การเฝ้าดูลูกน้อยของคุณเรียนรู้ที่จะคลานและเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ แต่ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะคลานตามแบบเดิม ทีมงาน Amarin Baby & Kids จึงรวบรวม 7 ท่าคลานทารก ท่าคลานแบบไหนเป็นท่าประจำตัวของเข้าตัวเล็กกันนะ
7 ท่าคลานทารก เมื่อลูกน้อยเริ่มคลาน ลูกเราคลานท่าไหนนะ
เมื่อไรที่ลูกเริ่มคลาน?
การคลาน คือการเคลื่อนไหวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งการเคลื่อนไหวจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกน้อยและยังทำให้ลูกรู้สึกเป็นอิสระมากขึ้น และการคลาน เป็นก้าวแรกของพัฒนาการการเคลื่อนไหวของทารก ซึ่งโดยปกติ เด็กจะเริ่มคลานเมื่ออายุ 6-10 เดือน เมื่อเด็กมีความพร้อมที่จะเคลื่อนไหว เด็กจะเริ่มโยกตัว ผลัก ดึง หรือ ดันตัวเอง และจะทำซ้ำๆ จนกระทั่งกล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้นจนสามารถดันตัวเองมาอยู่ในท่าคลานสี่จุดเพื่อเริ่มคลาน แต่ ท่าคลานทารก แต่ละคนไม่เหมือนกัน ลูกเราไม่จำเป็นต้องคลานสวยงามเหมือนหนูน้อยในโฆษณาทีวี เพราะไม่มีท่าทางไหนที่ถูกต้องที่สุดสำหรับการคลานหรอกค่ะ ลองดูซิว่าท่าคลานเหล่านี้ แบบไหนเป็นท่าประจำตัวของเจ้าตัวเล็กของคุณ
7 ท่าคลานทารก
1.คลานแบบปกติ การเคลื่อนที่จากข้างหนึ่งข้างหนึ่ง โดยใช้เข่าและมือทั้งสองข้าง ก้าวสลับกันไปมา การคลานแบบนี้เป็นการคลานแบบปกติ เป็นการใช้แขนขาสลับกัน
2. คลานแบบหมี ลักษณะการคลานจะคล้ายท่าคลานแบบปกติ เพียงแต่ใช้เท้าในการคลานแทนการใช้เข่า โดยขาทั้งสองข้างจะยืดตรง ก้นจะโด่ง ท่านี้จะดูเหมือนการเดินของหมี การเดินในท่านี้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือและขา ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรงจนพร้อมที่จะยืนและเดินได้เร็วขึ้น
3. ท่าหน่วยคอมมานโด (หรือท่าคลานด้วยพุง) เหมือนทหารยามรบ ที่ทำตัวติดพื้นและใช้แขนดึงตัวให้ขยับไปข้างหน้าพร้อมกับพุงช่วยดัน ท่าคลานด้วยพุงจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อท้อง และเด็กที่คลานในท่านี้อาจจะเปลี่ยนไปคลานในท่าปกติในเวลาต่อมา
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
4. คลานด้วยก้น เหมือนการคลานในท่านั่ง เด็กจะนั่งแล้วใช้มือทั้งสองข้างก้าวไปข้างหน้า แล้วไถก้นตามไป โดยส่วนมากเด็กที่คลานท่านี้จะชอบมองสิ่งต่างๆ รอบตัว จนไม่อยากที่จะก้มหน้าคลาน
5. คลานท่าปู คล้ายการคลานด้วยท่าก้น เพียงแต่จะใช้แขนเพียงข้างเดียวในการคลาน ส่วนขาจะยกขึ้นชันเข่าหนึ่งข้าง แล้วไถก้นไปหามือ แต่แทนที่จะดึงร่างกายไปตามแขนเพื่อให้ขยับไปข้างหน้า แต่เปลี่ยนเป็นวิธีผลัก (ไม่เลือก) แทน ซึ่งจะทำให้ลูกสามารถเคลื่อนที่ไปข้างหลังซ้าย ขวา หรือทางใดก็ได้ (สำหรับท่านี้ขอบอกว่าจะทำให้เจ้าตัวเล็กชนโน่นชนนี่จนร้องไห้จ้าเป็นธรรมดา)
6. คลานไปกลิ้งไป การคลานจะคล้ายการพลิกคว่ำพลิกหงายหรือกลิ้งไปด้านข้าง เด็กที่คลานด้วยท่านี้จะเคลื่อนที่ได้เร็วแต่ไร้ทิศทาง
7. ไม่คลาน ในเด็กบางคนก็อาจจะไม่อยากคลาน อาจจะข้ามขั้นจากนั่งเป็นเกาะยืนและเดินเลยโดยไม่มีช่วงคลาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ต้องกังวลหากลูกชอบที่จะเกาะยืนหรือเดินมากกว่า
ประโยชน์ของการคลาน
