AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ความเครียด ส่งผลต่อทารกน้อย พ่อแม่ควรระวัง!

คุณพ่อ คุณแม่ ทราบหรือไม่ว่า เด็กทารกก็มี ความเครียด แล้วความเครียดเหล่านี้เกิดจากอะไร และส่งผลกระทบอย่างไรกับลูกน้อยบ้างนั้น ทำความเข้าใจกับความเครียดกัน

คุณพ่อ คุณแม่ ทราบหรือไม่ว่า เด็กทารกก็มี ความเครียด แล้วความเครียดเหล่านี้เกิดจากอะไร และส่งผลกระทบอย่างไรกับลูกน้อยบ้างนั้น ก่อนอื่น Amarin Baby & Kids จะพาคุณพ่อ คุณแม่ไปทำความเข้าใจกับความเครียดกันก่อนค่ะ ว่าคืออะไร?

ความเครียด คืออะไร?

ความเครียด คือการที่บุคคลได้รับรู้ว่า สัมพันธภาพระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากสิ่งเร้ามีการเปลี่ยนแปลงไป ให้ความรู้สึกไปในทางลบ หรือไม่สมดุลกับการปรับตัว เมื่อบุคคลเผชิญกับความเครียด จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมในการจัดการขจัด หรือลดความเครียด ซึ่งในเด็ก จะมีวิธีจัดการกับความเครียดแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโต พัฒนาการทางด้านร่างกายสติปัญญา และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล โดยการแสดงออกทางความเครียดในเด็ก แบ่งออกเป็นดังนี้

1.วัยทารกแรกเกิด – 1 ขวบ

ช่วงวัยนี้ เป็นช่วงวัยในการพัฒนาความไว้วางใจ โดยเฉพาะในเด็กวัย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งสามารถจำใบหน้าของคนใกล้ชิดได้ และเริ่มรู้สึกกลัวคนแปลกหน้า เด็กจะยิ้มเมื่อพอใจ และร้องไห้เมื่อไม่พอใจ การเปลี่ยนบุคคลที่เลี้ยงดูแบบไม่ซ้ำหน้าอาจทำให้เด็กเกิดความเครียด ส่งผลให้เด็กเกิดความหวาดระแวงขึ้นได้ในอนาคต

2.วัยหัดเดิน 1 – 3 ขวบ

วัยนี้ เป็นวัยที่มีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างมากในทุกๆ ด้าน เมื่อเด็กมีความเครียด ระยะแรกพฤติกรรม และการตอบสนองจะออกมาในรูปแบบปฏิเสธ ไม่ให้ความร่วมมือ และอาละวาด ระยะต่อมาเด็กจะร้องไห้น้อยลง และให้ความร่วมมือกับกิจกรรมบ้าง และระยะสุดท้ายคือจะแสดงออกมาโดยการร้องไห้เสียงดัง กำมือแน่น กัดริมฝีปาก เตะ ถีบ ทุบตี หรือวิ่งหนี เด็กในวัยนี้จะร้องไห้หาพ่อแม่เสียงดัง เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ได้รับการตอบสนอง

ในเด็ก จะมีวิธีจัดการกับ ความเครียด แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโต

3.วัยก่อนเรียน 3 – 6 ขวบ

เด็กในวัยนี้ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มีความคิดริเริ่ม และมีจินตนาการสูง เข้าใจอะไรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อมีความเครียด เด็กจะแสดงออกโดยการผลักไส หรือหนีออกไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย บางคนอาจแสดงออกโดยการรับประทานน้อยลง ซึม นอนหลับยาก ร้องไห้เบาๆ

4.วัยเรียน 7 – 12 ปี

เป็นช่วงวัยที่เด็กสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเองมากขึ้น พึ่งพาผู้อื่นน้อยลง เมื่อมีความเครียดจะรับประทานน้อยลง ซึม และโทษตัวเองเมื่อเกิดความเครียด

