คุณพ่อ คุณแม่คงเคยพบกับอาการที่เด็กร้องไห้ไม่ยอมหยุด ร้องไห้แบบไม่มีสาเหตุ และสงสัยว่าเกิดมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ ซึ่งความเชื่อของคนโบราณมักจะบอกกันว่า ที่เด็กทารกร้องไห้นั้นเพราะเขาเห็นแม่ซื้อ หรือวิญญาณที่อยู่ใกล้ตัว ส่วนในทางการแพทย์เรียกอาการนี้ว่า โคลิค
เด็กร้องไห้ไม่ยอมหยุด แม่ซื้อ หรือ โคลิค
แม่ซื้อ เรื่องของความเชื่อ
ในสมัยโบราณเวลาที่เด็กๆ ร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ ร้องเสียงดัง และไม่ยอมหยุด เชื่อกันว่า เด็กมองเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัว เช่น วิญญาณ หรือ แม่ซื้อ และเล่ากันต่อๆ มาถึงหลายๆ สาเหตุ เช่น แม่ซื้อมากวน ชวนให้เล่นด้วย, ถูกเร่งให้มาเกิด ยังไม่พร้อมที่จะมา, เด็กเห็นในสิ่งที่เราไม่เห็น, นมแม่เป็นพิษ, ดวงไม่ถูกกับพ่อแม่, เป็นซาง (กินน้อย ไม่ยอมกิน ทั้งที่ไม่ได้เจ็บป่วย), สวรรค์กำลังทดสอบความเป็นแม่ ถ้าผ่านไปได้ จะได้ผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่
แม่ซื้อคือใคร?
แม่ซื้อ คือเทวดา หรือผีที่คอยดูแลเด็กทารก เชื่อกันว่าเด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีแม่ซื้อประจำวันเกิดคอยดูแล เพื่อปกปักษ์รักษา ไม่ให้เด็กเจ็บไข้ได้ป่วย แม่ซื้อประจำวันเกิดทุกตนทรงอาภรณ์ (เสื้อผ้า) สีทอง มีดังนี้
- วันอาทิตย์ ชื่อว่า “วิจิตรมาวรรณ” มีหัวเป็นสิงห์ ผิวกายสีแดง
- วันจันทร์ ชื่อว่า “วรรณนงคราญ” มีหัวเป็นม้า ผิวกายสีขาวนวล
- วันอังคาร ชื่อว่า “ยักษ์บริสุทธิ์” มีหัวเป็นควาย ผิวกายสีชมพู
- วันพุธ ชื่อว่า ”สามลทัศ” มีหัวเป็นช้าง ผิวกายสีเขียว
- วันพฤหัสบดี ชื่อว่า “กาโลทุกข์” มีหัวเป็นกวาง ผิวกายสีเหลืองอ่อน
- วันศุกร์ ชื่อว่า “ยักษ์นงเยาว์” มีหัวเป็นโค ผิวกายสีฟ้าอ่อน
- วันเสาร์ ชื่อว่า “เอกาไลย์” มีหัวเป็นเสือ ผิวกายสีดำ
ตามความเชื่อ แม้ว่าแม่ซื้อจะถือว่าเป็นพี่เลี้ยงทารกก็จริงอยู่ แต่บางครั้งก็ให้โทษได้เช่นกัน มีการแปลงเพศพันธุ์เป็นสิ่งต่างๆ หลอกหลอนให้ทารกตกใจ หรือเจ็บป่วยได้ ดังนั้น เพื่อให้ทารกหายเป็นปกติ จึงมีการจัดพิธี “ทำแม่ซื้อ”หรือ “เสียแม่ซื้อ” ขึ้น เพื่อให้เด็กทารกหายจากอาการสะดุ้งผวา หรือการเจ็บไข้ได้ป่วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “เรื่องของหลักวิทยาศาสตร์” คลิกหน้า 2
เรื่องของหลักวิทยาศาสตร์
โคลิค คือ การร้องไห้ที่มีลักษณะที่รุนแรงเป็นพิเศษ ไม่เหมือนการร้องไห้แบบปกติธรรมดา เพราะไม่ว่าจะอุ้ม หรือปลอบ ร้องเพลง ให้กินนม ก็ไม่สามารถทำให้หยุดร้องได้ และสามารถร้องไห้ได้เป็นชั่วโมงๆ มักเป็นตรงเวลาทุกวัน ทางวิทยาศาสตร์เรียกอาการเหล่านี้ว่า โคลิค คนไทยมักเรียกกันว่า “เด็กร้องร้อยวัน”
โคลิคเกิดจากอะไร?
- พื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก
- เด็กกลืนอากาศขณะดูดนมเข้าไปมาก
- ผู้ดูแลไม่สามารถทำให้เด็กเรอได้เพียงพอ อากาศในท้องจึงก่อให้เด็กเกิดอาการแน่นอึดอัดท้อง
- เด็กอยู่ในท่านอนที่ไม่เหมาะสม
- เด็กกินมากเกินไป หรือกินน้อยเกินไป
- ครอบครัวมีความเครียด ความวิตกกังวลมาก พบว่าความเครียดของแม่ตั้งครรภ์ทำให้เกิดโคลิค
- เกิดในเด็กที่มีภาวะ/โรคกรดไหลย้อน
- เกิดในเด็กที่มีการเคลื่อนตัวของลำไส้ผิดปกติ คือมีการเคลื่อนตัวของลำไส้มากเกินไป
- เกิดในเด็กกินอาหารพวกแป้งมากเกินไป ทำให้ลำไส้ย่อยแป้งไม่หมด ทำให้เกิดแก๊สในลำไส้มาก
- ในเด็กที่มีการแพ้อาหาร หรือในเด็กที่ได้รับน้ำผลไม้บางอย่าง เช่น น้ำแอปเปิล
- เด็กที่บิดา มารดา มีปัญหาทางอารมณ์
- มีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียในลำไส้เด็ก เมื่อลดแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าวโคลิคก็ลดลง
แพทย์วินิจฉัยภาวะโคลิคได้อย่างไร?
- พบในเด็กอายุ 3 เดือนแรกของชีวิต
- อาการเกิดแบบเฉียบพลัน และมักเกิดในเวลาเดิมๆ ของวัน มักเกิดช่วงค่ำ เด็กร้องนานนับชั่วโมง
- มีอาการแสดงของการปวดท้อง ท้องอืด ปวดเป็นพักๆ (Colicky pain)
- แพทย์ตรวจไม่พบความผิดปกติอย่างอื่น
- พ่อแม่มักจะมีบุคลิกเครียดและวิตกกังวล
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ “รักษาโคลิค อย่างไร?” คลิกหน้า 3
รักษาโคลิค อย่างไร?
- ในลูกที่ดื่มนมแม่ แม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างที่ทำให้เกิดการแพ้อาหารในเด็ก เช่น นมวัว
- ลดความเครียดในครอบครัว ให้พ่อแม่เข้าใจว่าโคลิคเป็นอาการที่เกิดชั่วคราวและจะหายได้เอง
- ในเด็กที่ต้องดื่มนมอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ อาจเลือกนมที่แพ้ได้น้อย
- เมื่อให้เด็กดื่มนม หรือน้ำจากขวด ระวังอย่าให้มีอากาศแทรกเข้าไปตรงบริเวณที่เด็กดูดนม
- หลังป้อนนมเด็กเสร็จแล้ว ควรจับให้เด็กนั่ง หรืออุ้มพาดบ่าให้เรอ
- ยาบางชนิดอาจช่วยได้ เช่น ยาลดแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ลดอาการท้องอืด
โดยสรุปการรักษาโคลิคค่อนข้างยาก เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอนและอาจเกิดจากหลายปัจจัย แต่ข้อสำคัญ คุณพ่อ คุณแม่ ต้องทำใจ ต้องใช้เวลา และอดทนในการดูแลเด็กทารกวัยแรกเกิด – 3 เดือน ที่มักจะมีอาการร้องไห้ไม่หยุด ที่เรียกว่า “โคลิค” นี้ค่ะ
เครดิต: พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554, breastfeedingthai.com, ศาสตราจารย์แพทย์หญิง อรุณี เจตศรีสุภาพ
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก
ปล่อยให้ลูกร้องไห้นานๆ ทำลายสมองจริงหรือ?
8 เทคนิครับมือเมื่อลูกทารกร้องไห้อย่าง “ไม่มีเหตุผล”
Save
Save
Save
Save
Save
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่