เสริมความฉลาด สร้างเซลล์สมอง ลูกน้อย ทราบหรือไม่คะว่าในเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับหนึ่งแสนล้านเซลล์สมองซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายวงจรและสามารถเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้เรื่อยๆ หากได้รับการกระตุ้นสมองให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทีมงาน Amarin Baby & Kids มี 7 วิธีเพื่อ เสริมความฉลาด สร้างเซลล์สมอง ลูกน้อย มาฝากกันค่ะ
เสริมความฉลาด สร้างเซลล์สมอง ลูกน้อย
ช่วงตั้งครรภ์คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเซลล์สมองของลูกน้อย สมองของลูกรวมทั้งเซลล์สมองเริ่มสร้างและพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ตอนที่ลูกอยู่ในครรภ์คุณแม่ และจะมีการเติบโตเพิ่มจำนวนขนาด เกิดเป็นเนื้อสมอง และเส้นใยประสาทที่เชื่อมโยงกับสมอง และเชื่อมโยงกันเองเกิดเป็นข่ายใยเส้นประสาทที่ซับซ้อน เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ตั้งแต่ลูกในครรภ์มีอายุประมาณ 8 สัปดาห์
อ่านต่อ >> “การเติบโตของสมองที่น่าอัศจรรย์” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การเติบโตของสมองที่น่าอัศจรรย์
อย่างที่บอกไปว่าสมองของเด็ก รวมทั้งของทุกคนจะเริ่มเติบโตและทำงานตั้งแต่ตอนที่อยู่ในครรภ์ของแม่ ในช่วงแรกสมองจะทำงานเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด แต่หลังจากผ่านขวบปีแรกไปแล้ว สมองจะเริ่มมีการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วไปจนถึง 4 ขวบ สมองของเด็กจะพัฒนาไปถึง 60% จนถึงเด็กอายุ 10 ขวบ ก็จะเจริญเกือบจะเท่าสมองของผู้ใหญ่ และก็จะพัฒนาในส่วนของการเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุด
การที่สมองจะเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีการรับรู้ได้มากนั้น จะต้องมีสิ่งเร้าไปกระตุ้นสมองอยู่เสมอๆ สมองจะยิ่งพัฒนามากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 6 ขวบแรกนั้นเป็นช่วงโอกาสทองของการพัฒนาสมอง เพราะเป็นช่วงที่สมองกำลังเติบโตและต้องการการเรียนรู้ในทุกเรื่อง ถ้าหากมีการสร้างความฉลาดให้ลูกในช่วงนี้ สมองจะรับได้ทันที และเป็นพื้นฐานที่ฝังแน่นติดตัวต่อไปเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ฉะนั้นการเลี้ยงลูกให้ฉลาดนั้นจะเริ่มกันในช่วง 6 ขวบแรก1
อ่านต่อ >> “การกระตุ้นสมองลูกน้อย” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จะกระตุ้นลูกน้อยให้สมองดีได้อย่างไร?
จากบทความเรื่อง “อยากกระตุ้นให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง” ของ รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงว่า “การที่คนเราจะมีสมองดีหรือมีความเฉลียวฉลาดมีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้องหลายประการ ปัจจัยที่สำคัญมี 3 ประการ คือ กรรมพันธุ์ อาหารการกินของแม่ขณะตั้งครรภ์และของลูกภายหลังคลอด และประการสุดท้ายคือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็กทั้งขณะที่อยู่ในท้องและภายหลังคลอด ซึ่งการกระตุ้นพัฒนาการของสมองลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
-
การปรับอารมณ์ให้ดี
จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่าคุณแม่ที่อารมณ์ดีอยู่เสมอจะทำให้ร่างกายมีการหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอนดอร์ฟิน (endorphin) ออกมาผ่านไปทางสายสะดือไปยังลูกทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ)
-
ฟังเพลง
ระบบประสาทการรับฟังของลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน การใช้เสียงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น
-
พูดคุยกับลูก
การพูดคุยกับลูกในครรภ์บ่อยๆ จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด
Must Read ! >> สร้างอัจฉริยะให้ลูก ด้วยการคุยกับลูกในครรภ์
-
ส่องไฟที่หน้าท้อง
ลูกน้อยในครรภ์สามารถกระพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 เดือน การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำให้เซลล์สมองและเส้นประสาทส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้นและเตรียมพร้อมสำหรับการมองเห็นภายหลังคลอด
Must Read ! >> ไฟฉายส่องท้อง กระตุ้นการมองเห็นของลูกได้จริงหรือ???
