การ “ปลูกฝังให้ลูกอดทน” เป็นวิธีที่จะทำให้ลูกเจนอัลฟ่าอยู่รอดได้อย่างมีความสุขในโลกที่สับสนวุ่นวายใบนี้ เริ่มทำได้ตั้งแต่ลูกยังเป็นทารกเลยเชียวค่ะ (อ่านเหตุผลที่ทำไมพ่อแม่จึงควรเลี้ยงลูกเจนอัลฟ่าให้ “อดทน-แกร่ง” ได้ในบทความ เลี้ยงลูกให้อดทน-แกร่ง-อึด สร้างสุดยอดเด็กเก่งในยุคดิจิทัล)
วัยแบเบาะ
การฝึกความอดทนอดกลั้นต้องล้อไปกับวิถีชีวิตของลูก สามารถฝึกได้ตั้งวัยแบเบาะ วิถีชีวิตของเด็กเล็กคือกินแล้วนอน โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ เขากินเป็น นอนเป็น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องรู้เรื่องพัฒนาการเด็กบ้าง เล็กๆ น้อยๆ หากจะเริ่มฝึก ในวัย 6 เดือนเหมาะที่สุด เพราะลูกเริ่มรู้แล้วว่านี่ตัวฉัน นั่นพ่อ นั่นแม่ เวลาคนอื่นอุ้มก็จะรู้ทันทีว่าไม่ใช่พ่อแม่
เริ่มต้นง่ายๆ แค่การป้อนนม หลายคนแค่เห็นลูกเริ่มเบะปาก ก็เอาเข้าเต้าทันที เพราะกลัวลูกหิว จริงๆ เด็กเรียนรู้แล้วว่า เวลาหิวนม คุณแม่จะต้องเตรียมนมอย่างไรบ้างกว่าเขาจะได้กิน ระหว่างที่เขารอ ก็พูดคุยกับลูกว่า เดี๋ยวนะลูก แป๊บนึงนะลูก แม่กำลังจะเอานมให้หนูกินนะ เด็กก็จะรู้จักการรอคอย รู้ว่าพอมีเสียงพูดประมาณนี้ อีกแป๊บนึงก็จะได้กินนม นี่คือวิธีการฝึกเด็กเล็ก
อีกกรณีหนึ่งที่เป็นกันเยอะมากในปัจจุบันคือ คาบนมนอนแล้วหลับ ตื่นขึ้นมานิดเดียวก็รีบเอานมป้อนทันที อย่างนี้เรียกว่า หลับไม่เป็น การฝึกการอดทนรอคอยก็จะไม่เกิด เพราะการฝึกให้กินเป็น นอนให้เป็น ถือเป็นปฐมบทในการฝึกอีคิวและวินัยของลูกนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม เลิกนมมื้อดึก และฝึกหลับยาว สำหรับลูกน้อยวัยเด็กเล็ก
วัยเลิกขวดนม
“ไม่เลิกขวดนมวันนี้ จะยกพวกตีกันวันหน้า” เพราะการเลิกขวดนมเป็นการทดสอบอีคิวดีๆ นี่เอง เป็นปฐมบทในการฝึกอารมณ์ลูก การที่ให้ลูกมีพัฒนาการจากกินผ่านขวดมาเป็นแก้ว มาเป็นช้อนได้ คือจังหวะเหมาะสมที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนเขาด้วยการขัดใจ ขัดความสุขในบางเรื่องของลูก
มีหลายคนถามว่า ทำไมต้องขัดใจ ขณะที่ลูกกำลังมีความสุขกับการดูดขวดนมอย่างเอร็ดอร่อยและไม่มีบันยะบันยัง แล้วจู่ๆ มาบอกลูกให้มากินนมด้วยแก้ว การขัดใจจะสร้างความยากลำบากให้ลูก ลูกอาจมีอารมณ์ขุ่นมัว ร้องไห้งอแง ปะทุอารมณ์ แต่การรู้จักจัดการอารมณ์แล้วกลับมารับเงื่อนไข เลิกขวดนมแล้วมากินนมด้วยแก้ว คือการฝึกอีคิวไม่ใช่เหรอ
ถ้าพ่อแม่ไม่สอนอีคิวตรงนี้ แล้วปล่อยให้เขาโตขึ้นเรื่อยๆ อารมณ์ขุ่นมัวของเด็กก็จะมากขึ้น รุนแรงขึ้น จนสุดท้ายควบคุมไม่ได้ในทุกๆ เรื่องที่มีคนขัดใจเขา เพราะฉะนั้น คำพูดที่ว่า “ไม่เลิกขวดนมวันนี้ จะยกพวกตีกันวันหน้า” จึงเป็นคำพูดสะท้อนได้ดี
