AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขา ตั้งแต่ลูกแรกเกิด จนกระโดดได้

Credit Photo : Shutterstock

เท้าและขาเป็นส่วนสำคัญสำหรับก้าวเดินแรกของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมาทำความเข้าใจ พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขาของเด็กๆ กันดีกว่า ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปติดตาม พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขา ของลูกน้อย กันค่ะ 

พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขา ของลูกน้อย

ทารก 0-3 เดือน

พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขา ของเด็กวัยแรกเกิด ลูกน้อยแสดงออกถึงความสนุกด้วยการขยับทั้งตัว ทั้งแขน และขา ไม่ได้สะบัดหัวเข่าอย่างเดียว เนื่องจากตามพัฒนาการแล้ว เด็กวัยเบบี๋ยังคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้ไม่ดี เวลาดีใจหรือตื่นเต้น จึงขยับร่างกายทั้งแขนและขา

ทารก 4-6 เดือน

ทารกน้อยชอบการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ๆ  สามารถใช้ขาทั้งสองข้างเป็นฐานเพื่อพยายามนั่งทรงตัว แต่ยังคงต้องมีสิ่งประคองไว้ เพื่อไม่ให้ล้ม เพราะด้วยวัยนี้ เขาจะต้องควบคุมกล้ามเนื้อช่วงตัวให้ได้ดีก่อนจึงยังนั่งเองไม่ได้

ทารก 7-9 เดือน

ลูกวัยนี้นั่งเองได้โดยไม่ต้องประคอง พัฒนาการกล้ามเนื้อดีขึ้น ลูกสามารถควบคุมกล้ามเนื้อช่วงตัวได้ดีแล้ว และจะเริ่มยืนโดยต้องเกาะ เพราะการควบคุมกล้ามเนื้อขายังไม่ดี นั่นคือ พอทำได้ แต่ยังไม่ดี จึงต้องเกาะสิ่งของเพื่อการประคองตัวเอาไว้ในขณะที่ยืน คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังไม่ให้เขาคลาดสายตาเพราะอาจเกิดอันตรายได้

ทารก 10-12 เดือน

หนูน้อยในวัยนี้จะเริ่มเกาะเดินมากกว่า แต่บางคนอาจยืนได้และเริ่มก้าวเดินด้วยตนเองโดยไม่ต้องเกาะได้ แต่น่าจะเดินได้แค่ 2-3 ก้าว เมื่อการควบคุมกล้ามเนื้อขาและเท้าดีขึ้น ก็จะเริ่มทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากนั่งโดยต้องพยุง นั่งเอง เกาะยืน เกาะเดิน เดินเอง วิ่ง เพราะ พัฒนาการกล้ามเนื้อ ขาและเท้าดีขึ้นเรื่อยๆ

 

บทความแนะนำ ช่วยฝึกลูกนั่ง คลาน ยืน เดิน อย่างถูกวิธี และไม่เร่งลูก

 อ่านต่อ >> “พัฒนาการกล้ามเนื้อ เท้าและขา ลูกน้อย” หน้า 2

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

Credit Photo : Shutterstock

ลูกน้อย 13-18 เดือน

เด็กๆ สามารถเดินได้ด้วยตัวเองแล้ว แต่อาจจะมีหกล้มบ้างเป็นบางครั้ง สามารถพาตัวเองไปหาสิ่งที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นหรือผู้คน เด็กวัย 18 เดือน เดินคล่องแล้ว และเริ่มวิ่งได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ยังคงต้องจูงขณะขึ้นลงบันได

 