-
ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสมอง
เนื้อสมองของลูกน้อยในครรภ์มีองค์ประกอบเป็นไขมันโดยเฉพาะไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 60 กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่ความสำคัญต่อพัฒนาการสมองของลูกน้อยในครรภ์คือ กรดไขมันที่มีชื่อว่า ดีเอชเอ (DHA)”2
สมองของลูกจะไม่เกิดการพัฒนาให้มีความเฉลียวฉลาดพร้อมต่อการเรียนรู้ได้มากไปกว่านี้หลังจากคลอดออกมาจากครรภ์ของแล้ว หากไม่ได้รับการกระตุ้นที่ถูกวิธีอย่างต่อเนื่อง เพราะหากร่างกายต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโตขึ้นอย่างสมวัย สมองของลูกก็เช่นเดียวกันที่ต้องการทั้งอาหาร และการได้รับการกระตุ้นอย่างสร้างสรรค์จากพ่อแม่ และคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้อง และคุณครูที่โรงเรียน เป็นต้น
อ่านต่อ >> “7 วิธี เสริมความฉลาด สร้างเซลล์สมอง ลูกน้อย” คลิกหน้า 4
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
Good to Know… “กระบวนการเชื่อมต่อของสมองเรียกว่า ไซแนปส์ ซึ่งการเชื่อมต่อของไซแนปส์สามารถเกิดได้สูงถึง 1,000 ล้านล้านครั้งในระยะเวลา 1-5 ปีแรก ดังนั้นช่วงวัยนี้จึงเป็นระยะเวลาที่สำคัญที่สุดในการเรียนรู้ เพราะสมองของเด็กจะพัฒนาถึง 85% เทียบเท่าสมองของผู้ใหญ่ ที่สำคัญทุก 1 วินาที เซลล์สมองของเด็กจะมีการเชื่อมต่อสูงถึง 700 เซลล์ ซึ่งหมายความว่า สมองของลูกน้อยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”3
รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงทิพวรรณ หรรษคุณาชัย กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์4 แนะนำว่าพ่อแม่ควรส่งเสริมกระตุ้นให้สมองของลูกเกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่เสียโอกาสทองในการเรียนรู้ของสมองไปในช่วงวัย 1-5 ปี ซึ่งคุณหมอก็ได้ให้วิธีในการกระตุ้นสมองของลูกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้ไว้ ดังนี้…
7 วิธี เสริมความฉลาด สร้างเซลล์สมอง ลูกน้อย
1. การสัมผัสและการหัวเราะช่วยพัฒนาสมอง
จากผลสำรวจพบว่าเด็กที่ไม่ค่อยได้เล่น หรือไม่ค่อยได้รับการการสัมผัสโอบกอด จะมีสมองขนาดเล็กกว่าเด็กปกติ 20-30% ทั้งนี้การกอดลูกแน่นๆ หรือการโยกตัวลูกเบาๆ รวมถึงการสัมผัส สบตา และพูดคุยกับลูกมากเท่าไร จะยิ่งช่วยเพิ่มสารอ๊อกซิโตซินและเอนดอร์ฟินในสมองของลูกให้มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ ช่วงแรกเกิดเป็นช่วงที่เส้นใยประสาทของลูกกำลังก่อตัว ถ้าทำให้ลูกหัวเราะ สมองของลูกจะพัฒนาได้เร็ว
2. สมองเรียนรู้จากการเลียนแบบ
ในสมองของมนุษย์เรานั้นมี เซลล์ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า “เซลล์สมองกระจกเงา” (Mirror Neuron) ซึ่งเป็นเซลล์ที่สามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ของมนุษย์ ผ่านการเรียนรู้ การสังเกต และเลียนแบบผู้อื่น กระจกเงาการเรียนรู้ของลูกที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือพ่อแม่นั่นเอง ถ้าพ่อแม่เป็นคนใฝ่รู้ ชอบค้นคว้า ชอบอ่านหนังสือ ภาพเหล่านี้ก็สะท้อนเข้าไปในสมองเด็ก
3. อารมณ์มีผลกับศักยภาพในการเรียนรู้
อารมณ์เชิงลบมีผลต่อสารเคมีที่จะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของสมองลดลง หากลูกน้อยมีความสุข มีความมั่นคงทางอารมณ์ ร่างกายจะหลั่งสารเคมีที่ดีมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ได้เร็วและจดจำได้ดี
อ่านต่อ >> “7 วิธี เสริมความฉลาด สร้างเซลล์สมอง ลูกน้อย” คลิกหน้า 5
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
4. การเล่นช่วยพัฒนาอัจฉริยภาพ
การเล่นมีผลต่อการพัฒนาสมองโดยตรง หากพ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกได้เล่นตามวัยอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยกระตุ้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อทำให้สมองเกิดการพัฒนาการเติบโตได้เป็นอย่างดี
5. พัฒนาสมองด้วยการอ่านหนังสือ
เซลล์สมองจะเชื่อมต่อได้ดีและแตกแขนงออกไปเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมผ่านการเรียนรู้และฝึกใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ โดยเฉพาะทางตาและทางหู การอ่านหนังสือมีอิทธิพลในการกระตุ้นเซลล์สมองที่สำคัญอย่างยิ่ง ช่วยให้เส้นใยสมองเพิ่มมากขึ้น
6. สมองเหมือนกันแต่ฉลาดต่างกัน
เด็กๆ อาจมีขนาดสมองไม่แตกต่างกัน แต่มีศักยภาพสมองที่แตกต่างกันได้ นอกจากพันธุกรรมที่ได้รับมาแต่กำเนิด จุดสำคัญที่ทำให้เด็กฉลาดแตกต่างกันก็คือปริมาณการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง พ่อแม่สามารถส่งเสริมให้เซลล์สมองเด็กเกิดการเชื่อมต่อได้ตั้งแต่ลูกคลอดออกมาโดยให้ลูกได้กินนมแม่ซึ่งมีสารอาหารที่ดีต่อสมองอยู่มากมาย เช่น ดีเอชเอ
7. เครือข่ายใยประสาท
สมองของมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์สมองประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ ทุกครั้งที่เรานึกถึงความทรงจำหรือเกิดความคิดใหม่ๆ เซลล์สมองจะส่งผ่านกระแสไฟฟ้าภายในเซลล์สมองของตนเองและสื่อผ่านไปยังเซลล์อื่นด้วยสารสื่อประสาทอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นทุกๆ ครั้งที่เด็กถูกกระตุ้นให้คิด ให้ทำซ้ำๆ จุดเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นหรือที่มีอยู่แล้วก็จะแข็งแรงขึ้นยิ่งขึ้น4
ช่วงวัย 1-5 ปีแรกคือช่วงวัยทองของสมอง หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ต้องเริ่มต้นกระตุ้นมาตั้งแต่ช่วงที่ลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์ของแม่ และกระตุ้นต่อเนื่องหลังคลอดไปเรื่อยๆ เพราะเมื่อถูกสมองถูกกระตุ้นจะยิ่งเกิดการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นหากอยากจะสร้างให้ลูกเป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาดไม่ใช่เรื่องยาก พ่อแม่คือผู้ช่วยคนสำคัญที่จะส่งเสริมลูกให้มีพัฒนาการทางสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัย และต่อยอดให้มีศักยภาพมากขึ้นเมื่อลูกเติบโตขึ้นในอนาคตข้างหน้า …ด้วยความใส่ใจจากทีมงาน Amarin Baby & Kids
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจ
10 สุดยอด “อาหารบำรุงสมอง” ลูกน้อย
เทคนิคกระตุ้นสมองลูกให้ฉลาดอย่างถูกวิธี
การดูแลลูกในครรภ์ ตั้งแต่ไตรมาส 1 – 3 ทุกวินาทีคือก้าวสำคัญ
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1sites.google.com
2รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์. www.si.mahidol.ac.th
3,4รศ.พญ.ทิพวรรณ หรรษคุณาชัย. www.thaihealth.or.th