การคลานก็มีประโยชน์นะ นอกจากจะทำให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแล้ว การคลานยังช่วยฝึกการแบกรับน้ำหนักตัวด้วยมือและเข่า ฝึกการทรงตัว ประสานงานการทำงานของมือและเข่าให้ไปในทิศทางเดียวกัน พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้พร้อมสำหรับพัฒนาการก้าวต่อไป สำหรับเด็กที่ไม่ได้คลานในท่าปกติอาจจะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อมือหรือเท้ามากนัก คุณแม่สามารถให้ลูกบริหารกล้ามเนื้อมือและเท้าในแบบอื่นแทนได้ เช่น การใช้รถผลักเดิน หรือให้ลูกนั่งโดยใช้เข่าเพื่อเอื้อมหยิบจับของเล่น
วิธีกระตุ้นให้ลูกคลาน
หากลูกอยู่ในวัยที่เริ่มคลานแล้ว คุณแม่อาจเป็นตัวช่วยให้ลูกคลานได้ไวขึ้น โดยใช้วิธีดังนี้
- ให้ลูกได้เล่นในขณะที่นอนคว่ำบ่อยๆ
- วางสิ่งของหรือของเล่นที่ลูกชอบหรือสนใจไว้ไกลตัว เพื่อให้ลูกได้เอื้อมจับ
- ใช้มือรองรับน้ำหนักตรงช่วงหน้าอกและท้อง เพื่อให้ลูกอยู่ในท่าคลานแล้วเคลื่อนมือไปข้างหน้าและข้างหลัง
- วางมือไปที่ฝ่าเท้าของลูกแล้วให้ลูกได้ฝึกผลักมือของคุณแม่ออก
เตรียมบ้านให้พร้อมสำหรับการคลาน
เมื่อลูกน้อยเริ่มคลาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบบ้านจะเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับลูกไปหมด ดังนั้น คุณแม่ควรเตรียมบ้านให้พร้อมและปลอดภัยอยู่เสมอ หรือคุณแม่อาจจะจัดที่สำหรับให้ลูกได้คลานโดยเฉพาะ โดยให้ลูกคลานในที่ที่กั้นไว้ และคลานบนแผ่นรองคลาน หรือพื้นที่ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป แต่หากไม่สามารถกั้นได้ คุณแม่ควรเตรียมบ้านดังนี้
- ควรเก็บสิ่งของชิ้นเล็กๆ ที่ลูกอาจจะนำเข้าปากได้
- ควรปิดเหลี่ยมมุมตามขอบโต๊ะเตียง
- ควรปิดรูปลั๊กไฟ และ ไม่ควรวางอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าไว้ตามพื้น
- สำหรับเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของต่างๆ ที่อยู่สูง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าจะไม่ตกลงมาได้ง่ายๆ
- ควรหาที่กั้นบันไดมาติดตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกคลานขึ้นบันได
- น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือสารเคมีต่างๆ ควรเก็บให้มิดชิด
การที่ลูกไม่ได้คลานในท่าปกติ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวลแต่อย่างใดค่ะ สิ่งสำคัญที่สุดในการคลานคือการได้พัฒนากล้ามเนื้อเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพัฒนาการก้าวต่อไป และสำหรับเด็กบางคนที่ไม่คลาน หากลูกไม่ได้มีอาการปกติอื่นๆ เช่น แขนขาไม่มีแรง การที่ลูกไม่คลานก็ไม่ผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ ลูกอาจจะมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดไปเกาะยืนหรือเดินเลย อย่าลืมนะคะ ว่าเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อเด็กโตขึ้นและพร้อมที่จะทำ เขาจะทำได้อย่างแคล่วคล่องเลยล่ะค่ะ
อ่านบทความที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่นี่
วิธีเลือกซื้อเสื่อรองคลานให้ลูกน้อย ที่ดีมีมาตรฐาน
7 กิจกรรมเล่นกับลูกเสริม พัฒนาการทารก 9 เดือน
ช่วยฝึกลูกนั่ง คลาน ยืน เดิน อย่างถูกวิธี และไม่เร่งลูก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่