อ่าน “ความเครียดในเด็กทารก ส่งผลเมื่อโตขึ้น” คลิกหน้า 2

ความเครียดในเด็กทารก ส่งผลเมื่อโตขึ้น

ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Wisconsin ที่ Madison ได้ติดตามดูพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กจำนวน 560 คน เป็นเวลานาน 20 ปี โดยเริ่มตั้งแต่หลังคลอด ทีมนักวิจัยสอบถามพ่อแม่ถึงความเครียดที่เกิดขึ้นภายในบ้านเป็นช่วงๆ ตั้งแต่เด็กอายุครบ 1 เดือน 4 เดือน และ 1 ขวบ

โดยมีคำถามว่า พ่อแม่ทะเลาะกันบ่อยแค่ไหน คุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดลูกหรือไม่ หรือออกไปทำงานหลังคลอดลูกหรือไม่ หลังจากเด็กๆ อายุครบ 4 ขวบครึ่ง ทีมวิจัยได้เริ่มตรวจเลือดของเด็กๆ เพื่อวัดฮอร์โมนความเครียดเป็นช่วงๆ และเมื่ออายุครบ 18 ปี ได้ทำการสแกนสมอง เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลง

หากเด็กเกิด ความเครียด ตั้งแต่เล็กๆ  จะมีปริมาณฮอร์โมนความเครียดในเลือดสูง

โครี่ เบอร์จี หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า หากเด็กเกิดความเครียดตั้งแต่เล็กๆ  จะมีปริมาณฮอร์โมนความเครียดในเลือดสูง กลายเป็นเด็กวัยรุ่นที่เครียดง่าย วิตกกังวล และส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์ โดยเด็กเล็กเพศหญิงที่เติบโตภายในบ้านที่มีความเครียดอยู่รอบๆ ตัว เมื่อโตขึ้นจะมีภาวะเครียด และวิตกกังวลมากกว่าเด็กเล็กเพศชาย

รามัส เบริ์น ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์แห่งภาควิชาจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย University of Wisconsin กล่าวว่า ภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว ยังสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ เพราะสมองของเด็กยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เนื่องจากสมองของคนเรามีความยืดหยุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ จึงยังมีวิธีแก้ไขปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นในเด็กเล็กได้ ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาต่อไป

อ่าน “รับมือและลดความเครียดให้พ่อแม่” คลิกหน้า 3

รับมือและลดความเครียดให้พ่อแม่

บางครั้งเมื่อต้องรับมือกับลูกน้อยในที่สาธารณะ หรือมีสายตาของคนที่ไม่รู้จักมากมายจับจ้องมา แถมด้วยเสียงจากประชาชนผู้หวังดีย้ำซะข้างหูกันเลย “ใจเย็นๆ ค่ะคุณพ่อคุณแม่ เดี๋ยวลูกจะเครียดไปด้วย” แทนที่จะเย็นลง ดีกรีความเครียดของคุณพ่อคุณแม่กลับยิ่งทะยานขึ้น อย่างนี้จะให้นุ่มนวลกับลูกยังไงไหว…

ดร.เคธี พรอพเพอร์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยด้านพัฒนาการเด็กของมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลน่า บอกว่า ที่ลูกน้อยเห็นคุณพ่อคุณแม่เครียดแล้วเครียดไปด้วยนั้น เพราะเขารู้สึกได้จากพฤติกรรมหรือการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น หากมีทางออกหรือวิธีรับมือ ก็สามารถลดความเครียดทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และลูกไปได้อย่างสบายๆ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมที่ห้าง

ความลุกลี้ลุกลน ไม่รู้จะต้องทำอะไรก่อนหลัง คือเหตุสร้างความเครียดของสถานการณ์นี้ เราอาจกำหนดเวลาขับถ่ายของลูกน้อยไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมซ้อมเปลี่ยนผ้าอ้อมตอนลูกงอแงเรื่องการขับถ่ายไว้ตั้งแต่บ้านได้

2. พาลูกน้อยไปงาน หรือที่ที่คุณต้องทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ

คุณพ่อ คุณแม่มักประหม่าเมื่อต้องพาลูกน้อยออกงาน กรณีนี้แนะนำให้ทำตัวสบายๆ ผ่อนคลาย พูดคุยเป็นกันเองขณะที่อุ้มลูกไปด้วย ไม่จำเป็นต้องพูดคุยอะไรมาก อาจแค่ทำความรู้จักก็ได้ ด้วยท่าทีทั้งหมดนี้จะทำให้ลูกรู้ว่าสถานที่ที่เขามาอยู่นี้ปลอดภัย คนเหล่านี้เป็นมิตรกับพ่อแม่และลูก เขาไม่ทำอะไรลูกหรอกจ้ะ

3. จู่ๆ ลูกก็ร้องไห้จ้าในธนาคาร

กรณีนี้ขอให้คุณรีบบอกตัวเองไว้ก่อนเลย “ไม่มีเด็กคนไหนประสงค์ร้ายให้พ่อแม่เหงื่อตกหรอก” ทางที่ดีคือนิ่งไว้ จากการวิจัยพบว่าพ่อแม่ที่คาดหวังว่าลูกต้องอยู่ในระเบียบอย่างนี้อย่างนั้น เช่น อยู่ที่ธนาคารก็ไม่ควรจะร้องไห้ หรือแม้แต่คิดว่าลูกตั้งใจทำอาการอย่างนี้เพราะเรียกร้องความสนใจ มักจะยิ่งเครียดและมองไม่ออกว่าลูกร้องนั้นเพราะต้องการอะไร

หากมีทางออกหรือวิธีรับมือ ก็สามารถลด ความเครียด ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และลูกไปได้อย่างสบายๆ

4. ต้องให้นมกลางห้างสรรพสินค้า

สำหรับคุณแม่บางคนแล้ว การให้นมในที่สาธารณะทำให้เครียดถึงขั้นน้ำนมไม่ไหลได้ อาจเป็นเพราะคุณแม่รู้สึกว่ามีสายตาหลายคู่อาจจับจ้องอยู่ กรณีนี้การให้ลูกน้อยรอสักหน่อย เพื่อให้หาสถานที่เหมาะๆ ก่อนจะดีกว่า เช่น ห้องให้นม ซึ่งปัจจุบันนี้ห้างสรรพสินค้ามักจะจัดไว้ให้ หรือไม่มีจริงๆ ก็ไปที่รถดีกว่า

5. ตอนลูกล้มอย่างแรง ขณะหัดเดิน

เห็นแล้วใจพ่อแม่ตกไปถึงตาตุ่ม เคอร์รี่ โคลเบิร์น ผู้เขียนหนังสือ Mama’s Big Book of Little Lifesavers บอกไว้ “ลองคิดดู ถ้าทุกครั้งที่ลูกล้มคุณก็ร้องตกใจ แล้วลูกจะพยายามเดินให้ได้อยู่หรือ” ลองเปลี่ยนเสียงร้องตกใจ มาเป็นวิธีง่ายๆ เช่น เวลาลูกเดินล้มคุณก็เข้าไปกอด หรือถ้าเขาออกอาการเจ็บก็เป่าเพี้ยงให้เสียหน่อยแล้วก็ให้กำลังใจ “ไม่เป็นไรแล้ว ลุกแล้วเดินใหม่กันเนอะลูก” จะดีกว่ากันเยอะเลย

จากเรื่อง “แม่จ๋า…อย่าเครียดไป เดี๋ยวมาติดลูกนะ” นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับที่ 83 มกราคม 2555

ข้อมูลอ้างอิง: ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ, วีโอเอไทย

อ่านบทความที่น่าสนใจ คลิก!!

แม่ท้องเครียด ส่งผลต่อลูกในท้องอย่างไร?

5 พฤติกรรมพ่อแม่ ทำลูกเครียดร้องไห้

ภาวะเครียดในเด็ก แก้ไขอย่างไร ?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids