เมื่อคุณพ่อ คุณแม่เลือกซื้อของใช้ให้ลูกน้อย คุณอาจจะคิดว่าของทุกอย่างสำหรับเด็กในร้านค้าเหล่านั้นมีความปลอดภัย เพราะผลิตภัณฑ์ที่ทำสำหรับเด็กนั้นจะต้องผ่านการควบคุมและตรวจสอบจากรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว จริงหรือ? ซึ่ง ผลิตภัณฑ์อันตราย บางอย่างมีขายแพร่หลาย
ผลิตภัณฑ์บางชนิดทำให้เด็กบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้ ซึ่ง 40% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดถูกเรียกคืน ดังนั้น ก่อนที่คุณพ่อ คุณแม่จะซื้ออะไร ควรเช็คให้ดีก่อน และเรียนรู้ที่จะใช้งานผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้ปลอดภัย
1.เตียงเด็กเปิดข้างแบบเลื่อนขึ้นลง
ทำไมถึงอันตราย: ที่เลื่อนด้านข้างอาจหล่นลงมาบีบรัดคอเด็ก ทำให้หายใจไม่ออก ซึ่งทำให้เด็กเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 32 ราย ตั้งแต่ปี 2000 และอีกเป็นร้อยที่ไม่มีการรายงาน
วิธีแก้ไข: ใช้เตียงที่ติดอย่างแน่นทั้งสี่ด้าน ถ้าใครมีเตียงแบบนี้ ก็ควรทำให้ไม่สามารถเลื่อนได้ และเลือกเตียงที่มีมาตรฐาน
2.ที่กันกระแทก
ทำไมถึงอันตราย: ที่กันกระแทก อาจทำให้เด็กหายใจไม่ออก และตายเฉียบพลัน จากการศึกษาของ The Journal of Pediatrics พบว่า เด็กอายุ 1 เดือน ถึง 2 ปี เสียชีวิต 27 ราย จากการขาดอากาศหายใจจากที่กันกระแทกนี้ (1985 – 2005)
วิธีแก้ไข: เอาที่กันกระแทกออก ผู้เชียวชาญด้านความปลอดภัยแนะนำว่าให้ใช้เตียงที่โปร่งและพอดี
3.ที่จัดท่านอนสำหรับเด็ก
ทำไมถึงอันตราย: ที่จัดท่านอนสำหรับเด็ก เพื่อไม่ให้กลิ้งไปมา หรือยกระดับศีรษะขึ้นมาเพื่อป้องกันกรดไหลย้อน แต่เด็กอาจจะหายใจไม่ออกถ้าหากเด็กคว่ำหน้าลง ซึ่งใน 13 ปีที่ผ่านมา มีเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 13 คน วิธีแก้ไข: American Academy of Pediatrics แนะนำว่าให้เด็กนอนหงายเพื่อลดภาวะตายเฉียบพลัน ถ้าเด็กมีอาการกรดไหลย้อนให้รีบปรึกษากุมารแพทย์
4.หมอนและผ้าห่ม
ทำไมถึงอันตราย: ผ้าห่มอาจจะพันเด็กหรือ หมอนที่นุ่มทำให้หายใจไม่ออกได้ ซึ่งพบเด็กที่เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ในปี 2006-2008 จำนวน 92 คน จากการขาดอากาศหายใจเพราะหมอนกับผ้าห่ม และการให้เด็กนอนเตียงเดียวกับผู้ปกครอง อาจจะกลิ้งทับเด็กได้ ผู้เชียวชาญจึงไม่แนะนำให้นอนกับเด็ก
วิธีแก้ไข: ให้ลูกน้อยนอนสบายๆ ในเตียงเด็กแล้วใส่ชุดนอนที่คลุมถึงเท้า ถ้าคุณแม่ได้รับผ้าห่มสวยๆ มาเป็นของขวัญ ให้แขวนไว้ที่ผนังหรือใช้ตอนท้องแทน
5.มุ้งกางสำหรับเตียงเด็ก
ทำไมถึงอันตราย: เวลาเด็กปีนหรือเกาะขอบเตียง อาจจะทำให้มุ้งที่กางอยู่ห่อตัว หรือรัดคอเด็กได้
