AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

6 โรคฮิต ที่เบบี๋มักเป็น คุณแม่มือใหม่ต้องรู้ไว้!

โรคฮิตของลูกน้อย ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

โรคฮิตของลูกน้อย …เมื่อเด็กเจ็บป่วย สิ่งสำคัญพ่อแม่จะทราบได้ก็คือ “อาการของโรค” ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายแสดงออกมา เพื่อแสดงว่า ร่างกายมีความผิดปกติผันแปรไป เปรียบเสมือนสัญญาณ เตือนว่า ร่างกายเจ็บป่วย หรือเกิดมีโรคขึ้นแล้วในร่างกาย อาการที่เกิดขึ้นอาจสังเกตได้ง่าย แต่บางครั้งก็สังเกตได้ยาก เด็กโต อาจบอกอาการได้ แต่เด็กเล็กไม่สามารถบอกได้ บิดามารดา หรือผู้ปกครองจะต้องสังเกตเอาเอง โดยทั่วไปเวลาเด็กเจ็บป่วย มักแสดงอาการ 2-3 อย่างร่วมกันไปเสมอ เช่น มีไข้ร่วมกับ เจ็บคอ ไอ หรือ อุจจาระร่วงกับอาเจียน เป็นต้น

โรคภัยต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็กมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด บางโรคอาจเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก หรือเกิดจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็กเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรต้องรู้ว่ามีโรคอะไรบ้างที่ต้องระวัง และอาการของโรคแต่ละชนิดเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้แก้ไขได้ทันการค่ะ

6 โรคฮิตของลูกน้อย ที่มักเป็นบ่อย!

1. ไข้หวัด

           • อาการ มีน้ำมูก คัดจมูก ไอและมีไข้ ลูกยังอาจจะนอนและกินนมไม่ค่อยได้ด้วย (ถ้าคัดจมูก การดูดนมแม่หรือนมขวดก็จะกลายเป็นเรื่องยาก)

           • กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ ถ้าเป็นลูกวัยแรกเกิด ให้พาไปพบแพทย์ทันที แต่ถ้าลูกวัยต่ำกว่า 6 เดือน อาการอาจจะรุนแรงจนทำให้เขากินนม หายใจหรือนอนไม่ค่อยได้ ต้องพาไปพบแพทย์เช่นกัน

           • วิธีรับมือ ล้างจมูกให้ลูกหายใจสะดวกโดยใช้น้ำเกลือและลูกยางแดง และเปิดเครื่องทำความชื้น อากาศในห้องจะได้ไม่แห้งเกินไป แต่อย่าใช้วิธีปรับระดับหัวเตียงให้สูงขึ้นหรือให้ลูกนั่งหลับในคาร์ซีทเด็ดขาด เพราะเป็นวิธีที่อันตราย

อ่านต่อ >> “โรคฮิตของลูกน้อย ที่มักเป็นบ่อย!” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

โรคที่เกิดขึ้นในวัยทารก

2. ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี

           • อาการ ในผู้ใหญ่และเด็กโต อาการดูคล้ายไข้หวัด แต่ในลูกวัยแรกเกิด การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีที่ปอดอาจทำให้หลอดลมฝอยอักเสบหรือปอดบวมได้ จึงต้องคอยสังเกตว่าลูกหายใจเสียงวี้ดๆ หายใจลำบาก (เวลาที่พยายามสูดลมหายใจ หน้าอกจะบุ๋มลงไป) และมีไข้สูงหรือเปล่า

           • กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ โทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่ลูกมีอาการไอหรือหายใจเสียงวี๊ดๆ และถ้าเขาหายใจลำบากอย่างเห็นได้ชัด ต้องพาไปพบแพทย์ทันที

           • วิธีรับมือ สำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดและทารกที่หัวใจ ปอดมีปัญหาแต่กำเนิด ไวรัสอาร์เอสวีจะอันตรายมากเป็นพิเศษ แพทย์จึงอาจจะแนะนำให้ใช้ยาฉีดที่ช่วยลดความรุนแรงของการติดเชื้อโดยให้ฉีดเดือนละ 1 เข็ม และถ้าลูกติดเชื้อ น้ำเกลือล้างจมูก ลูกยางแดงและเครื่องทำความชื้นก็ช่วยบรรเทาอาการได้ ส่วนยาลดไข้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

3. กล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ (คอตีบเทียม)

           • อาการ ไอเสียงก้อง มักจะแย่ลงในตอนกลางคืน

           • กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ ควรโทรศัพท์ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่ลูกไอเสียงแปลกๆ เพราะลักษณะการไอของโรคนี้ชัดเจนมากจนแพทย์มักจะวินิจฉัยได้จากการฟังเสียงไอทางโทรศัพท์

