ช่วงแรกเกิด – 12 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจจะคาดไม่ถึงว่า มีการบาดเจ็บของเด็กเกิดขึ้นได้เช่นกัน จากสถิติทั่วโลกที่ผ่านมาพบว่า การบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในช่วงวัยนี้คือ ศีรษะกระแทก พลัดตกหกล้ม และการกลืนสารพิษหรือวัตถุเข้าไปในร่างกาย เรามา รู้ทันพัฒนาการเสี่ยงภัย กันค่ะ
รู้ทันพัฒนาการเสี่ยงภัย
1.การขาดอากาศหายใจ
เนื่องจากเด็กแรกเกิดนั้นยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พัฒนาการของเด็กวัยนี้ คือ การมองเห็น การร้องเบาๆ ส่งเสียงเพื่อบอกว่า “หนูหิวแล้ว” “หนูฉี่ออกมาแล้วนะ” เป็นต้น เรียกว่าวัยนี้ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นที่สุด ซึ่งนั่น ก็นำมาซึ่งความเหนื่อยล้าของผู้เลี้ยงดู โดยเฉพาะคุณแม่ซึ่งได้รับบทเป็นนางเอก ในช่วงนี้ คุณแม่บางคนอาจจะพักผ่อนไม่เพียงพอ หลายครั้งที่เราจะได้ยินข่าว คุณแม่นอนทับลูกจนเสียชีวิต บนหน้าหนังสือพิมพ์หรือตามโทรทัศน์ คุณแม่บางรายมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจจะมาในรูปแบบของยาขับน้ำคาวปลาหลังคลอด ก็ทำให้มีการหลับลึกกว่าปกติ จนไปทับเด็กทารกจนเสียชีวิตก็มีให้ได้ยินเช่นกัน
นอกจากคุณแม่ที่อาจนอนหลับทับลูกแล้ว คนอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะนอนหลับทับเด็กได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนนั้นคือ การนอนที่นอนเดียวกัน ไม่ว่าคนที่นอนด้วยจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ พี่ชาย หลานสาว โดยเฉพาะพี่วัยซนอาจจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ ทุกคนที่นอนเตียงเดียวกับเด็กมีโอกาสที่จะทำให้เด็กทารกขาดอากาศเสียชีวิตได้ทั้งสิ้น
“หลายปีก่อนเคยมีข่าว เด็กเล็กเสียชีวิตจากการ พลัดตกเตียงแล้วศีรษะ ติดค้างกับราวกั้นเตียง จนขาดอากาศเสียชีวิต ซึ่งการพลัดตกจากเตียง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดอากาศหายใจ โดยตัวเด็กอาจไปติดอยู่กับซอกระหว่างที่นอนกับผนัง ซอกระหว่างที่นอนกับเตียง หรือศีรษะติดอยู่กับที่กั้นเตียง ดังที่เป็นข่าว”
การป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลเด็กสามารถทำได้ง่ายๆ คือ การใช้ที่นอนแยกกับเด็กโดยให้ห่างกัน อย่างน้อย 1 เมตร การเลือกที่นอนเด็กที่มีราวกั้นได้มาตรฐาน คือ ช่องว่าง ระหว่างซี่ไม่ห่างเกิน 6 เซนติเมตร ไม่ใช้ที่นอนที่นุ่มเกินไป ไม่วางหมอน หรือตุ๊กตาในที่นอนของเด็ก ไม่ใช้ผ้าห่มหนาเกินไป ใช้ที่นอนขนาดพอดีกับเตียงหรือเปลของเด็ก เลือกของเล่นที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับวัย พร้อมทั้งไม่ปล่อยให้เด็กอยู่เพียงลำพัง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “รู้ทันพัฒนาการเสี่ยงภัยพลัดตกจากที่สูง” คลิกหน้า 2
2.พลัดตกจากที่สูง
