เคยไหมคะ? ลูกไม่ได้หิว ผ้าอ้อมก็ยังโอเค ไข้ก็ไม่มี แต่ลูกร้องไห้…ทำไมกันเนี่ย แต่อย่าเพิ่งเพลียไปค่ะ วันนี้ Amarin Baby & Kids มีเทคนิคดีๆ 8 ข้อให้คุณพ่อคุณแม่ลองเลือกทำดู รับรองว่าต้องมีสักวิธีที่ทำให้ลูกเบบี๋หยุดร้องไห้ได้แน่ค่ะ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่หาสาเหตุไม่ได้ แล้วทำไมทารกถึงร้องไห้ล่ะ เบบี๋เขามีเหตุผลของเขา แต่ต่อให้คุณเป็นพ่อแม่ที่ฉลาดมากๆ ก็คงไม่สามารถอ่านใจลูกทารกได้อยู่ดี แล้วลูกก็ยังพูดไม่ได้อีกต่างหากเนอะ
ถ้ายังไม่ได้อ่านเรื่อง “สาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้และวิธีรับมือ” ลองดูก่อนก็ได้ค่ะ จะได้รู้เทคนิคสำหรับสาเหตุต่างๆ หรือจะลองทำ 7 วิธี ด้านล่าง แม้ยังไม่รู้สาเหตุที่ลูกร้องไห้ก็ได้ไม่ว่ากัน
1. หาอะไรให้ลูกดูด
การได้ดูดอะไรสักอย่างทำให้ชีพจรของทารกสม่ำเสมอ ผ่อนคลายท้อง และทำให้อวัยวะที่ตื่นตกใจสงบลง เลือกใช้ได้ทั้งจุกนมหลอกหรือเอานิ้วให้ดูด เขาก็จะสงบลงได้เองค่ะ
2. โอบอุ้มและหุ้มห่อ
เด็กแรกเกิดชอบความอบอุ่นและปลอดภัยเหมือนอยู่ในครรภ์คุณแม่ ลองห่อตัวลูกด้วยผ้าห่มหรือใส่เป้อุ้มเด็ก หรืออุ้มเขาแนบไหล่เพื่อให้ได้สัมผัสคล้ายกัน แต่เบบี๋บางคนอึดอัดเวลาถูกอุ้มหรือห่อตัวและอาจจะรู้สึกดีกับวิธีปลอบแบบอื่นดีกว่า เช่น อุ้มไกว หรือดูดจุกนมหลอก
3. เสียงเพลงและท่วงทำนอง
ลองเปิดเพลง ร้องเพลงกล่อมหรือเพลงที่คุณพ่อคุณแม่ชอบ และเต้นไปรอบๆ ห้อง ทดลองเพลงหลายๆ แบบเพื่อดูว่าลูกน้อยชอบเพลงแบบไหน
อ่านต่อ “8 เทคนิค รับมือลูกทารกร้องไห้” คลิกหน้า 2
4. White noise
เสียงของเครื่องดูดฝุ่นอาจจะฟังไม่รื่นหูนัก แต่ทารกบางคนรู้สึกสงบเพราะเสียงหึ่งๆ สม่ำเสมอของ White noise เหล่านี้ที่กลบเสียงรบกวนอื่นๆ เพราะเสียงเหล่านี้จะคล้ายกับเสียงที่ดังในครรภ์ของคุณแม่ที่ทารกเคยได้ยิน ตัวอย่างเช่น เสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงพัดลม เสียงน้ำไหล (อ่านเพิ่มเติม อะไรคือ White Noise เสียงประโลมใจ?)