           • วิธีรับมือ แพทย์จะแนะนำให้คุณพาลูกเข้าไปนั่ง “อบไอน้ำ” ในห้องน้ำที่ปิดประตูและเปิดน้ำร้อนทิ้งไว้จนเกิดไอไปทั่วห้อง หากใช้วิธีนี้แล้วไม่ทำให้อาการไอทุเลาลงภายใน 15-20 นาที หรือเห็นว่าเวลาลูกหายใจ ซี่โครงจะบุ๋มลงไป รีบพาไปพบแพทย์ เพื่อให้ยาในการเปิดทางเดินหายใจ

อ่านต่อ >> “โรคฮิตของลูกน้อย ที่มักเป็นบ่อย!” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

โรคที่เกิดขึ้นในวัยทารก

4. ไข้หวัดใหญ่

           • อาการ ลูกอาจจะไอ มีน้ำมูกและอาเจียน แต่อาการที่ชัดเจนที่สุดคือมีไข้ โดยทารกที่เป็นไข้หวัดใหญ่จะมีไข้สูงกว่าทารกที่เป็นไข้หวัด และตอนที่ไข้สูง ก็จะซึม เล่นและกินไม่ค่อยได้

           • กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ ถ้าเห็นว่าลูกมีอาการคล้ายจะเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไข้หวัดใหญ่เพราะเด็กอเมริกันวัยต่ำกว่า 5 ขวบต้องนอนโรงพยาบาลเนื่องด้วยภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ในแต่ละปีมากกว่า 20,000 คน ส่วนในเด็กวัยต่ำกว่า 2 ขวบก็มีความเสี่ยงสูงเช่นเดียวกัน

           • วิธีรับมือ ถ้าได้ผลตรวจซึ่งบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ แพทย์ก็อาจจะสั่งยาต้านไวรัส (เช่น ยา Tamiflu) ให้ลูก อย่าลืมปรึกษาแพทย์เรื่องการใช้ยาลดไข้ด้วย และถึงลูกจะกินนมได้ทีละนิด คุณก็ควรจะพยายามให้นมบ่อยๆเพื่อให้เขาได้รับสารอาหารที่จำเป็น

5. ไอกรน

           • อาการ ลูกจะเริ่มมีอาการคล้ายกับไข้หวัด แต่หลังจากผ่านไป 1-2 สัปดาห์ จะมีอาการไออย่างรุนแรง ตามด้วยหายใจเสียงดัง แต่ไอกรนก็เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

           • กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ ถ้าติดเชื้อไอกรน ทารกมักซึมจนกินอะไรไม่ได้แม้จะยังไม่เริ่มไอก็ตาม เราจึงควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เมื่อเห็นว่าเขามีอาการของโรคนี้ เพราะ 50% ของทารกวัยต่ำกว่า 1 ขวบที่ติดเชื้อไอกรนต้องนอนโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา

           • วิธีรับมือ แพทย์จะรักษาการติดเชื้อไอกรนโดยใช้อะซิโทรมัยซินซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ และถ้าลูกมีอาการไออย่างรุนแรงร่วมกับอาเจียน หายใจลำบากหรือหยุดหายใจครู่สั้นๆ แพทย์ก็จำเป็นจะต้องให้เขานอนโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา

6. หวัดลงกระเพาะ

           • อาการ ถ้าเกิดอาการท้องร่วงและอาเจียน เป็นไปได้ว่าลูกอาจติดเชื้อโนโรไวรัส สาเหตุหลักของโรค “หวัดลงกระเพาะ” ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายมาก สำหรับอาการนี้มักจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน

           • กรณีที่ต้องถึงมือแพทย์ ถ้าลูกมีอาการคล้ายปวดท้องหรือเพลียจนไม่มีแรงดูดนม อุจจาระมีมูกเลือดหรือมีอาการที่บ่งชี้ว่ามีภาวะขาดน้ำ (กระหม่อมบุ๋ม ผิวขาดความยืดหยุ่นหรือปัสสาวะน้อยมาก) รีบพาไปพบแพทย์

           • วิธีรับมือ คอยระวังอย่าให้ลูกมีภาวะขาดน้ำโดยพยายามให้นมแม่หรือนมขวดบ่อยๆ แม้เขาจะกินได้แค่ทีละนิดก็ตาม

โรคฮิต หรือโรคที่เป็นอันตรายสำหรับเด็กเล็กยังมีอีกหลายโรค เพียงแต่ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ดังนั้นคุณแม่ควรใส่ใจและสังเกตอาการต่างๆของลูกตลอดเวลา และควรจะฉีดวัคซีนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ครบทุกเข็ม ส่วนวัคซีนเสริมจะฉีดหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณแม่เองค่ะ เพราะการฉีดวัคซีนนั้นเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของโรคอย่างหนึ่งค่ะ


บทความและภาพโดย : กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids