สำหรับเด็กที่ทานนมจากขวดนม ไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมผง คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกการหยิบจับเพื่อฝึก พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้จาก “ขวดนม” สิ่งของใกล้ตัวที่ลูกต้องใช้อยู่ทุกวันนั่นเองค่ะ
ก้าวแรกของ พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกลูกถือขวดนมเอง
ลูกควรถือขวดนมเองได้ตอนอายุกี่เดือน?
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก คือการพัฒนาการใช้มือและนิ้วในการหยิบจับสิ่งของ เพื่อใช้ในการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน เช่น การหยิบอาหารเข้าปาก การหยิบจับขวดนม ดังนั้น ทารกทุกคนจะเริ่มมี พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ในการหยิบจับสิ่งของได้ตั้งแต่ 4-7 เดือน โดยจะเริ่มถือขวดนมหรือขวดน้ำเองได้ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ในวัยนี้พัฒนาการกล้ามเนื้อส่วนมือ ศีรษะ และคอ แข็งแรงขึ้น สามารถทำงานร่วมกันได้ ดังนั้นทารกจึงถือขวดนมได้แล้ว จะสังเกตได้จากเวลาที่ลูกหิวจริงๆ เขาจะยิ่งจับถือขวดนมเองได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นที่เด็กทุกคนจะสามารถถือขวดนมเองได้เมื่ออายุครบ 6 เดือนนะคะ ในเด็กบางคน อาจจะเริ่มถือขวดนมเองได้เมื่ออายุ 10 เดือน ซึ่งไม่ถือว่าพัฒนาการผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ
นอกจากนี้ ยังมีข้อเตือนใจอยากบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า ถึงลูกถือขวดนมได้แล้ว แต่ถ้ายังอยู่ในช่วง 6 – 9 เดือน ไม่ควรปล่อยให้เขากินนมตามลำพัง เพราะลูกเล็กๆ ยังอยากให้แม่อุ้ม อยากอยู่ในอ้อมอก อ้อมแขนของแม่ ยังต้องการสัมผัสจากแม่อยู่ สิ่งที่ควรทำคือ เวลาลูกดูดนมจากขวด คุณแม่อาจจะให้เขานั่งเก้าอี้ซึ่งมีความสูงระดับที่มือคุณแม่จับตัวลูกได้ เพื่อให้รู้สึกถึงสัมผัสจากแม่ขณะที่ลูกนั่งดูดนมจากขวด
ข้อดีอีกอย่างคือ เขาจะได้พิงหลังจังหวะพักขณะดูด และที่สำคัญอย่าปล่อยลูกหลับคาขวดนม เพราะน้ำนมจะทำให้ฟันผุ หรือมีการติดเชื้อในหูได้ค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ เคล็ดลับง๊ายง่าย ฝึกลูกถือขวดนมเอง
ขั้นตอนการฝึกลูกถือขวดนมเอง
พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไม่สามารถสร้างขึ้นได้ภายในวันเดียว ดังนั้น การฝึกการหยิบจับสิ่งของ จึงควรฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ในช่วงที่คุณแม่ให้นม แทนที่จะจับขวดให้ลูกเพียงอย่างเดียว ลองเอามือลูกมาสัมผัสกับขวดนม เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านการสัมผัสถึงรูปร่าง ขนาด และน้ำหนักของขวดนม ลูกจะมีความคุ้นชินในการสัมผัสกับขวดนม
- ลองให้ลูกได้เล่นกับขวดนมเปล่า ๆ
- เมื่อเห็นว่าลูกเริ่มมีความสนใจในการจับขวดนมหรือขวดน้ำแล้ว ให้ใส่นมเข้าไป 1 ใน 4 ของขวด และค่อยเพิ่มปริมาณเป็น ครึ่งขวด และ เต็มขวด ตามลำดับ
- ข้อควรระวังคือ ต้องคอยสังเกตว่า ในนมปริมาณเท่าไหร่ น้ำหนักเท่าไหร่ ที่ลูกจะสามารถถือได้เอง ไม่ควรจะใส่นมให้เต็มจนลูกถือไม่ไหว
- จากนั้น ค่อย ๆ จับขวดนมให้เข้าไปใกล้ปากลูก
- หากลูกงับจุกเมื่อมีขวดนมอยู่ใกล้ ๆ ปาก และเริ่มดูดนมได้เอง แสดงว่าคุณแม่ฝึกสำเร็จแล้วค่ะ แต่หากลูกยังไม่งับจุกและดูด ให้ปล่อยให้ลูกอมจุกนมไปก่อน และลูกจะค่อย ๆ เริ่มดูดนมได้เองค่ะ
- คุณแม่ควรใช้มือประคองที่ก้นขวดนมก่อน จนกว่าจะแน่ใจได้ว่าลูกสามารถถือขวดนมได้เองแน่ ๆ จึงค่อยปล่อยมือจากก้นขวด และแม้ว่าลูกจะถือขวดนมได้เอง ระหว่างลูกทานนมอยู่ คุณแม่ก็ควรจะดูอยู่ใกล้ ๆ ด้วยค่ะ
6 เคล็ดลับง๊ายง่าย ฝึกลูกถือขวดนมเอง
ทำไมเด็กคนอื่นถึงถือขวดนมเองได้เร็วจัง! เรามีเคล็ดลับที่จะทำให้ลูกถือขวดนมได้เองมาฝากกันค่ะ
-
สังเกตพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อมือและการเคลื่อนไหวของลูก
โดยปกติแล้ว เมื่อลูกอายุได้ 3 เดือน จะเริ่มกำมือและแบมือได้ นั่นหมายถึง พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ของลูกเริ่มพัฒนาแล้วค่ะ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ลูกกำลังเล่นของเล่น ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตดูว่าได้เริ่มมีการหยิบจับสิ่งของบ้างหรือยัง หากเริ่มมีการหยิบจับสิ่งของดูบ้างแล้ว ให้เริ่มฝึกลูกจับขวดนมได้เลยค่ะ แต่หากยังไม่มีการเริ่มหยิบจับสิ่งของใด ๆ เลย ก็ไม่ควรจะบังคับให้ลูกจับขวดนมขณะที่ป้อนนมนะคะ เพราะอาจทำให้ลูกต่อต้านได้ค่ะ
2. สอนให้ลูกรู้จักประโยชน์ของขวดนม
ลูกควรได้เรียนรู้ว่า เมื่อลูกหิวสิ่งที่จะทำให้ลูกหายหิวคือขวดนม คุณแม่ควรหยิบขวดนมใส่มือลูกในขณะที่ลูกกำลังหิวนม ทารกเรียนรู้และจดจำรูปร่างหน้าตาของขวดนมได้ตั้งแต่อายุได้ 3 เดือน ดังนั้น เมื่อลูกเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างความหิวและขวดนม ลูกจะรู้ได้ทันทีว่าเมื่อหิว ต้องจับขวดนมนะ!
3. กอดลูกในขณะที่ให้นม
ลูกได้รับความอบอุ่นจากแม่ในขณะที่แม่ให้นมจากเต้า เมื่อลูกต้องทานนมขวด ลูกจะไม่ได้รับความอบอุ่นจากจุดนี้ ทำให้ลูกอาจรู้สึกต่อต้านการกินนมจากขวดและถือขวดนมเองได้ ดังนั้น การกอดลูกขณะที่ให้นม จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและไม่ต่อต้านการดูดนมจากขวดนั่นเอง
4. สร้างบรรยากาศการทานนมให้เงียบสงบ
หากมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่รอบ ๆ ตัวลูกขณะที่ทานนม ลูกจะสนใจสิ่งอื่น ๆ มากกว่าการทานนม โดยเฉพาะเมื่อลูกกำลังฝึกถือขวดนมเอง แล้วลูกมัวแต่หันไปมองสิ่งที่น่าสนใจรอบ ๆ ตัว แทนที่จะได้ทานนม จะทำให้ดูดอากาศเข้าไปแทนนม จนทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ 6 เคล็ดลับง๊ายง่าย ฝึกลูกถือขวดนมเอง
