ผมไฟ คือผมของเด็กแรกเกิดที่มีมาตั้งแต่อยู่ในท้อง ในการ โกนผมไฟ จะนิยมไปหาพระอาจารย์ที่วัด เพื่อหาฤกษ์ที่นิยมทำกันคือ เดือน 4 – 6 และเดือน 12 ตามความเชื่อของคุณพ่อ คุณแม่ในสมัยก่อน เชื่อว่าจะเป็นมงคลแก่ลูก และครอบครัว โดยมีหลักเกณฑ์ สิ่งที่ต้องเตรียม และพิธีดังนี้
หลักเกณฑ์ในการโกนผมไฟ
1.ถ้าคนในครอบครัวถึงแก่ความตายในปีนั้นจะโกนไม่ได้ ปีถัดไปค่อยดูกันใหม่
2.ในครอบครัว ถ้าลูกไม่ได้โกนผมไฟ แล้วท้องขึ้นมาอีก ต้องรอจนกว่าจะคลอด และโกนผมไฟพร้อมกัน
3.โกนผมไฟเมื่อไหร่ก็ได้ หรือโกนในวันทำบุญ ไหว้บรรพบุรุษก็ดี
4.ถ้ายังไม่สามารถโกนผมไฟได้ ให้พ่อแม่เก็บรักษาผมเอาไว้ ปล่อยให้ยาว จะมัดจุกหรือถักเปียก็ตามใจ ห้ามโกนทิ้งไปเฉยๆ ถ้ายังไม่ถึงเวลา เพราะตามความเชื่อถือว่าจะเป็นอัปมงคลแก่เด็ก และครอบครัว
สิ่งที่ต้องเตรียมการโกนผมไฟ
1.หาฤกษ์ โดยให้พระอาจารย์คำนวณหาวันให้
2.นิมนต์พระจำนวน 5 รูป หรือ 8 รูป ตามศรัทธา
3.เชิญญาติมิตร
4.จัดหาเครื่องใช้ในพิธีโกนผมไฟ คือ หม้อทะนน 2 ใบ, ขมิ้น, ป่อย, กระแจะ, น้ำอบ, มีดพร้า, ขวานถาก และเสียม ถ้าโกนผมเด็ก 2 คนก็ให้เพิ่มจำนวน และเตรียมสำหรับแมวอีก 1 ที่ด้วย
5.จัดหาเครื่องสังเวยสู่ขวัญเด็ก อย่างละ 3 ที่ ถ้าเด็ก 2 คน เพิ่มอีก 1 เท่า มีดังนี้
- กล้วยสุก 3 หวี แบ่งใส่จาน 3 ใบ
- มะพร้าวอ่อน 3 ผล แบ่งใส่จาน 3 ใบ
- หมากพลู 3 จานๆ ละ 3 พลูซ้อนกัน หมากวางตรงกลาง
- ขนม ข้าวสุก ข้าวเหนียว 3 จาน วางข้าวสุกก่อน วางข้าวเหนียวบน วางขนมไว้บนสุด (ขนมจำพวกรูปกุ้ง ปู ปลา) และปักเทียนจานละ 1 เล่ม
- สำรับกับข้าว 3 สำรับๆ ละ 7 ถ้วย แกงที่ต้องมีคือ แกงฟักเขียว แกงฟักทอง แกงขี้เหล็ก แกงลูกชิ้นปลา และแกงอย่างอื่นอีก 3 อย่าง ให้ครบ 7 อย่างเป็นใช้ได้
- น้ำบริสุทธิ์ 1 ขัน
- ทำไม้คันเบ็ด ลักษณะคล้ายไม้เรียวปลายผูกเชือก ปลายเชือกผูกแหวนทอง มีหัวพลอยหรือเพชรห้อยไว้
- เครื่องบูชาขวัญ หมอขวัญ (บูชาครู)1 พาน ประกอบด้วย ธูป เทียน ดอกไม้ และเงิน 12 บาท
- ปลาย่าง ตัวขนาดพอประมาณ 3 ตัว วางบนจานขนมทั้ง 3 จานๆ ละ 1 ตัว
อ่านต่อ “การโกนผมไฟทำได้ 2 แบบ” คลิกหน้า 2
การโกนผมไฟทำได้ 2 แบบ โดยพิจารณาตามฐานะของแต่ละครอบครัว
1. แบบประหยัด เป็นพิธีง่ายๆ ระหว่างเครือญาติใกล้ชิด และหมอตำแย (คนทำคลอด) เมื่อได้ฤกษ์ดีแล้ว จัดหาเสื่อหรือลำแพน ปูที่ลานหน้าบ้าน ตั้งหม้อทะนนใบใหญ่ 2 ใบบนเสื่อ ใบแรกบรรจุน้ำใสบริสุทธิ์ และจัดหามีดพร้า ขวานถาก เสียม วางรวมกันไว้ข้างๆ หม้อน้ำ นอกจากนี้ มีกระบวยตักน้ำ พานที่ตั้งน้ำอบและกระแจะ เมื่อพร้อมแล้ว ลงมือโกนผมไฟเด็ก เมื่อโกนเสร็จแล้ว พ่อแม่ตักน้ำใส่หม้อใบแรก (น้ำผสม ขมิ้น ใบส้มปล่อย และกระแจะ) รดหัวลูกจนทั่วตัว แล้วค่อยตักน้ำบริสุทธิ์ในหม้อใบที่ 2 อาบชำระล้างให้สะอาด แล้วทาตัวเด็กด้วยแป้งกระแจะและน้ำอบ เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นแม่ของเด็กต้องตักน้ำจากหม้อใบแรก และใบที่ 2 รดให้พ่อของเด็ก ที่ฝ่ามือทั้งสอง พร้อมทั้งทาแป้งกระแจะ น้ำอบ ต่อมารดหมอตำแย และญาติผู้ใหญ่ โดยต้องรดให้ราดลงบนกองมีด พร้า ขวานถาก และเสียม ทุกครั้งจนเสร็จพิธี
เครดิตภาพ: www.mrt.in.th
2. แบบงานใหญ่ เมื่อได้วันฤกษ์ดีแล้ว เชิญญาติมิตรมาร่วมงาน และช่วยกันเตรียมของกินของใช้ ในวันงาน ตั้งแต่วันสุกดิบ (วันสุกดิบ คือ วันก่อนวันพิธีโกนผมไฟ 1 วัน ส่วนวันพิธีโกนผมไฟ เรียกว่า วันงาน) ในวันก่อนที่พระสงฆ์จะมาถึงบ้าน ต้องจัดปูเสื่อ หรือลำแพนที่ลานหน้าบ้าน และเตรียมของใช้ เช่นเดียวกัประหยัดให้พร้อม จากนั้นเริ่มพิธี พ่อแม่เด็กต้องนั่งในพิธี พระภิกษุสงฆ์เจริญพุทธมนต์ ในวงสายสิญจน์จนจบ จากนั้นพ่อแม่นำตัวเด็กเข้าไปให้พระสงฆ์องค์ประธานตัดผม และพระสงฆ์ทั้งหลาย เจริญชยันโตพร้อมกันจนกว่าจะเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พ่อแม่และญาติถวายภัตตาหาร แด่พระภิกษุต่อไป
- ที่สำคัญการโกนผมไฟนี้ ต้องโกนก่อนเวลาเที่ยงวันเสมอ ในระหว่างที่พระภิกษุกำลังฉันภัตตาหารอยู่นั้น หมอขวัญจะเริ่มทำการสู่ขวัญเด็ก ในสถานที่ที่เตรียมไว้ และเครื่องสังเวยสู่ขวัญเด็กที่เตรียมไว้ หมอขวัญเริ่มพิธี โดยให้เด็กถือแหวนที่ผูกเชือกไว้ที่ปลายคันเบ็ด แหวนที่หัวพลอยหรือเพชรนั้นไว้ แล้วสวดเรียกขวัญ พอจบตอนหนึ่ง ก็ทำพิธีตกเบ็ดเครื่องสังเวยนั้นครั้งหนึ่ง จนครบ 7 ครั้ง ในครั้งสุดท้าย หมอขวัญจะร้อง โห่ โฮ ฮิ้ว บรรดาญาติทั้งหลายจะขานรับพร้อมกัน ด้วยคำว่า สาธุ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีสู่ขวัญเด็ก และบรรดาญาติทั้งหลาย จะมอบสิ่งของหรือเงินทองเครื่องเซ่น ของกินของใช้ต่างๆ แก่เด็ก เป็นการรับขวัญด้วย เมื่อพระภิกษุฉันเสร็จ พ่อแม่และญาติทั้งหลายกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่เด็ก บรรพบุรุษและสัตว์ทั้งหลาย เจ้ากรรม นายเวร เป็นอันเสร็จพิธีโกนผมตามประเพณี หลังจากนั้น เจ้าภาพเลี้ยงอาหารแก่บรรดาญาติ ที่มาร่วมงานแล้วแยกย้ายกลับบ้าน
เครดิต: sanook.com