วิธีแก้ไข: สามารถใช้ได้ แต่ให้ใช้ในช่วงที่เด็กยังไม่หัดเดิน
6.เตียงเปิดข้าง
ทำไมถึงอันตราย: เตียงเปิดข้างช่วยให้ลูกน้อยได้นอนอยู่ใกล้แม่ได้ แต่ไม่มีความปลอดภัยกับพวกเขา เพราะเสี่ยงหายใจไม่ออก และพ่อแม่อาจนอนกลิ้งมาทับเด็กได้
วิธีแก้ไข: ควรใช้เตียงเด็กที่มีขนาดเต็ม
7.โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อม
ทำไมถึงอันตราย: โต๊ะเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เล็กเกินไป เด็กอาจจะตกจากโต๊ะได้ ซึ่งมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ประมาณ 4,500 คน เกิดการบาดเจ็บในปี 2009
วิธีแก้ไข: เลือกโต๊ะที่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย ควรเปลี่ยนเป็นโต๊ะที่ใหญ่ขึ้นและผิวเรียบ ไม่ควรปล่อยมือจากเด็ก อย่างน้อยต้องใช้มือ 1 ข้าง จับเด็กไว้ และไม่ห่างจากตัวเด็ก
8.เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่มั่นคง
ทำไมถึงอันตราย: เฟอร์นิเจอร์สามารถฆ่าเด็กในทันที ระหว่างปี 2000-2008 ที่ได้รับการรายงานจาก CPSC ว่ามีเด็กเสียชีวิตเกือบ 200 คน โดย 93% พบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ และเด็กอีก 16,000 คนที่ต้องได้รับการรักษาในห้องฉุกเฉิน เพราะเฟอร์นิเจอร์ เช่น ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า หล่นใส่
ทำอย่างไรดี : คุณพ่อ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เพียงแค่ยึดติดกับผนังด้วยสายรัด และแน่ใจว่าติดตั้งอย่างถูกต้อง โดยยึดสกรูเข้ากับผนัง
อ่านต่อ “ผลิตภัณฑ์อันตราย สำหรับเด็กที่พ่อแม่ต้องระวัง” คลิกหน้า 2
9.เปลอุ้มเด็กแบบ sling
ทำไมถึงอันตราย: ใน 20 ปีที่ผ่านมา มีเด็กเสียชีวิตแล้ว 14 ราย และมีอีกหลายรายที่บาดเจ็บ เช่น กระดูกหัก กะโหลกศีรษะบาดเจ็บ มีรอยถลอก ส่วนใหญ่เกิดจากเด็กหลุดออกมาจากเปลอุ้ม ซึ่งบางคนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บสาหัส เพราะมาตรฐานการผลิตไม่เข้มงวดพอ เด็กบางคนเสียชีวิตเพราะหายใจไม่ออก โดยเฉพาะเด็กทารกน้อยกว่า 4 เดือน ที่มีโอกาสทำให้ศีรษะ และใบหน้าผิดรูปได้
ทำอย่างไรดี : ให้อุ้ม หรือใช้คาร์ซีท (รถเข็นเด็ก) ควรใช้เป้อุ้มด้านหน้าแบบอ่อนและเป้ด้านหลังซึ่งได้รับการรับรองจาก ASTM (American Society for Testing and Materials) และควรซ้อมอุ้มให้คล่อง ก่อนอุ้มเด็กในเป้จริงๆ
10.ที่หัดเดิน
ทำไมถึงอันตราย: ที่หัดเดิน สามารถช่วยให้เด็กยืน และเดินได้ด้วยตัวเอง แต่ลูกน้อยอาจวิ่งจนเป็นอันตราย และอาจตกบันไดลงมา CPSC รายงานว่า มีเด็กอายุน้อยกว่า 5 ขวบ จำนวน 4,000 คน ได้รับบาดเจ็บจากอุปกรณ์หัดเดินนี้ และมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้
คลิกอ่านเพิ่มเติม: “รถหัดเดิน จำเป็นแค่ไหน”
วิธีแก้ไข: ควรให้เด็กหัดเดินในที่หัดเดินโดยเฉพาะ เพื่อให้เด็กได้เดินอย่างปลอดภัย หรือทำที่กั้นบริเวณไว้
11.เก้าอี้อาบน้ำ
ทำไมถึงอันตราย: เก้าอี้อาบน้ำ ถูกออกแบมาเพื่อให้เด็กนั่งหลังตรงขณะอาบน้ำ เนื่องจากมันเป็นเก้าอี้ที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ทำให้พ่อแม่วางใจ ไม่ได้ดูแลเด็กอย่างเต็มที่ เด็กอาจหงายหลัง และจมน้ำตายได้ คณะกรรมการความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ CPSC รายงานการเสียชีวิตของเด็กในปี 2009 ว่ามีเด็กเสียชีวิต 300 คนจากเหตุการณ์นี้ และไม่แนะนำให้ใช้
วิธีแก้ไข: ควรใช้อ่างที่เป็นพลาสติกแบบแข็ง และอย่าทิ้งลูกน้อยของคุณ ไม่ละสายตา ไม่หันหลัง จับลูกไว้
12.เก้าอี้สำหรับเด็ก
ทำไมถึงอันตราย: เก้าอี้ที่น่ารัก และมีสีสันสวยงาม ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยให้เด็กเล็กนั่งตรง แต่เด็กสามารถตกจากที่นั่งได้ โดยส่วนใหญ่จะถูกวางไว้บนโต๊ะ เคาน์เตอร์ หรือบนเก้าอี้ผู้ใหญ่ ทำให้เด็กมีแผล กระดูกหัก เพราะตกลงมา
วิธีแก้ไข: ห้ามวางไว้บนโต๊ะ เก้าอี้ หรือบนเตียงที่สูงๆ ควรวางไว้กับพื้น เพราะลูกอาจหงายท้องลงมาได้
13.ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย แต่ใช้ผิดวิธี
Baby monitor แบบมีสาย
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: ถ้าหากเสียบสายไว้กับเตียงเด็ก อาจจะทำให้สายมาพันคอเด็กได้
วิธีแก้ไข: ติดตั้งไว้ในที่ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง เช่น หน้าต่าง หรือผ้าม่าน
ประตูนิรภัย
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: ถ้าหากตัวยึดมันไม่แข็งแรงพอ ก็อาจจะทำให้เด็กตกจากบันไดก็ได้
วิธีแก้ไข: ใช้ที่ยึดที่แข็ง ติดไว้ด้านบนของบันใด หรือ ประตู และให้จำไว้ว่า ไม่มีอะไรทดแทนการเอาใจใส่ดูแลเด็กๆ ได้ดีเท่าตัวคุณเอง
เข็มขัดนิรภัยในคาร์ซีท รถเข็น เก้าอี้สูง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: ทารกมักได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการไม่ได้รัดสายรัดและตกจากที่สูงอยู่บ่อยๆ
วิธีแก้ไข: รัดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลา ในอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งก็จะมีหลายๆ รุ่นที่มีที่ยึดเข็มขัด 2 – 3 หรือ 5 จุด ควรใช้แบบ 5 จุด เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ
เคล็ดลับความปลอดภัย เมื่อคุณซื้อสินค้าสำหรับเด็กให้กรอกใบรับประกัน และศึกษาการใช้งานให้ครบถ้วน เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย
เครดิต: www.consumerreports.org, T-League