากตักอาหารออกจากขวดแล้ว ให้ปิดฝาขวดและเก็บไว้ในตู้เย็นจนกว่าจะถึงเวลามื้อต่อไป สำหรับอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำผลไม้และเนื้อผลไม้จะเก็บไว้ได้ประมาณสามวันหลังจากเปิดฝาครั้งแรก และอาหารที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบอื่นจะเก็บไว้ได้นานราวสองวัน
6. ไม่จำเป็นต้องอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนนำไปป้อนเด็ก
สำหรับผู้ใหญ่อาหารที่ร้อนจะทำให้รสชาติดี แต่เด็กเล็กยังไม่รู้สึกอย่างนั้น ไม่อุ่นอาหารเด็กด้วยเตาไมโครเวฟ เพราะแม้ภาชนะที่ใส่อาหารจะไม่ร้อนแต่อาหารจะที่อุ่นด้วยไมโครเวฟจะยังร้อนจัดมากต่อไปอีก 2-3 นาที ซึ่งอาจจะยังร้อนพอที่ลวกปากลูกได้ ถ้าจะทำให้อาหารร้อนก็เพียงอุ่นๆ พอ เช่น แบ่งอาหารใส่ชามและแช่ลงในน้ำร้อน หรืออุ่นจากไอน้ำร้อน เช่น หม้อซึ้งสำหรับนึ่งอาหารที่มีภาชนะใส่น้ำเพื่อให้เดือดไว้ด้านล่าง
7. ใช้วัตถุดิบสด สะอาดในการทำอาหารให้ลูก
ถ้าทำอาหารจากของสด ควรแน่ใจว่าวัตถุดิบที่ใช้สดและเก็บในที่ที่เหมาะสม ของสดและต้องการความเย็นก็ควรเก็บในที่เย็น วัตถุดิบบางอย่างไม่ต้องแช่เย็นแต่เก็บในที่ร้อนเกินไปก็อาจเสียได้ บูดเสียเร็วขึ้น ต้องเก็บในอุณหภูมิห้อง
8. น้ำผลไม้ นม ชีสที่ให้ลูกกิน
ควรผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้ว เช่น แบบยูเอชที หรือพาสเจอไรส์
9. ใช้ช้อนแยกเมื่อชิมอาหาร
ถ้าต้องการชิมรสชาติอาหารในระหว่างปรุง ควรใช้ช้อนสะอาดต่างหากชิมหรือล้างช้อนคันเดิมก่อนจะชิมอีก
10. อย่าเสียดายหากอาหารเสีย
ถ้าไม่แน่ใจว่าอาหารสดใหม่หรือเปล่า ควรทิ้งเสีย
อ่านต่อบทความอื่นนาสนใจ คลิก!
- อุทาหรณ์ เกือบเสียลูกรักเพราะลูกไม่ยอมเคี้ยว
- 10 เคล็ดลับ ป้อนอาหารลูกเล็กอย่างปลอดภัย
- ระวัง “เป่าอาหาร” เท่ากับส่งต่อแบคทีเรีย “ ลูกฟันผุ ” ไม่รู้ตัว
เครดิต: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby and Kids