ในช่วงแรกเกิดนั้น การพลัดตกหกล้ม อาจยังพบไม่ได้บ่อย คุณพ่อคุณแม่ อาจเริ่มวางใจว่าลูกตัวน้อยของเราจะสามารถอยู่นิ่งๆ กับที่ได้สักแวบหนึ่ง แต่เมื่อทารกเริ่มพลิกตัวได้ตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น ซึ่งอยู่ช่วง อายุราวๆ 4 เดือน ก็จะพบการบาดเจ็บจากการพลัดตกได้บ่อยขึ้น ในบ้านเรายังนิยมให้เด็กทารกนอนอยู่บนที่นอนของคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นการพลัดตกจากเตียงจะพบได้บ่อยมาก “เคยมีการสำรวจแล้วพบว่า เกินครึ่งหนึ่งของเด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ขวบเคยพลัดตกจากเตียงมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง”
เหตุการณ์ที่มักจะเกิดขึ้นคือ คุณพ่อ หรือคุณแม่ไม่ได้อยู่ใกล้กับตัวเด็ก อาจจะต้องไปทำธุระส่วนตัว รับโทรศัพท์ เข้าห้องน้ำ หรือเตรียมนมสำหรับลูก เวลาเพียงชั่วครู่ เด็กอาจจะพลิกตัวจนตกลงมาจากเตียง ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้เกิดการฟกช้ำดำเขียว หัวปูดหัวโน แต่ถ้ารุนแรงก็อาจจะมีกระดูกตามส่วนต่างๆ ของร่างกายหัก หรือแม้แต่เกิดการบาดเจ็บในสมองได้
การป้องกันที่ได้ผลมากที่สุดคือ การไม่ปล่อยเด็กไว้ในที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดการพลัดตก เช่น วางลูกไว้ในเปลที่มีราวกั้น ตามมาตรฐาน ไม่ปล่อยให้เด็กทารก อยู่ตามลำพังหรือปล่อยให้อยู่กับเด็กคนอื่น เพราะอย่าลืมว่าเด็กก็ยังคงเป็นเด็กนั่นเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “รู้ทันพัฒนาการเสี่ยงภัยสัมผัสสารพิษและการสำลัก” คลิกหน้า 3
3.การสัมผัสสารพิษและการสำลัก
ในวัยแรกเกิดจนถึง 12 เดือนนั้นยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดการสัมผัสสารพิษหรือสารเคมีภายในบ้าน เนื่องจากตามพัฒนาการแล้ว ช่วง 8 – 9 เดือนจะเริ่มเคลื่อนที่ได้เก่งขึ้น ใช้มือและนิ้วได้เก่งขึ้น นั่นหมายถึง การเข้าถึงจุดเสี่ยงจุดอันตรายมีมากขึ้นนั่นเอง
การใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของเด็กวัย 8 – 9 เดือนจะดีขึ้นอย่างชัดเจน สามารถหยิบชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ตกตามพื้นได้ จึงมีโอกาสที่จะหยิบชิ้นส่วนเล็กๆ เข้าปากจนเกิดการสำลักเข้าหลอดลม ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่พบได้บ่อย เช่น กระดุม เศษพลาสติก เป็นต้น และอาหารก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการสำลักได้เช่นกัน ที่พบได้บ่อยคือ ลูกชิ้น ไส้กรอก ขนมเยลลี่ เนื่องจากวัยนี้เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่มักจะเริ่มทดลองอาหารใหม่ๆ ให้เด็ก ซึ่งอาหารที่กล่าวถึงข้างต้นมีโอกาสที่จะหลุดเข้าไปอุดทางเดินหายใจได้บ่อยกว่าอาหารชนิดอื่น
“เมื่อมือของเด็กเริ่มเปิดภาชนะด้วยตัวเองได้ก็จะสามารถคลานไปในที่ต่างๆ ได้ ปีนขึ้นที่สูงได้ หากเก็บสารเคมีต่างๆ ไม่มิดชิดพอ เด็กวัยนี้ก็สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาซักผ้า น้ำยาล้างห้องน้ำ ฯลฯ”
การป้องกันการสำลักและสารพิษ ที่ทำได้คือ การทำความสะอาดบ้านให้เรียบร้อย เก็บเศษผงเศษขยะให้สะอาด เลือกอาหารที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกไส้กรอก ลูกชิ้น หรือเยลลี่ ไม่ใช้สีทาบ้านผิดประเภท รวมถึงการเก็บสารเคมีและสารพิษให้มิดชิด พ้นจากมือเด็ก อาจจะใช้ตัวล็อกชนิดพิเศษ หรือกุญแจเพื่อช่วยป้องกันอีกชั้นหนึ่ง การไม่บรรจุสารเคมีอื่นๆ ลงในขวดบรรจุ อาหารหรือน้ำเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด ก็จะลดการได้รับอันตรายได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “รู้ทันพัฒนาการเสี่ยงภัยการถูกความร้อนลวก” คลิกหน้า 4
4.การถูกความร้อนลวก
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อเด็กวัยนี้สามารถ เคลื่อนที่ได้แล้วก็จะเริ่มสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นห้องนั่งเล่น ห้องครัว บันได มีคนกล่าวกันว่า พื้นที่ที่อันตรายที่สุดสำหรับเด็กก็คงจะเป็นห้องครัว เพราะมีทั้งของมีคม ของร้อน และยังมีสารเคมีต่างๆ ที่เก็บไว้อีกด้วย
ในวัยนี้อย่างที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า เด็กจะเคลื่อนที่ได้มากขึ้น แต่ก็ยังต้องใช้ตัวช่วยอยู่ โดยเฉพาะเวลาจะยืนหรือเคลื่อนที่ด้วยการเกาะเดิน มือของเด็กจะต้องคว้าข้าวของรอบตัวเพื่อช่วยพยุงตัวให้ขยับไปข้างหน้า หรือเด็กอาจจะคว้าของที่อยู่สูงกว่า หรือไกลกว่าตัวเองเพื่อทำการสำรวจ ดังนั้น หากสิ่งที่เด็กคว้านั้นเป็นของร้อน เช่น โต๊ะวางกระติกน้ำร้อน หรือที่วางอาหารร้อน ก็มีโอกาสที่จะทำให้ของร้อนนั้นลวกตามร่างกายของเด็กได้ และในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่จับเด็กใส่รถพยุงตัว หรือรถหัดเดิน เด็กอาจจะใช้รถนี้เป็นตัวที่พาให้เข้าไปใกล้กับจุดเสี่ยงได้มากกว่าเดิม
สำหรับบ้านที่มีเด็กในวัยนี้ก็ควรแยกพื้นที่ที่มีของอันตรายออกไป เช่น ตั้งกระติกน้ำร้อนอยู่บนโต๊ะที่มั่นคง ห่างจากพื้นที่เลี้ยงเด็ก ไม่มีสายไฟระโยงระยางที่เด็กเอื้อมถึง รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์ดักสัญญาณควันเพื่อแจ้งเตือนในกรณีเพลิงไหม้ ก็สามารถลดโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “รู้ทันพัฒนาการเสี่ยงภัยการจมน้ำ” คลิกหน้า 5
5.การจมน้ำ
ถึงแม้ว่าการจมน้ำจะเป็นสาเหตุต้นๆ ของการเสียชีวิตของเด็กที่อายุมากกว่า 1 ขวบ แต่ก็ยังสามารถพบการบาดเจ็บจากการจมน้ำ ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบได้เช่นกัน “โดยการบาดเจ็บที่สำคัญหลังจากการจมน้ำ คือ การขาดอากาศหายใจ” ซึ่งส่งผลต่อสมองนั่นเอง
พฤติกรรมการจมน้ำของเด็กเล็ก จะแตกต่างจากเด็กโตเล็กน้อย คือ การจมน้ำของเด็กเล็กนั้นอาจเกิด ระหว่างการอาบน้ำ โดยอาจจะเป็นลักษณะที่ผู้ดูแลกำลังอาบน้ำให้เด็กอยู่ แต่ออกไปทำภารกิจอื่น เช่น รับโทรศัพท์ หยิบของใช้เพิ่มเติม หรือแม้แต่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันเองตามลำพัง (อาจมีเด็กโตอยู่ด้วย)
ดังนั้นการอาบน้ำให้เด็กเล็กจำเป็นต้องอยู่กับเด็กตลอดเวลา ไม่สามารถละสายตาได้เลย เพราะเวลาเพียงชั่วอึดใจของเรา ก็อาจเป็นวินาทีที่สำคัญต่อชีวิตของเด็ก และไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันเอง เนื่องจากเด็กก็คือเด็ก ยังไม่สามารถดูแลความปลอดภัยได้มากเท่าผู้ใหญ่
นิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับคู่มือระวังภัย โลกยุคใหม่อันตรายรอบด้าน
อาจารย์ นพ.ฉัตรชัย อิ่มอารมณ์ ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกัน การบาดเจ็บในเด็ก (Child Safety Promotion and Injury Prevention Research Center) ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Save