อ่านเพิ่มเติม ฝึกลูกเลิกขวดนมง่ายๆ ภายใน 1 ขวบ!! ป้องกันฟันผุ
อ่านต่อ “ปลูกฝังลูกให้อดทน วัยเตาะแตะจอมอาละวาด+นักสำรวจ” คลิกหน้า 2
วัยอาละวาด
เด็กวัยเตาะแตะ เมื่อโดนขัดใจก็มักจะลงไปดิ้นอาละวาด จนพ่อแม่ไม่รู้จะทำอย่างไร สุดท้ายก็ตามใจเพื่อให้ลูกหยุด แต่วิธีนี้ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมเช่นนี้ได้ แม้กระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ เทคนิครับมือง่ายๆ ถ้าเป็นเด็กเล็กก็จับให้ลูกหยุด หรือกำลังอุ้มแล้วลูกจิกตาทึ้งผม คุณแม่ต้องจับหยุด ไม่ต้องพูดยาวเหยียด แค่พูดว่า ทำไม่ได้ คำเทศนายาวๆ เด็กจะไม่เข้าใจ เพราะสมองส่วนความคิดเรื่องเหตุผลยังไม่พัฒนา ครั้งแรกลูกอาจยังไม่เข้าใจ เมื่อเขาแสดงพฤติกรรมเช่นนี้อีก ก็ทำเช่นเดิม จนวันหนึ่งเขาจะเข้าใจว่า ลงไปดิ้นอาละวาดไม่ได้นะ จิกตาทึ้งผมคนอื่นไม่ได้นะ และต้องมาตรฐานเดียวทั้งพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เรื่องนี้นอกจากสอนการควบคุมอารมณ์แล้ว ยังสอนเรื่องการเคารพสิทธิ์ของคนอื่นด้วย
ที่กล่าวมานี้คือหลักการที่สามารถฝึกได้ตั้งแต่เล็กๆ การฝึกลูกให้รู้จักจัดการกับอารมณ์เมื่อเจอความผิดหวังบ้าง จะช่วยให้ลูกพัฒนาตัวเอง
อ่านเพิ่มเติม [สร้างวินัยเชิงบวก] 3 เทคนิคเชิงบวก ฝึกลูกเล็กควบคุมอารมณ์ และความรู้สึกให้ได้ผล!
วัยสำรวจ
คำพูดติดปากของพ่อแม่คือ “อย่า” คือห้ามลูกทำโน่นนี่นั่น จนไปขัดขวางพัฒนาการของลูก ทำให้ลูกไม่กล้าสำรวจและเรียนรู้สิ่งรอบตัว ที่พ่อแม่ห้ามเพราะเห็นอันตรายหรือกลัวความวุ่นวาย ทำไมเราไม่แก้ปัญหาด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กให้ปลอดภัยล่ะ จะได้ไม่ต้องมานั่งห้ามและเฝ้าระวังจนปวดหัวและเหนื่อยใจ
อีก “ห้าม” หนึ่งที่พ่อแม่มักเผลอทำ คือห้ามไม่ให้ลูกเจอปัญหาและอุปสรรคใดๆ เลย หลักพัฒนาการเด็ก เกินครึ่งเด็กต้องเจอ Sense of Success คือความสำเร็จในสิ่งที่ทำด้วยตัวเอง ด้วยความภาคภูมิใจ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ แต่อีก 30-40% ต้องเจอกับอุปสรรคและปัญหาให้เขาได้ท้าทายบ้าง ส่วนพ่อแม่ก็คอยให้กำลังใจ เขาก็จะเกิดการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ใช่ให้เขาเจอแต่ปัญหาทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ หรือตั้งใจสร้างปัญหาให้ลูก แบบนี้เด็กก็รับไม่ไหว เช่น ลูกระบายสี แล้วสีที่ต้องการหมด สิ่งที่พ่อแม่จะช่วยสอนลูกได้ไม่ใช่การกระวีกระวาดไปซื้อสีเซ็ตใหม่ให้ลูก แต่แนะนำให้ลูกรู้จักดัดแปลงจากสิ่งที่มีอยู่ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม เปลี่ยน “ข้อห้าม” เป็น “คำแนะนำ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock