AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

9 เดือน : ช่วงจดจำ & เลียนแบบ

9 เดือน นี่คือช่วงวัยแห่งการต่อยอดการเรียนรู้ ทั้งในส่วนของการเลียนแบบและสิ่งที่เรียกว่า แม้มองไม่เห็น เบบี๋ก็รู้แล้วว่าวัตถุนั้นยังคงอยู่ (Object permanence) จะยิ่งสมบูรณ์แบบมากขึ้น

•  ไม่ได้เลียนแบบทันที

ลูกทารกชื่นชอบเกมการเลียนแบบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการแลบลิ้น กระพริบตา ดูดปากเล่น เล่นน้ำลาย หรือการแสดงสีหน้าแบบอื่นๆ

ถ้าคุณมีเวลามากพอที่ได้ใกล้ชิดเบบี๋ คุณจะได้เห็นว่าลูกน้อยวัยนี้ก็อาจจะรอ 2-3 ชั่วโมงหรือรอเป็นวันๆ แล้วค่อยเลียนแบบพฤติกรรมที่เห็น อย่างถ้าคุณใช้ค้อนตอกตะปูให้เขาเห็น วันรุ่งขึ้นเขาก็อาจจะเอาค้อนไม้อันเล็กๆ ของตัวเองมาตอกพื้นเล่นบ้าง ซึ่งเป็นการเลียนแบบสิ่งที่คุณทำให้ดูเมื่อวันวาน และเป็นพฤติกรรมที่นักวิจัยเรียกกันว่า deferred imitation หรือการเลียนแบบที่เกิดขึ้นในภายหลัง

•  มาพิสูจน์กัน

นักวิจัยทำการทดลองโดยสาธิต 3 การกระทำง่ายๆ ให้ทารกวัย 9 เดือนดู คือ

  1. หยิบกระดาษคู่กลางของสมุดขึ้นมา แต่ไม่ได้ดึงออกมา คลี่กระดาษออกให้ราบไปกับสมุดตามเดิม
  2. กดปุ่มสีดำที่ทำให้เกิดเสียงออด
  3. เขย่าไข่พลาสติกสีส้มที่มีนอตและสลักอยู่ข้างใน

หลังจากที่ได้ดูนักวิจัยสาธิตการกระทำ 3 อย่างนี้แล้ว ทารกก็กลับบ้านไป และพอทารกกลับมาที่ห้องทดลองในวันรุ่งขึ้น นักวิจัยก็ทำการทดลองต่อโดยหยิบแผ่นกระดาน ออดและไข่พลาสติกออกมา ซึ่งปรากฏว่าถึงจะไม่เคยใช้ของพวกนี้มาก่อน แต่ทารกส่วนใหญ่ก็เลียนแบบการกระทำที่เคยดูนักวิจัยสาธิตเมื่อวันวานได้ไม่ต่ำกว่า 1 อย่าง เพราะจำได้ทั้งตัวของและวิธีใช้ และพิสูจน์ให้เห็นด้วยการเลียนแบบการกระทำของนักวิจัยนั่นเอง

•  ก้าวหน้าไปอีกขั้น

ถ้าอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่พึงปรารถนาอย่างใช้กระดาษทิชชูเช็ดน้ำมูก รู้จักใช้ผ้าเช็ดปากขณะนั่งกินอาหารสวมหมวกนิรภัยตอนขี่จักรยานและขยันอ่านหนังสือ คุณก็ควรจะแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ให้เขาดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดและสำคัญกว่าการเรียนรู้ในรูปแบบอื่นๆ

พฤติกรรมของคุณยังมีผลต่อพฤติกรรมในเวลาต่อมาของเขาด้วย เช่น ถ้าคุณไม่ยอมสวมหมวกนิรภัยตอนขี่จักรยานและบอกให้เขาสวม เขาก็อาจจะยอมสวมตามที่คุณบอกตอนนั้นเลย แต่พอออกมาขี่จักรยานตามลำพังในเวลาต่อมา เขาก็อาจจะเลียนแบบคุณโดยไม่สวมหมวกนิรภัยเช่นกัน

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง