AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เคล็ดลับง่ายๆ 30 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด สมองดี พัฒนาการเลิศ!

30 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด

30 วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่มักจะใส่ใจเสมอ เพราะอยากให้ลูกของเราเก่ง ทันคนอื่น และพึ่งพาตัวเองได้เมื่อเขาโตขึ้น ลองนำไปใช้ในการพัฒนาลูก วิธีต่างๆ เหล่านี้ผ่านการวิเคราะห์ ทดสอบ ทดลอง และสรุปผลมาแล้วจากนักวิชาการว่าใช้ได้ผลดีมาแล้วทั่วโลก


1. ฉลาดเพราะนมแม่

ให้นมแม่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผลการศึกษาในเด็กวัยเรียนพบว่า เด็กที่กินนมแม่ตอนที่เป็นทารกมักจะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ การให้นมลูกยังเป็นช่วงเวลาสำคัญในการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกน้อย

♠ Mus read : ให้นมแม่ไม่ถึง 6 เดือน กลัวลูกไม่ฉลาด

2. ตามองตา

เมื่อลูกลืมตาตื่นขึ้น ให้เรามองหน้าสบสายตาหนูน้อยสักครู่ หนูน้อยแรกเกิดจดจำใบหน้าของคนได้เป็นสิ่งแรกเสมอ และใบหน้าของพ่อแม่คือใบหน้าแรกที่ลูกอยากจะจดจำ ซึ่งสมองจะบันทึกความทรงจำเพิ่มขึ้น

3. พูดต่อสิลูก

เวลาพูดกับลูก เว้นช่องว่างในช่วงคำง่ายๆ ที่ลูกจะสามารถพูดต่อได้ เช่น พยางค์สุดท้ายของคำ หรือคำสุดท้ายของประโยค ในช่วงแรกๆ ลูกอาจจะเงียบและทำหน้างง ลูกจะจับจังหวะ จับคำพูดบางคำได้

♠ Mus read : วิธีการเลี้ยงลูกอย่างชาญฉลาด ของ ‘เจ้าชายวิลเลียม’ ดยุกแห่งเคมบริดจ์ (อังกฤษ)

4. ทำตลกใส่ลูก

แม้กระทั่งเด็กน้อยอายุเพียงแค่ 2 วัน ก็มีความสามารถเลียนแบบการแสดงออกทางสีหน้าอย่างง่าย ๆ ของพ่อแม่ได้ ไม่เชื่อลองแลบลิ้นหรือทำหน้าตาตลกๆ ใส่ ลูกคุณจะทำตามแน่ๆ

5. กระจกเงาวิเศษ

ทารกน้อยเกือบทุกคนชอบส่องกระจก เขาจะสนุกที่ได้เห็นเงาของตัวเองในกระจกโบกมือหรือยิ้มแย้มหัวเราะตอบออกมาทุกครั้ง

6. จั๊กจี้ จั๊กจี้

การหัวเราะเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการด้านอารมณ์ขัน การเล่นปูไต่ทำให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการคาดเดาเหตุการณ์ด้วยว่า ถ้าพ่อแม่เล่นอย่างนี้แสดงว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ปูจะไต่จากไหนไปถึงไหนเป็นต้น

7. สองภาพที่แตกต่าง

ถือรูปภาพ 2 รูป ที่คล้ายกันให้ลูกมอง โดยวางให้ห่างจากใบหน้าของลูกประมาณ 8-12 นิ้ว เช่น ภาพรูปบ้านที่เหมือนกันทั้งสองรูป อีกรูปหนึ่งมีต้นไม้ต้นใหญ่อยู่ข้างบ้าน สร้างความจำพื้นฐานในการจำการอ่าน

8. ชมวิวด้วยกัน

พาลูกออกไปเดินเล่นนอกบ้าน และบรรยายสิ่งที่เห็นให้ลูกฟัง เช่น โอ้โหต้นไม้ต้นนี้มีนกเกาะอยู่เต็มเลย ดูสิลูกบนนั้นมีนกด้วย การบรรยายสิ่งแวดล้อมให้ลูกฟังสร้างโอกาสการเรียนรู้คำศัพท์ให้กับลูก

9. เสียงประหลาด

ทำเสียงเป็นสัตว์ประหลาด คุ๊กคูๆ หรือทำเสียงสูงๆ เลียนแบบเสียงเวลาที่เด็กๆ พูด ทารกน้อยจะพยายามปรับการรับฟังเสียงให้เข้ากับเสียงต่างๆ จากพ่อแม่

10. ร้องเพลงแสนหรรษา

สร้างเสียงและจังหวะส่วนตัวระหว่างเราและลูกน้อยขึ้นมา เช่น เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ก็ร้องเพลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก เป็นกลอน นักวิจัยค้นพบว่าจังหวะดนตรีเกี่ยวพันกับการเรียนรู้คณิศาสตร์

อ่านต่อ >> “วิธีแสนง่ายเลี้ยงลูกให้ฉลาด” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

11. มีค่ามากกว่าแค่อาบน้ำ

เวลาในการอาบน้ำสอนให้ลูกรู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำ การบรรยายให้ลูกฟังไปด้วยว่ากำลังทำอะไรและจะทำอะไรต่อไปเท่ากับเป็นการสอนคำศัพท์ ช่วยให้ลูกเรียนรู้กิจวัตรไปในตัว

12. อุทิศตัวเป็นของเล่น

ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องเล่นราคาแพงไว้ให้ลูกบริหารร่างกาย เพียงแค่คุณพ่อหรือคุณแม่นอนราบลงไปบนพื้น และปล่อยให้หนูพยายามคลานข้ามตัวไป หนูน้อยพัฒนากล้ามเนื้อให้ทำงานสัมพันธ์ เรียนรู้การแก้ปัญหา

♠ Mus read : งานยุ่ง จนไม่มีเวลาเล่นกับลูก จะพูดกับลูกอย่างไรไม่ให้ลูกเสียใจ

13. พาลูกไปช็อปปิ้ง

นานๆ ครั้งพาลูกน้อยไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาเก็ตด้วยก็ไม่เสียหาย ใบหน้าผู้คนอันหลากหลาย รวมถึงแสง สี เสียง ในห้างสรรพสินค้า คือ สิ่งบันเทิงใจสำหรับหนูน้อยเชียวล่ะ

♠ Mus read : ถึงเวลาปล่อยลูกไปเที่ยว-ช็อปปิ้งกับเพื่อนได้หรือยัง

14. ให้ลูกมีส่วนร่วม

พยายามให้ลูกได้มีส่วนร่วมในกิจวัตรต่างๆ เช่น ถ้ากำลังจะปิดไฟก็อาจจะบอกลูกว่า แม่กำลังจะปิดแล้วนะ เสร็จแล้วจึงกดปิดสวิชต์ไฟ นี่จะเป็นการสอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับเหตุและผล เมื่อคุณแม่กดสวิชต์ ไฟจะปิด

15. เสียงและสัมผัสจากลมหายใจ

ช่วยให้ลูกน้อยกระปรี้กระเปร่าขึ้นด้วยการเป่าลมเบาๆ ไปตาม ใบหน้า มือ แขน หรือท้องของลูก หาจังหวะในการเป่าของตัวเอง เช่น เป่าเร็วๆ สลับกับช้า หรือเป่าแล้วตามด้วยเสียงต่างๆ ดูปฏิกิริยาสนองจากลูก

16. ทิชชู่หรรษา

ถ้าลูกชอบดึงกระดาษทิชชู่ออกจากม้วน ปล่อยเขาค่ะ อย่าห้าม แต่อาจใช้กระดาษทิชชู่ม้วนที่เราใช้ไปพอสมควรแล้ว จนเหลือกระดาษอยู่เพียงเล็กน้อย เป็นการฝึกประสาทสัมผัสและการใช้มือของลูกอย่างดี

17. อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

การอ่านหนังสือช่วยให้ลูกเรียนรู้เรื่องภาษาได้จริงๆ มีผลการวิจัยออกมาว่า แม้กระทั่งเด็กอายุ 8 เดือน สามารถเรียนรู้จดจำการเรียงลำดับคำในประโยคที่ผู้ใหญ่อ่านให้ฟังซ้ำ 2-3 ครั้งได้ จัดเวลาอ่านหนังสือ

♠ Mus read : อยากให้ลูกฉลาด ต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟัง

18. เล่นซ่อนหาจ๊ะเอ๋

การเล่นจ๊ะเอ๋นี้นอกจากจะทำให้ลูกหัวเราะแล้ว ยังช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่าเมื่อสิ่งของหายไปแล้วสามารถกลับคืนมาได้อีก

19. สัมผัสที่แตกต่าง

หาสิ่งของที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน เช่น ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ไม้ หรือผ้าฝ้าย ค่อยๆ นำพื้นผิวแต่ละอย่างไปสัมผัสแก้ม เท้า ท้องลูกเบาๆ ระหว่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็บรรยายให้ลูกฟังว่าความรู้สึกเมื่อสัมผัสเป็นอย่างไร

20. ให้ลูกผ่อนคลายและอยู่กับตัวเองบ้าง

ให้เวลาประมาณ 5-10 นาที ในแต่ละวัน นั่งเงียบๆ สบายๆ กับลูกน้อยบนพื้นบ้าน ไม่ต้องเปิดเพลง เปิดไฟ หรือเล่นอะไรกัน ปล่อยให้ลูกได้สำรวจสิ่งต่างๆ ตามใจชอบ ไม่ต้องยุ่งกับลูก ฝึกความเป็นตัวของตัวเอง

อ่านต่อ >> “วิธีแสนง่ายเลี้ยงลูกให้ฉลาด” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

21. ทำอัลบั้มรูปครอบครัว

นำรูปภาพของญาติๆ มาใส่ไว้ในอัลบั้มเดียวกัน และนำออกมาให้ลูกดูบ่อยๆ เพื่อให้จดจำชื่อญาติแต่ละคน แล้วเวลาที่คุณปู่ หรือคุณย่าโทรศัพท์มา ก็นำรูปท่านออกมาให้ลูกดูพร้อมกับที่ให้ลูกฟังเสียงของท่านด้วย

21. มื้ออาหารแสนสนุก

เมื่อถึงเวลาที่ลูกสามารถกินอาหารเสริมที่หลากหลายมากขึ้นได้แล้ว อย่าลืมจัดอาหารของลูกให้มีชนิด ขนาดและพื้นผิวที่หลากหลาย ให้ลูกใช้มือจับอาหารถ้าอยากทำ ฝึกใช้นิ้ว และประสาทสัมผัส

♠ Mus read : ฝึกลูกกินข้าวเอง ช่วยพัฒนาการอะไรบ้าง?

23. เด็กชอบทิ้งของ

บางครั้งดูเหมือนเด็กชอบทิ้งของลงพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พฤติกรรมนี้เกิดจากเด็กทดสอบเรื่องแรงโน้มถ่วงว่าจะตกลงสู่พื้นทุกครั้งหรือไม่

24. กล่องมายากล

หากล่องหรือตลับที่เหมือนกันมาสักสามอัน แล้วซ่อนของเล่นชิ้นโปรดของลูกไว้ในกล่องใบหนึ่ง สลับกล่องจนลูกจำไม่ได้ แล้วให้ลูกค้นหาของเล่นชิ้นนั้นจนเจอ นี่เป็นเกมฝึกสมองอย่างง่ายสำหรับเด็ก

25. สร้างอุปสรรคเล็กๆ น้อยๆ

กระตุ้นทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อให้ลูก โดยนำเบาะ โซฟา หมอน กล่อง หรือของเล่นวางขวางไว้บนพื้น แล้วพ่อแม่ก็แสดงวิธีคลานข้าม ลอด หรือคลานรอบๆ สิ่งกีดขวางเหล่านี้ได้อย่างไร

26. เลียนแบบลูกบ้าง

เด็กชอบให้พ่อแม่ทำอะไรตามเขาในบางครั้ง เช่น เลียนแบบท่าหาวของลูก แกล้งดูดขวดนมของลูก ทำเสียงเลียนแบบเวลาที่ลูกส่งเสียงอ้อแอ้ คลานในแบบที่ลูกคลาน นี่คือก้าวแรกของลูกสู่ความคิดสร้างสรรค์

27. จับใบหน้าที่แปลกไป

ลองทำหน้าตาแปลกๆ เช่น ขมวดคิ้ว แยกเขี้ยว แลบลิ้นให้ลูกดู เวลาลูกเห็นพ่อแม่ทำหน้าตาตลก หนูน้อยจะอยากลองจับ ปล่อยให้ลูกได้ลองจับต้องใบหน้าของพ่อแม่

28. วางแผนคลานตามกัน

ลองคลานเล่นไปกับลูกให้ทั่วบ้าน คลานช้าบ้าง เร็วบ้างและหยุดหรือพ่อแม่อาจจะวางของเล่นที่น่าสนใจ หรือจัดบ้านในบางมุมให้แปลกไปก่อนที่จะมาคลานเล่นกับลูกเพื่อไปสำรวจตามจุดต่าง ๆ ที่จัดไว้ตามแผน

29. เส้นทางแห่งความรู้สึก

อุ้มลูกน้อยเดินไปทั่วบ้านในวันฝนตก จับมือลูกไปสัมผัสหน้าต่างที่เย็นชื้น หยดน้ำที่เกาะบนใบไม้ ต้นไม้ หรือสิ่งของอื่นๆ ในบ้านที่จับต้องได้อย่างปลอดภัย เป็นการเปิดประสาทสัมผัสของลูกสู่ความรู้สึกต่างๆ

30. เล่าเรื่องของลูก

เลือกนิทานเรื่องโปรดของลูก แต่แทนที่จะเล่าอย่างที่เคยเล่า ลองใส่ชื่อของลูกลงไปแทนที่ชื่อตัวละครตัวสำคัญของเรื่อง เพื่อให้หนูน้อยรู้สึกแปลกใจและสนุกสนานไปกับชื่อของตัวเองในนิทาน

ชมคลิป วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด ได้ใน 2 ขวบแรก เป็นวิธีเลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่นที่เกิดจากการศึกษาวิจัยมาอย่างยาวนานของ ศาสตราจารย์ คุโบตะ คิโซะ ซึ่งพบว่าเราสามารถสร้างเด็ก เก่ง ดี มีสุข และประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านได้ ภายใน 2 ขวบแรกของชีวิตเด็ก ซึ่งวิธีเลี้ยงลูกแบบนี้มุ่งเน้นเด็กฉลาดและมีความสุขควบคู่กันค่ะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


เครดิต: นิตยสาร at office issue 55 August 2008 p.30-34 โดย เป๊กกี้