ข้อมูลจาก Facebook Fanpage มูลนิธิกระจกเงา แจ้งว่า ข้อมูลเด็กหายรายล่าสุด พบคนร้ายในที่ทำงานของคุณแม่ ซึ่งคุณแม่ทำงานในห้างสรรพสินค้า ด้วยความเคยชิน จึงปล่อยให้ลูกน้อยวิ่งเล่นไปทั่วห้างสรรพสินค้าแต่เพียงลำพัง เพราะความคุ้นชินทำให้ ลูกถูกลักพาตัวในที่ทำงาน ได้ง่ายๆ
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อคนร้ายไปดักรอเด็กน้อยที่โซนตู้เกม และทำท่าเป็นผู้ใหญ่ใจดีเอาเหรียญมาให้เด็กน้อยหยอดเล่น เพื่อสร้างความไว้วางใจ เป็นอุทาหรณ์ให้คุณพ่อ คุณแม่ระมัดระวัง อย่าประมาทแม้ว่าจะเป็นสถานที่ที่คุ้นเคย และมีคนพลุกพล่านก็ตาม
บุคคลที่ไม่ควรไว้ใจ
จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงาพบว่า เด็กที่เคยถูกลักพาตัวซึ่งได้กลับบ้านแล้วกว่า 28 คน บุคคลที่เข้าข่ายในการลักพาตัวมากที่สุด ได้แก่
1.ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ ลักพาตัวโดยลำพัง เพราะง่ายต่อการดำเนินการ สะดวกในการเดินทาง และพาตัวเด็กไป
2.มีอาการทางจิต เป็นได้ทั้งหญิงและชาย อาจเคยก่อเหตุแบบนี้แล้ว ผู้ชายมักมีอารมณ์ทางเพศ รักร่วมเพศ
3.บุคคลใกล้ตัวกับครอบครัวของเด็ก เช่น พี่เลี้ยง ญาติ ที่รู้สึกผูกพันกับเด็ก อยากนำตัวเด็กไปดูแล และเลี้ยงดู
เด็กแบบไหนจะถูกลักพาตัว
จากข้อมูลจำนวนเด็กที่ถูกลักพาตัวตลอด 7 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2547 -2554) พบว่าเด็กถูกลักพาตัวทั้งสิ้น 46 คน เป็นเด็กชาย 22 คน เด็กหญิง 24 คน เฉลี่ย 10 คนต่อปี กลุ่มเสี่ยงคือเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 15 ปี
เด็กที่ถูกลักพาตัวส่วนใหญ่จะมีบุคลิกหน้าตาดี เชื่อคนง่าย ไม่มีทักษะในการป้องกันตัวเอง หรือขอความช่วยเหลือ ไม่กล้าร้องขอความช่วยเหลือ เพราะถูกข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย หรือถ้าหลบหนีจะไปทำร้ายครอบครัว
เครดิตภาพข่าว ช่อง TNN: พบตัวด.ญ.วัย6ปีแล้วหลังถูกลักพาตัว
วิธีการลักพาตัว รู้เอาไว้จะได้ป้องกัน
การลักพาตัวในทุกกรณี ไม่มีการประทุษร้าย ไม่มีการฉุดกระชาก ไม่มีการมัดมือมัดเท้า ไม่มีการปิดตาปิดปาก คนร้ายจะใช้ความแนบเนียนในการลักพาตัว ถ้าเป็นเด็กทารก หรือเด็กเล็ก คนร้ายจะตีสนิทกับครอบครัว ขออุ้มเด็ก หรือสมัครเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง แบบข่าวที่จังหวัดขอนแก่น ที่มีคนร้ายปลอมตัวเป็นญาติ จนทางโรงพยาบาลตายใจ อุ้มเด็กเสมือนเป็นแม่ หรือญาติของเด็กไป โดยไม่มีใครสงสัย
สำหรับเด็กโต มักมีสิ่งจูงใจ 4 อย่าง คือ เงิน ขนม ของเล่น และเกม โดยนำของมาล่อ แล้วชักชวนให้เด็กออกมาจากบริเวณนั้น เช่น ถ้าอยากได้อีกก็ให้ตามไปเอาที่รถ เด็กมักหลงเชื่อแล้วเดินตามไป โดยไม่มีการบังคับ ทำให้คนอื่นไม่สังเกตเห็นความผิดปกติ
อ่านต่อ “ลักพาตัวเด็กไปทำอะไร? และวิธีป้องกันไม่ให้ลูกถูกลักพาตัว” คลิกหน้า 2
ลักพาตัวเด็กไปทำอะไร?
