AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ขวดนมลูก หมดอายุหรือยัง พ่อแม่รีบเช็คด่วน!

ขวดนมลูก หมดอายุ

ของใช้ลูกบางอย่างคุณแม่จำเป็นต้องลงทุนสูง เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพลูกน้อย ของใช้ที่ต้องลงทุน ได้แก่ ขวดนมลูก และจุกนม ซึ่งขวดนมที่ดีไม่ใช่ขวดนมที่แพงที่สุดเสมอไปแต่ขวดนมที่ได้มาตรฐานนั้นราคาค่อนข้างสูงทีเดียว มีหลากหลายยี่ห้อให้เลือกใช้กันค่ะ

 

การเลือกขวดนมลูก คุณพ่อคุณแม่ควรพิจารณาจากวัสดุที่นำมาผลิต ซึ่งในปัจจุบันขวดนมส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก แต่ขวดพลาสติกก็มีหลายแบบทั้งขวดใส ขวดขาวขุ่น ขวดสีชา ขวดสีน้ำผึ้ง และที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า การที่เด็กดูดนมจากน้ำนมจะไหลออกก็ต่อเมื่อ ปากของเด็กทำการกระตุ้นแต่การดูดจากขวดนั้น น้ำนมจะไหลอยู่ตลอดเวลา จึงอาจจะทำให้เด็กเกิดสำลักน้ำนมได้ ดังนั้น จะต้องมีการฝึกให้เด็กดูดนมจากขวดให้ชินเสียก่อน เพราะเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง เด็กจะสามารถใช้เหงือกกัดไม่ให้น้ำนมไหลออกจากจุกได้

การเลือกขวดนมสำหรับทารก

 

โดยควรเริ่มจากการเลือกลักษณะของจุกนมที่มีมาตรฐาน จะต้องเลือกขนาดของจุกนมให้เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย ซึ่งในเด็กแรกเกิดอาจจะเลือกที่ไซต์ s ก็ถือว่าเพียงพอ เพราะหากเลือกขนาดที่ไม่เหมาะสม จะทำให้น้ำนมไหลเข้าปากเด็กเร็วเกินไป

ซึ่งขวดนมที่ผ่านมาตรฐานและปลอดภัยสำหรับทารกคือ ขวดนมที่ผลิตจากโพลีพรอพพีลีน หรือ PP ขวนมประเภทนี้
คุณแม่จะรู้จักดีในชื่อเรียกกันคือ ขวดนม BPA Free (อ่านต่อ "BPA free สำคัญต่อลูกน้อยอย่างไร?)

 อันตรายของสาร BPA ต่อทารกในขวดนมที่ไม่ได้มาตราฐาน 

BPA สารอันตราย มีผลต่อการสร้างเซลล์สมอง ระบบประสาท ความทรงจำ การเรียนรู้มีผลต่อฮอร์โมนการเจริญเติบโต และการสืบพันธุ์ ทำให้เด็กเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วเกินไปเด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน และไฮเปอร์แอคทีฟก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคเบาหวาน และโรคหัวใจยิ่งสะสมในร่างกายมากเท่าใด ก็จะยิ่งไปลดศักยภาพการทำงานของร่างกายมากขึ้นที่สำคัญคือ เด็กทารก เมื่อได้รับสาร BPA ก็จะส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าในเด็กโต หรือผู้ใหญ่

ประเภทขวดนม

หลายบ้านที่ให้ลูกใช้ขวดนม…เคยรู้กันบ้างไหมคะว่า!? ขวดนมลูก ก็มีอายุการใช้ โดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นขวดนมสีขาวขุ่น ขาวใส และมีราคาที่แตกต่างกัน >> มาดูขวดนมแต่ละประเภท แตกต่างตามการใช้งาน และมีอายุการใช้งานที่ต่างกัน

 ขวดนมลูก 

1. ขวดนมประเภทพลาสติก PP ผลิตจากวัสดุ Polypropylene

เนื้อพลาสติกจะมีสีกึ่งโปร่งใส หรือสีขาวขุ่น สามารถทนอุณหภูมิ -20 – 110 ˚C และมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน ขึ้นกับการดูแลรักษา และและอาจเหลือ 3 เดือนถ้านึ่งหรือต้มบ่อยเกินไปความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ

2. ขวดนมประเภทพลาสติก PES ผลิตจากวัสดุ Polyethersulfone

เนื้อพลาสติกออกสีน้ำผึ้ง หรือสีชา สามารถทนอุณหภูมิ -50 – 180 ˚C และมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ

3. ขวดนม PPSU ผลิตจากวัสดุ polyphenylsulfone

ขวดสีน้ำตาลอ่อน เช่น ขวดนมสีชา สามารถทนอุณหภูมิ -50 – 180 ˚C และมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 8 เดือน ถึง 2 ปี ขึ้นกับการดูแลรักษา และความถี่ในการต้ม หรือนึ่งฆ่าเชื้อ

4. ขวดนมแก้ว

สุดคุ้มมีความนิยมน้อย แต่มีอายุการใช้งานไม่จำกัด จนกว่าจะแตกหรือมีรอยขูดข่วน ทั้งยังลดความเสี่ยงจากสาร BPA ในพลาสติกเมื่อถูกความร้อน ซึ่งมีข้อเสียคือ มีน้ำหนักมากกว่า ตกแตกได้ง่าย ราคาแพงกว่า และมีไม่กี่ยี่ห้อให้เลือก

