โรคเบาหวาน นับว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญและพบได้บ่อย ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ และมักพบร่วมกับโรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง หรือความผิดปกติของระดับไขมันในเลือดได้ แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ทารกเป็นเบาหวาน ได้เช่นกัน
โรคเบาหวานในทารก เพราะ ทารกเป็นเบาหวาน ได้เช่นกัน
โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ตับอ่อนไม่สามารถหลั่ง insulin หรือ อาจเกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะดื้อ insulin โดยระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเป็นเวลานานจะทำให้เกิดผลแทรกซ้อนตามมามากมาย เช่น ความผิดปกติในการทำงานของไต จอประสาทตา หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้มากขึ้น ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยเพื่อดูแลรักษาโรคนี้ ซึ่งโรคเบาหวานมี 2 ชนิดด้วยกัน คือ
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยมักมีอาการปัสสาวะบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักตัวลดลง และในบางรายอาจพบภาวะเลือดเป็นกรดที่เรียกว่า diabetic ketoacidosis ซึ่งถูกกระตุ้นให้เกิดในช่วงที่ผู้ป่วยเจ็บป่วย เช่น มีไข้ โดยจะมีอาการคือ หายใจหอบลึก ซึมลง ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ เนื่องจากอาจทำให้เสียชีวิตได้
ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 นั้น มักจะมีรูปร่างอ้วน และมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน โดยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ แต่อาจตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงโดยบังเอิญ นอกจากนี้ยังอาจตรวจพบอาการแสดงของภาวะดื้อ insulin เช่น acanthosis nigricans ซึ่งเป็นลักษณะที่ผิวหนังบริเวณคอ หรือข้อพับตามร่างกายมีสีเข้มเป็นปื้นหนา
ซึ่งโรคเบาหวานที่พบในเด็กส่วนใหญ่มักเป็นชนิดที่ 1 แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่า มีอัตราการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กวัยรุ่นไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสัมพันธ์กับโรคอ้วน ที่เกิดจากการภาวะโภชนาการเกิน และการขาดการออกกำลังกาย
ความแตกต่างของโรคเบาหวานในเด็กและโรคเบาหวานในผู้ใหญ่
โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่นมีความคล้ายคลึงกับโรคเบาหวานในผู้ใหญ่ แต่ก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้
1.ชนิดของเบาหวาน ส่วนมากเบาหวานที่พบในเด็กจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 แต่ในผู้ใหญ่จะพบชนิดที่ 2 มากกว่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบเบาหวานชนิดที่ 2 ในเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการพบอัตราเพิ่มขึ้นของเด็กอ้วนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
2.การดูแลรักษา เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นเป็นวัยที่ยังมีการเจริญเติบโตและช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านทั้งอารมณ์ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และฮอร์โมนต่างๆ รวมทั้งยังอยู่ในช่วงวัยเรียน มีคนรอบข้างที่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลรักษา ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ครู และเพื่อนๆ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ด้านต่างๆ ฉะนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กจึงมีความละเอียดซับซ้อนมาก
3.ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน เนื่องจากถ้าเริ่มเป็นเบาหวานตั้งแต่เด็กโอกาสที่จะพบภาวะแทรกซ้อนในอนาคตก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี
อ่านต่อ >> “ทารกเป็นเบาหวานได้อย่างไร” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ทารกเป็นเบาหวาน ได้อย่างไร
อาการของเด็กที่พบว่าเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากมีภาวะขาดอินซูลินจึงไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปใช้เป็นพลังงานในเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย ทำให้อวัยวะต่างๆ มีภาวะขาดน้ำตาลหรือพลังงาน ร่วมกับการมีน้ำตาลสูงในกระแสเลือด
ในระยะแรกของโรคเด็กๆ จะมีอาการอ่อนเพลียง่าย รับประทานอาหารและน้ำมากขึ้น แต่น้ำหนักไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีปัสสาวะมากกว่าปกติ หากไม่ได้รับการรักษาร่างกายจะมีการสลายพลังงานสะสมในร่างกายซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากสารคีโตน ที่เรียกว่าภาวะ “ดีเคเอ” (DKA : diabetic ketoacidosis) ตามมา
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อย ซึมลงจากภาวะสมองบวม รวมทั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
โดยแพทย์ต้องอาศัยการซักประวัติอาการ ร่วมกับการเจาะตรวจน้ำตาลในเลือด เมื่อพบแน่ชัดว่าเป็นโรคเบาหวาน จะรักษาด้วยการให้อินซูลินทดแทนโดยฉีดเข้าชั้นไขมันวันละ 3-4 ครั้ง หรือผ่านเครื่องจ่ายอินซูลินเข้าร่างกายอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับการเจาะตรวจน้ำตาลปลายนิ้วเพื่อช่วยในการปรับยาอินซูลินให้เหมาะสม เพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะน้ำตาลสูงและน้ำตาลต่ำระหว่างการรักษา
นอกจากนี้ อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะไม่ได้เน้นการจำกัดพลังงานดังเช่นในเด็กที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ควรเป็นอาหารที่มีพลังงานและสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมตามวัยเพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโต
ทั้งนี้ เด็กที่เป็นเบาหวานอาจพบภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้นเกิดได้จากภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมากร่วมกับมีเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนหรือ “ดีเคเอ” ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอินซูลินหรือมีภาวะเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ
นอกจากนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำซึ่งเกิดจากการได้รับยาอินซูลินในปริมาณที่ไม่เหมาะสมกับปริมาณอาหารและระดับน้ำตาลในเลือดก็จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้เช่นกัน
แนวทางการรักษา ทารกเป็นเบาหวาน
นอกจากการรักษาด้วยยาลดระดับน้ำตาลในเลือดหรือการพิจารณาให้ insulin ทดแทนตามเห็นสมควรแล้ว กุมารแพทย์ยังจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการดูแลโภชนาการให้เหมาะสมตามวัย รวมไปถึงการออกกำลังกาย และนัดมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเบาหวานมีสุขภาพแข็งแรง และสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนกับเด็กปกติทั่วไปมากที่สุด
แม้ว่าในปัจจุบัน โรคเบาหวานเป็นโรคที่ยังรักษาไม่หายขาด และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี ก็อาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆของร่างกายได้
นอกจากนี้ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค ทางเลือกในการรักษา รวมทั้งสาเหตุและการดำเนินโรครวมทั้งภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก เช่นเดียวกันกับการมีส่วนร่วมของครอบครัวและโรงเรียน จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก :
- แม่แชร์! เป็นเบาหวานตอนท้อง และวิธีคุมน้ำตาลแบบง่ายและได้ผลดี
- แม่แชร์! ลูกเกือบช็อคเพราะ เบาหวานในเด็ก
- WHO เตือน! อาหารทารก มีน้ำตาลสูงเกินไป เสี่ยงหลายโรคร้าย
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอนัท http://www.bloggang.com , www.khaosod.co.th , med.mahidol.ac.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่