จากข้อมูลของเด็ก 28 คน ที่ได้ตัวคืนมา พบว่า
1.ลักพาตัวไปหาประโยชน์ทางเพศ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่สุด โดยจะเกิดกับเด็กโตเท่านั้น อาจเป็นผู้ขาย หรือมีอาการผิดปกติทางจิต หรือต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก
2.ลักพาตัวเพื่อเลี้ยงเป็นลูกของตัวเอง เพราะมีความรัก ความผูกพัน หรือถูกชะตากับเด็ก
3.ลักพาตัวเพื่อหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ ให้ไปนั่งขอทาน ขายดอกไม้ ขายของตามตลาดนัด มักก่อเหตุโดยลำพัง เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้เป็นค่าอาหาร และค่าเดินทางไปวันๆ
4.ลักพาตัวเพื่อนำไปขายให้ชาวมาเลเซีย เชื้อสายจีนที่อยากมีบุตร มีขบวนการซื้อขายเด็กในภาคใต้ของประเทศไทยจริง แต่การสอบสวนยังไม่สามารถหาตำตอบที่ชัดแจ้งจนถึงปลายทางได้
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกถูกลักพาตัว
ข้อมูลจาก แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า
1.อย่าให้ลูกใส่เสื้อผ้า หรือหมวกที่มีชื่อติดอยู่อย่างชัดเจน เพราะคนร้ายจะเรียกชื่อลูกได้อย่างถูกต้อง ทำให้เด็กไว้ใจ ให้เขียนในที่ที่ไม่สามารถมองเห็นได้
2.สอนให้ลูกรู้ว่าคนร้ายมาได้ทุกรูปแบบ อาจเป็นมิตร เป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิง สอนให้ลูกรู้ว่าใครคือคนแปลกหน้า
3.สอนให้ลูกจำชื่อ นามสกุล ชื่อเล่น อายุ เบอร์โทรศัพท์ และที่อยู่ ของพ่อแม่ และตัวเอง
4.สอนให้ลูกรู้จักใช้โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือ ติดต่อพ่อแม่ หรือญาติ เพื่อนบ้านที่ไว้ใจ หรือแจ้งตำรวจ
5.ถ้าลูกอยู่บ้านคนเดียว มีคนโทรมา หรือมาหา สอนให้ลูกบอกว่าพ่อแม่อยู่บ้าน แต่กำลังยุ่ง ไม่ว่างต้อนรับ
6.สอนให้ลูกล็อคประตูเสมอ และอย่าเปิดประตู ไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้ายืดเยื้อ ถ้ากลัวให้โทรหาพ่อแม่ทันที
7.สอนให้ลูกขออนุญาตพ่อแม่ทุกครั้งที่จะรับของจากคนแปลกหน้า วิ่งกลับบ้านทันที ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้ามา
8.ถ้ามีคนขับรถตาม ขณะที่ลูกเดินอยู่ ให้วิ่งกลับไปทางเดิม เพราะรถจะเสียเวลาวน ทำให้เลิกตาม วิ่งเข้าบ้าน
9.สอนให้ลูกรู้จักสังเกต จดจำใบหน้าคน และทะเบียนรถ ถ้าผู้ใหญ่มาขอความช่วยเหลือ ให้รีบบอกพ่อแม่แทน
10.ถ้าพลัดหลงจากลูกในห้าง ให้ลูกขอความช่วยเหลือจากพนักงานขาย หรือตำรวจในเครื่องแบบ
เครดิต: Facebook Fanpage มูลนิธิกระจกเงา, www.breastfeedingthai.com, www.notforsale.in.th
อ่านเพิ่มเติม คลิก!