ลูกน้อย 19 – 24 เดือน

เด็กน้อยในวัยนี้พร้อมจะวิ่งเล่นไปรอบๆ ตัว รองเท้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูก แต่ให้ระวังการปีนป่ายในสถานที่ที่อาจเป็นอันตรายได้ง่าย เช่น บันได  ระเบียง  โต๊ะ  เก้าอี้  เพราะหากล้มขึ้นมา นอกจากกระดูกจะหักแล้วศีรษะอาจฟาดพื้นด้วย  เด็กวัย 2 ปีเริ่มเดินถอยหลังได้แล้ว และเริ่มเตะบอลได้  การเตะบอลคือการที่เด็กต้องทรงตัวด้วยเท้าข้างเดียวเพียงชั่วครู่ได้ ซึ่งเป็น พัฒนาการกล้ามเนื้อขาและเท้า ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย

 

เด็ก 1 – 3 ปี

การเดินและวิ่งอาจจะยังไม่ท้าทายพอสำหรับเด็กวัยนี้ เมื่อพวกเขาต้องการเคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น  คุณพ่อคุณแม่เสริมพัฒนาการให้ลูกได้ด้วยการพาไปว่ายน้ำหรือปั่นจักรยาน  ลูกในวัย 30 เดือนเริ่มกระโดดสองเท้าได้แล้ว เด็กๆ จะเริ่มสนุกกับการกระโดด แต่ต้องดูแลอย่าให้คลาดสายตาเพื่อความปลอดภัยเสมอ

 

อ่านต่อ >> “ไขปัญหา เท้าและขา ลูกน้อย” หน้า 3

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ไขปัญหา เรื่องเท้าและขา ลูกน้อย

Q : วิธีการเลือกซื้อรองเท้าคู่แรกสำหรับเด็กเริ่มเดิน

A: การเลือกรองเท้าให้เด็ก ต้องเลือกรองเท้าที่สวมสบาย มีน้ำหนักเบา พอดีกับเท้าเด็ก ไม่คับและไม่หลวมจนเกินไป เพราะถ้าหลวมจนเกินไปจะทำให้เด็กต้องเกร็งเท้าเมื่อเดิน เมื่อเด็กใส่รองเท้าแล้วควรมีพื้นที่เหลือประมาณ 1 ซม. นอกจากนั้นต้องดูพื้นรองเท้าไม่ให้ลื่นด้วย เนื่องจากเมื่อเด็กเริ่มหัดยืนหรือเดิน เด็กยังยืนหรือเดินได้ไม่แข็งแรง ถ้าพื้นรองเท้าลื่น อาจทำให้เด็กล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เด็กอาจกลัวและไม่ยอมหัดยืนหรือเดินอีก

 

Credit Photo : Shutterstock

 

Q : เด็กที่เกิดมาขาโก่ง จะสามารถหายเองได้หรือไม่? และการอุ้มเข้าเอวจะทำให้เด็กขาโก่งจริงหรือไม่?

A: ภาวะขาโก่ง คือการที่เข่าทั้งสองข้างของเด็กไม่ชิดกัน เมื่อเอาตาตุ่มมาชิดกัน  เป็นภาวะปกติในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 2 ปี ซึ่งเป็นพัฒนาการตามปกติ หลังอายุประมาณ 2 ปีไปแล้วอาการขาโก่งจะหายไปค่ะ แต่ถ้าเป็นขาโก่งข้างเดียว อาจต้องปรึกษาแพทย์ หรือหลังอายุ 2 ปี หากยังมีขาโก่งต้องปรึกษาศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เพราะเป็นขาโก่งที่ผิดปกติ ต้องทำการรักษาค่ะ สำหรับการอุ้มเด็กเข้าเอว ไม่น่าก่อให้เกิดปัญหาขาโก่งค่ะ

 

บทความแนะนำ 6 วิธีทดสอบว่าลูกขาโก่ง จริงหรือไม่?

 

บทความโดย : พญ. บานชื่น เบญจสุวรรณเทพ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากระตุ้นพัฒนาการเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก

พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-9 เดือน (มีคลิป)
เคล็ดลับธรรมชาติ อัญชัน ทาคิ้ว ทารก ช่วยให้คิ้วสวยดกดำ
พังผืดใต้ลิ้น ทารก สาเหตุทำลูกดูดนมแม่ยาก