 อ่านต่อ >> “อายุการใช้งานของจุกนม” คลิกหน้า 2 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

จุกนม

 จุกนม 

5. จุกนมซิลิโคน ทนความร้อน 120 ˚C มีอายุการใช้งาน 6 เดือน ถ้าดูแลอย่างถูกวิธี แต่อาจต้องเปลี่ยนเร็วขึ้นหากผ่านความร้อนสูงบ่อยเกินไป

6. จุกนมยาง ทนความร้อน 100 ˚C มีอายุการใช้งานปกติ 3 เดือน แต่หากผ่านความร้อนสูงบ่อย อาจต้องเปลี่ยนก่อน

วิธีสังเกตจุกนมเสื่อม

อายุของจุกนม ขึ้นอยู่กับชนิดและการใช้งานของเรา เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องหมั่นตรวจดูทุก 2-3 เดือน ถ้าจุกนมมีอาการดังต่อไปนี้ให้รีบเปลี่ยนทันทีค่ะ

1. น้ำนมไหลออกมาเป็นสาย หรือไหลออกมาไม่สม่ำเสมอปกติแล้วน้ำนมจะไหลออกมาเป็นหยด ถ้าเมื่อไหร่ที่ไหลออกมาเป็นสายล่ะก็ แสดงว่าจุกนมเสื่อสภาพ เพราะรูจุกนมนั้นใหญ่เกินไป

2. จุกยางเสื่อม เมื่อใช้ไปนาน ๆ หรือผ่านการต้มฆ่าเชื้อโรคบ่อย ๆ ยางจะบางลงและเสียรูปทรง เรามีวิธีทดสอบคุณภาพยางง่าย ๆ ค่ะ โดยการดึงจุกนม ออกมาตรง ๆ แล้วก็ปล่อย ถ้าจุกนมหดกลับสู่สภาพเดิมก็แสดงว่ายังใช้ได้ แต่ถ้าไม่กลับไปอยู่ในรูปเดิม เปลี่ยนใหม่เถอะค่ะ

3. สีของจุกนมซีดลง จุกนมบวม เนื้อยางบวมนิ่ม เวลาที่ลูกดูดจุกจะแบนจนน้ำนมไม่ไหล แสดงว่าเสื่อมสภาพแล้วค่ะ

4.จุกนมมีรอยแตกหรือขาด ต้องเลิกใช้ทันทีเพราะอาจจะมีเศษยางหลุดปนเข้าไปในปากขณะที่ลูกดูดนม เศษยางอาจจะไปติดหลอดลม ปิดกั้นทางเดินหายใจเป้นเหตุให้ทารกเสียชีวิตได้ค่ะ

 

การดูแลรักษาทำความสะอาดขวดนมและจุกนม

วิธีการดูแลรักษาทำความสะอาดขวดนมและจุกนม

การทำความสะอากขวดนมและจุกนม สิ่งสำคัญคือเลือกใช้ชนิดที่แปรงทำความสะอาดได้ทั่วถึง ขจัดคราบนมที่ติดค้างในขวดได้หมด ขวดแก้วนั้นเหมาะกับทารกวัยอ่อนที่คุณแม่ยังถือขวดนมให้ดูด เพราะทำความสะอาดง่าย ทนทาน แต่มีน้ำหนักมาก เด็กยังดูดนมไม่มาก เลือกเป็นขวดแก้วขนาดไม่เกิน 4 ออนซ์ก็พอ ถ้าหากทารกโตขึ้นประมาณ 4-5 เดือนและถือขวดนมเองได้แล้วควรเลือกขวดนมพลาสติกคุณภาพดีขนาดใหญ่ขึ้น คือ 8 ออนซ์ จำนวนที่ควรหาซื้อไว้คือ 3-4 ขวด เพื่อให้พอใช้ใน 1 วัน แต่ต้องล้างขวดไปทุกมื้อหลังใช้งาน

การดูแลรักษาทำความสะอาดขวดนมและจุกนม

การล้างขวดนม เติมน้ำเปล่าลงในขวดแล้วใช้แปรงถู แล้วล้างออกด้วยน้ำเปล่า มองดูว่าหมดคราบหรือยัง จากนั้นนำไปต้มในน้ำเดือดนาน 15 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรค อย่าเอาไปต้มโดยไม่ได้ล้าง เพราะอาจทำให้การฆ่าเชื้อโรคไม่ดีพอ และเกิดคราบสกปรกที่ขวดนม มองดูไม่สะอาด ไม่น่าดู เมื่อคว่ำขวดนมที่ผ่านการต้ม รอจนขวดนมแห้งจึงนำมาผสมนมสำหรับให้ลูกดื่ม

ไม่ว่าจะใช้ขวดนมและจุกนมที่มีราคาถูกหรือแพง ควรดูแลรักษาให้ถูกวิธี หากเลือกขวดราคาแพง ควรถนอม ด้วยการล้างขวดนมด้วยแปรงขนนิ่ม ฟองน้ำ หรือแปรงซิลิโคน เพื่อให้การใช้งานได้นานขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก : women.thaiza.com

Save

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids