AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พัฒนาการช้า เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องสังเกตลูก

สังเกตพัฒนาการช้าลูก

หลากหลายคำถามที่พ่อแม่กังวลใจ เมื่อลูกทำอะไรไม่ได้เหมือนลูกคนอื่น เช่น ลูกหัดเดินช้าไปหรือเปล่า? หัดพูดช้าเกินไปหรือไม่? สำหรับคุณหมอแล้ว พัฒนาการช้า อาจจะไม่ได้หมายถึงการเริ่มเดินหรือพูดช้า แต่จะรวมไปถึงความสามารถในการรับรู้ของประสาททั้ง 5 ของเด็กอีกด้วย

พัฒนาการทั้ง 5 ด้านของแต่ละวัย

การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การรับกลิ่น และการรับสัมผัส คือความสามารถในการรับรู้ของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูกน้อย แสดงถึงการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมที่มากระทบ และมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับสิ่งรอบตัว ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการของลูก หากลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้า ก็จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของลูกในอนาคต จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องสังเกต

สาเหตุของพัฒนาการช้า

1.ภาวะสมองพิการ หลังขาดออกซิเจนขณะคลอด หรือตามหลังอุบัติเหตุ หรือตามหลังการติดเชื้อในสมอง

2.โรคลมชักบางชนิด

3.ความผิดปกติของโครโมโซม และโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางอย่าง เช่น กลุ่มอาการดาวน์

4.การขาดฮอร์โมน เช่น ไทรอยด์

5.ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และภาวะขาดอาหารในเด็ก

6.ภาวะการติดเชื้อขณะมารดาตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน เอดส์ เริม

7.ภาวะขาดอาหารขณะมารดาตั้งครรภ์

8.ภาวะขาดอาหารในช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโต

9.ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้เลี้ยงดู ถูกทอดทิ้ง ถูกทำร้ายหรือกระทำทารุณ

10.กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ

เช็กลิสต์ลูกพัฒนาการช้าให้ชัวร์

อ่านต่อ “พัฒนาการช้าสังเกตอย่างไร?” คลิกหน้า 2

พัฒนาการช้าสังเกตอย่างไร?

1.ไม่กระพริบตาเมื่อมีแสงจ้า ไม่จ้องหรือมองวัตถุที่อยู่ใกล้ หรือพบว่าลูกตาเขหรือตาเหล่

2.ไม่ตอบสนองต่อเสียงดัง

3.ขยับแขนขาน้อย รู้สึกว่าลูกตัวนิ่ม อ่อนแรง และมีอาการเกร็ง

4.มีปัญหาการดูดนม เช่น ดูดไม่แรง สำลักนมเวลาดูด เป็นต้น

5.อายุ 3 เดือน ยังไม่ชันคอ ไม่หยิบจับสิ่งของ

6.อายุ 4 เดือน ยังไม่ส่งเสียงไม่เลียนเสียง

7.อายุ 18 เดือน ยังไม่พูดคำที่มีความหมาย และไม่ทำตามคำสั่ง ไม่เล่น สมมติง่ายๆ เช่น ป้อนอาหารตุ๊กตา หรือเล่นทำอาหาร เป็นต้น

8.ไม่จ้องหน้า ไม่สบตา เรียกไม่หัน

9.ชอบเล่นคนเดียว

10.มีพฤติกรรมซ้ำที่ไม่มีความหมายและเปลี่ยนแปลงยาก เช่น ชอบเรียงของ เป็นต้น

เช็กลิสต์ลูกพัฒนาการช้าหรือไม่

อ่านต่อ “การเลี้ยงลูกที่มีพัฒนาการช้า” คลิกหน้า 3

การเลี้ยงลูกที่มีพัฒนาการช้า

1.ควรมีการกระตุ้นพัฒนาการลูกในทุกๆ ด้านที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นด้านการเคลื่อนไหว การใช้มือหยิบจับ การใช้ภาษา และการช่วยเหลือตนเอง รวมถึงการกระตุ้นปลายประสาทสัมผัสในการรับรู้ทั้ง 5

2.การฝึกเลียนแบบสิ่งแวดล้อมที่บ้าน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาสอนเป็นทักษะต่างๆ ที่ให้ลูกเรียนรู้ เพื่อให้พ่อแม่ และตัวลูกเองนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

3.พยายามให้ลูกช่วยตัวเองให้มากที่สุด โดยในระยะแรกควรมีการช่วยเหลือก่อน ต่อไปควรเปิดโอกาสให้ลูกทำด้วยตนเอง เช่น ในเด็กเล็กควรจับเด็กให้อยู่ในท่าทางต่างๆ เปลี่ยนกันไปไม่ให้อยู่ในท่าเดียวซ้ำๆ

4.ควรมีการทำพฤติกรรมตัวอย่าง เพื่อให้ลูกเลียนแบบ และทำซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้

5.ให้ความสำคัญกับการฝึกลูก ควรคิดเสมอว่า การสอนหรือการกระตุ้นพัฒนาการ สามารถทำได้โดยไม่เลือกเวลา หรือสถานที่

6.ให้แรงเสริม ให้กำลังใจ และคำชมเชย ทั้งคำพูดและการกระทำ เมื่อลูกสามารถทำพฤติกรรมที่สอน หรือฝึกหัดได้ เช่น การพูดชม หรือท่าทีพอใจ กอดลูก

7.การจัดสภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไปในบ้าน เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อการกระตุ้นประสาทสัมผัส เช่น การติดภาพสีสดใส การให้ลูกมีโอกาสเล่นของเล่นที่เหมาะสมตามวัย

แบบประเมินและป้องกันพัฒนาการเด็กไม่สมวัย
แบบประเมินและป้องกันพัฒนาการเด็กไม่สมวัย

การสังเกตพัฒนาการการรับรู้ของลูกเป็นเรื่องสำคัญของพ่อแม่ ถ้าพบว่าลูกมีพัฒนาการช้า ควรรีบปรึกษากุมารแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ลูกน้อยจะได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเด็กปกติ

เครดิต: โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์, แพทย์หญิง จอมสุรางค์ โพธิสัตย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, ชญานี วัชรเกษมสินธุ์ นักจิตวิทยา