การนอนหลับ เป็นกิจกรรมแรกของสมองในช่วงพัฒนาการระยะแรก นาฬิกาชีวิตของเราจะถูกกระตุ้นด้วยแสงสว่าง และความมืด ร่างกายต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบเหล่านี้ ทำให้เด็กทารกนอนไม่เป็นเวลา เรามาเรียนรู้พัฒนาการการนอนหลับ และ คัมภีร์นอนหลับ ของลูกน้อยกันเถอะค่ะ
คัมภีร์นอนหลับ
การนอนของทารก ใน 1 วัน ทารกต้องนอนกี่ชั่วโมง?
1.ทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือน
- ทารกที่มีร่างกายแข็งแรง คลอดครบกำหนด จะนอนเกือบทั้งวัน รวม 14-17 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นการนอนแบบหลับๆ ตื่นๆ
- ช่วง 1 เดือนแรก ลูกน้อยจะนอนนาน 2-4 ชั่วโมงต่อครั้ง เพราะมีความจำเป็นต่างๆ เช่น ต้องกินนม
- โดยปกติแล้วทารกจะหลับตอนกลางคืนนาน 8-12 ชั่วโมง โดยมีการตื่นมากินนมคั่นเวลา และชั่วโมงที่เหลือจะเป็นการนอนกลางวัน
2.ทารกวัย 4 – 11 เดือน
- ทารกในวัยนี้ต้องการนอน 12-15 ชั่วโมงต่อวัน
- ลูกน้อยจะเริ่มมีรูปแบบการนอนของตัวเอง และนอนยาวได้มากขึ้น
- ลูกอาจนอนยาวถึง 5 ชั่วโมง เริ่มนอนยาวขึ้นตอนกลางคืน และนอนกลางวันน้อยลง
- เมื่ออายุได้ 6 เดือน ทารกส่วนใหญ่จะเริ่มกังวลกับการต้องแยกจากพ่อแม่ จึงร้องไห้เพื่อให้พ่อแม่สนใจ และมาปลอบโยนเขา จะเริ่มเรียนรู้การปลอบโยนตัวเอง และสามารถหลับต่อได้เอง
เด็กทารกควรนอนกลางวันกี่ครั้ง?
1.ทารกแรกเกิด
ไม่มีเวลานอนหลับที่แน่นอน ควรปล่อยให้ลูกนอนเท่าที่เขาต้องการ เมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ จะนอนหลับได้ยาวขึ้น ลูกน้อยอาจน้อยกลางวัน 2-4 ครั้งต่อวัน
2.อายุ 3-6 เดือน
เริ่มนอนเป็นเวลามากขึ้น อาจทำตารางเวลานอนให้ลูกได้แล้ว พยายามให้ลูกหลับในเวลาเดิมทุกวัน โดยคำนึงถึงนิสัย และนาฬิกาชีวิตของลูก จะช่วยกำหนดการนอนของลูกได้
3.อายุ 6-9 เดือน
ลูกอาจนอนกลางวัน 2-3 ครั้งในตอนเช้า ตอนเที่ยง – บ่าย และตอนบ่ายแก่ๆ
4.อายุ 9-12 เดือน
การนอนของทารก ในวัยนี้ส่วนใหญ่จะนอนกลางวัน 2 ครั้ง คือตอนเช้า และตอนบ่าย และภายใน 1 ขวบครึ่ง เด็กส่วนใหญ่จะเลิกนอนตอนเช้า และจะนอนกลางวันช่วงบ่ายแทน จนกระทั่ง 3-4 ขวบ แต่บางคนอาจไม่ได้นอนกลางวันน้อยลงเลย จนกระทั่ง 5 ขวบ
อ่านต่อ “ฝึกลูกให้นอนดีตามช่วงวัย” คลิกหน้า 2
ฝึกลูกให้นอนดีตามช่วงวัย
1.แรกเกิด-3 เดือน
- ให้ลูกนอนกลางวันบ่อยๆ ช่วงอายุ 6-8 สัปดาห์ ทารกมักไม่ตื่นนานเกินครั้งละ 2 ชั่วโมง ถ้าพาลูกนอนช้ากว่านั้น ลูกอาจง่วง หรือเหนื่อยเกินไป จนทำให้มีปัญหานอนไม่หลับได้
- สอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างของกลางวัน กลางคืน เมื่ออายุได้ 2 สัปดาห์ เล่นกับลูกให้ตื่นตัวในตอนกลางวันให้มากที่สุด เปิดไฟสว่าง ส่วนตอนกลางคืน อย่าเล่นกับลูก ห้องควรมืด และเงียบที่สุด อย่าคุยกับลูกนานเกินไป ลูกจะเรียนรู้ได้เองว่า กลางคืนคือเวลานอน
- สังเกตอาการง่วงของลูก ว่าลูกมีอาการขยี้ตา ดึงหูตัวเอง หรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติหรือไม่ ถ้าสังเกตเห็น ให้วางลูกลงนอน และสังเกตนาฬิกาชีวิตของลูก เพื่อให้รู้ว่าลูกพร้อมหลับแล้วหรือยัง
- สร้างกิจวัตรการนอน เริ่มได้เมื่ออายุ 6 สัปดาห์ หรือจะเริ่มก่อนก็ได้ มีหลักคือ ทำกิจวัตรทุกคืนในเวลาเดิม ไม่ควรทำกิจกรรมที่ตื่นเต้นเกินไป หรือทำให้กลัว ลองอ่านนิทานให้ลูกฟัง ร้องเพลงกล่อม เปลี่ยนชุดนอน หอมแก้ม ถ้าจะให้กินนม ควรกินให้เสร็จก่อน แล้วอุ้มลงนอนบนเตียงของเขา
- วางลูกลงนอนบนเตียง เมื่อลูกง่วงแต่ยังไม่หลับ เมื่ออายุ 6-8 สัปดาห์ พญ.โจดี มินเดล รองผู้อำนวยการศูนย์ความผิดปกติด้านการนอน โรงพยาบาลเด็ก ฟิลาเดลเฟีย แนะนำว่า ลองให้เขาหลับด้วยตัวเอง แค่เอาลูกนอนบนเตียงตอนง่วงก็พอ
2.อายุ 4-6 เดือน
- กำหนดเวลาเข้านอน กลางวัน และกลางคืน เพื่อให้ลูกน้อยนอนให้เป็นเวลา เลือกเวลาเข้านอนที่เหมาะกับครอบครัว ถ้าลูกน้อยหลับช้ากว่าเวลา อาจเพราะทำกิจกรรมโลดโผนเกินไป ถ้าลูกมีปัญหานอนไม่หลับ หรือหลับช้ากว่าเวลา ลองพาลูกน้อยเข้านอนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
- สร้างกิจวัตรก่อนนอน ทำตามลำดับเดิม เวลาเดิมทุกคืน เพื่อความสม่ำเสมอ
- ปลุกลูกน้อยในตอนเช้า เพื่อตั้งนาฬิกาชีวิตให้ลูก เขาควรนอน และตื่นตามกำหนดเวลา การปลุกลูกเวลาเดิมทุกเช้า จะช่วยให้ลูกนอนเป็นเวลาอีกด้วย
- ฝึกให้ลูกนอนหลับด้วยตัวเอง มีทารกเพียงบางคนที่หลับต่อเองได้ เมื่อตื่นกลางดึก ถ้าลูกน้อยหลับเองไม่ได้ ควรฝึกโดยพาลูกเข้านอนเมื่อง่วง แต่ยังไม่หลับ ถ้าได้ยินเสียงลูกตื่นกลางดึก ให้รอสักพักก่อน แล้วจึงลุกไปปลอบ หรือให้นม เพื่อให้ลูกมีโอกาสหลับต่อด้วยตัวเอง
อ่านต่อ “ฝึกลูกให้นอนดีตามช่วงวัย” คลิกหน้า 3
3.อายุ 6-12 เดือน
- เด็กทารกวัย 6 เดือนบางคน สามารถหลับยาวทั้งคืน เกิน 8 ชั่วโมงได้แล้ว ถือเป็นสัญญาณที่ดีมาก แต่บางคนยังคงตื่นขึ้นมากินนมมื้อดึกอยู่ จนถึงอายุ 9 เดือน และบางคนหลับดีมาตลอด แต่วันหนึ่งอาจตื่นมากลางดึก หรือมีปัญหาการนอนช่วงอายุ 6-12 เดือน
- เด็กในวัยนี้จะเริ่มนั่ง คลาน หรือบางคนอาจหัดยืนแล้ว ลูกน้อยเลยอาจมาฝึกทักษะเหล่านี้ตอนจะนอน หรือมีความกังวลว่าจะต้องแยกจากพ่อแม่ ทำให้ลูกเครียดจนร้องไห้ เมื่อตื่นกลางดึกแล้วไม่เจอใคร หรืออาจตื่น เพราะเจ็บที่ฟันกำลังขึ้น เมื่อรู้แล้ว คุณพ่อ คุณแม่จะได้รับมืออย่างถูกต้อง
- วิธีช่วยให้ลูกหลับคือ ทำกิจวัตรก่อนนอนให้เป็นปกติ ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา ฝึกให้ลูกหลับเอง หรือพาเข้านอนเร็วกว่าปกติ
ช่วยฝึกลูกนั่ง คลาน ยืน เดิน อย่างถูกวิธี และไม่เร่งลูก
เคล็ดลับ: “การปลูกฝังนิสัยการนอนที่ดี ควรทำตั้งแต่ยังเป็นทารก เพื่อให้ติดตัวไปจนโต”
นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับพิเศษ
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
เปิดคัมภีร์ ทารกนอนหลับแบบไหน? ช่วยให้พัฒนาการดี
แชร์ประสบการณ์ตรง!! สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อกล่อมลูกนอนหลับ
จริงหรือ? … การนอนหลับกําหนดความฉลาดของลูกได้!
Save
Save