5. อากาศสดชื่น
บางครั้งเพียงแค่อุ้มลูกเดินออกไปนอนบ้านลูกก็หยุดร้องไห้ได้แล้ว ถ้าวิธีนี้ใช้ได้ผลก็ทำให้เป็นช่วงเวลาที่ดีเสียเลยค่ะ เช่น พาลูกดูรอบๆ บ้าน ดูท้องฟ้า คุยกับลูกเกี่ยวกับโลกรอบๆ บ้านเรานี่แหละ
6. น้ำอุ่นๆ
น้ำอุ่นช่วยปลอบประโลมใจลูกและหยุดน้ำตาลูกทารกได้เหมือนๆ กับอากาศบริสุทธิ์เลยค่ะ เวลาจะเปลี่ยนบรรยากาศตอนอาบน้ำ ใช้แขนหนึ่งอุ้มลูกไว้ใต้ฝักบัวที่เปิดน้ำอุ่นเบาๆ แต่อย่าฝืนถ้าลูกไม่ชอบเสียงหรือน้ำที่กระเด็กมาโดนตัวเขา แต่เบบี๋บางคนก็ชอบ แต่ต้องมั่นใจว่าพื้นห้องน้ำไม่ลื่นด้วย
7. การเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวที่ข้องเกี่ยวกับการอุ้มลูกไว้ในแขน หรือใส่ลูกเข้าเป้อุ้มเด็กถือว่าใช้ได้ทั้งหมด วิธีอื่นเช่น เก้าอี้โยก ชิงช้า เปล นั่งรถเข็นหรือนั่งรถยนต์
8. การนวด
ทารกส่วนใหญ่ชอบถูกสัมผัส ดังนั้นการนวดก็ช่วยได้ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะทำไม่ถูก ขอให้นวดอย่างนุ่มนวลและช้าๆ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกสบายได้
อ่านต่อ “เทคนิคอื่นๆ เมื่อต้องรับมือลูกทารกร้องไห้” คลิกหน้า 3
ไอเดียอื่นๆ
สำหรับเทคนิคอื่นที่จะช่วยให้ลูกหยุดร้องไห้และสงบลงได้ ลองอ่านเรื่องการรับมือกับลูกร้องไห้โคลิกดูได้ค่ะ ถึงลูกจะไม่ได้ร้องไห้แบบโคลิกก็อาจจะได้เทคนิคดีๆ สำหรับใช้เวลาลูกงอแงในกรณีอื่นด้วย
ให้ตัวเองได้ “พัก” บ้าง
ลูกทารกที่หยุดร้องไห้ไม่ได้ง่ายๆ ย่อมทำให้พ่อแม่เครียดได้มาก แต่โชคดีที่เมื่อลูกโตขึ้น เขาก็จะปลอบตัวเองได้และจะหยุดร้องไห้หนักๆ ไปเองค่ะ ดังนั้นไม่ต้องรู้สึกผิดถ้าอยากจะดูแลใจตัวเองบ้างเหมือนกับที่ดูลูก เพราะจะทำให้คุณพ่อคุณแม่อดทนได้มากขึ้นและเป็นพ่อแม่ที่น่ารักใจดีอีกด้วย หากรู้สึกว่าจะทนไม่ได้แล้ว ลองทำวิธีเหล่านี้ดูค่ะ
- วางลูกลงในที่ปลอดภัยและปล่อยให้เขาร้องไห้ไปสักพัก
- โทรหาเพื่อนหรือญาติเพื่อขอคำแนะนำ
- ปล่อยให้คนที่เชื่อใจดูแลลูกแทนสักพัก
- ฟังเพลงเบาๆ เพื่อหันเหความสนใจออกจากลูก
- หายใจลึกๆ
- เตือนตัวเองว่าการร้องไห้ไม่ได้ทำให้ลูกเจ็บตัว ลูกอาจจะแค่อยากปลดปล่อยความเครียดก็ได้
- ย้ำกับตัวเองว่า “ในที่สุดลูกก็จะโตจนผ่านพ้นช่วงนี้ไป”
- ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ห้ามแสดงความกดดันของตัวเองโดยการเขย่าตัวลูก (อ่านเพิ่มเติม อุ้มโยน เขย่า ดึงแขน อันตรายกับลูกน้อยกว่าที่คิด)
ที่มา: babycenter.com
ภาพ: Shutterstock