6 เคล็ดลับง๊ายง่าย ฝึกลูกถือขวดนมเอง
5. ช่วยลูกบ้าง
หากลูกมีทีท่าว่าจะถือไม่ไหว ก็ไม่ควรปล่อยให้ถือเองต่อ เพราะการถือขวดนมที่มีน้ำหนักนาน ๆ ก็อาจทำให้ลูกล้าหรือปวดแขนได้ พาลจะทำให้ไม่อยากถือขวดนมเองอีก การใช้หมอนนิ่ม ๆ รองช่วงต้นแขนและข้อศอก จะช่วยให้ลูกใช้กล้ามเนื้อแขนน้อยลง เพราะน้ำหนักจะถูกถ่ายเทลงไปที่หมอนแทน ก็จะช่วยให้ลูกถือขวดนมได้สะดวกขึ้น หรือจะใช้ที่จับขวดนมก็ได้ค่ะ เพราะนอกจากจะช่วยให้ลูกจับขวดนมได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ลูกถือขวดนมในท่าที่ถูกต้องได้อีกด้วย
6. บางวันลูกอาจจะไม่ยอมถือขวดนมเองบ้าง เป็นเรื่องปกติ
เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ค่ะ ในบางวัน ลูกอาจจะไม่มีอารมณ์ที่จะจับขวดนมเอง แต่ในวันต่อมาอาจจะอยากที่จะถือเอง การที่อยู่ ๆ ลูกที่สามารถถือขวดนมทานเองได้ มาวันหนึ่งกลับไม่ยอมถือขวดเอาดื้อ ไม่ได้ถือว่าเป็นการทำให้พัฒนาการถดถอยค่ะ เป็นเพียงเพราะ “หนู/ผม ก็แค่ไม่อยากถือค่ะ/ครับ คุณแม่!” ดังนั้น คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกดดันหรือบังคับให้ลูกถือขวดนมให้ได้หรอกนะคะ เพียงแค่วางขวดนมไว้ใกล้ ๆ มือลูก เมื่อลูกหิวก็จะหยิบขวดนมมาทานได้เอง หรือหากลูกร้องไห้จะให้คุณแม่ป้อนนม อาจเป็นเพราะลูกต้องการอ้อนหรือต้องการความอบอุ่นจากคุณแม่นั่นเองค่ะ
สิ่งสำคัญที่สุดในการฝึกลูกถือขวดนมเพื่อกระตุ้น พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ คุณแม่ต้องมั่นใจก่อนว่าร่างกายของลูกพร้อมที่จะรองรับน้ำหนักจากนมในขวดได้บ้างแล้ว การเร่งฝึกให้ถือขวดนมเร็วจนเกินไป อาจทำให้ลูกบาดเจ็บได้ค่ะ
ข้อควรระวังเมื่อลูกถือขวดนมเองได้แล้ว
-
จัดท่าทางการดูดขวดนมให้ถูกต้อง
ท่าที่ดีที่สุดในการทานนมคือการนอนทานบนแขนคุณแม่ คล้ายกับท่าทางในการทานนมแม่นั่นเองค่ะ ไม่ควรให้ลูกถือขวดนมตั้งสูงจนเกินไป หรือสูงเกินปากของลูกเอง เพราะอาจทำให้ลูกหายใจไม่ออก หรือ เกิดการติดเชื้อในหูได้
2. ไม่ควรปล่อยให้ลูกดูดขวดนมตามลำพัง
อันตรายเกิดขึ้นได้เสมอ แม้แต่ขณะดูดขวดนม เพราะลูกอาจเผลอทานนมในท่าที่ไม่ถูกต้อง หรือ อาจจะสำลักขณะทานนมได้ ดังนั้น คุณแม่ควรคอยเฝ้าดูอยู่ใกล้ ๆ เสมอ จนกว่าลูกจะทานนมเสร็จ
3. เสียงขณะดูดนม ช่วยบอกถึงความผิดปกติต่าง ๆ ได้
หากได้ยินเสียงดังขณะลูกดูดนม อาจหมายถึงลูกกำลังดูดอากาศเข้าไปมากกว่านม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ลูกท้องอืดได้ คุณแม่ควรตรวจเช็คจุกนมว่าอุดตันหรือไม่ หรืออาจเป็นเพราะท่าทางในการถือขวดนมไม่ถูกต้อง
4. ช่วยเอาขวดนมออกให้ลูก
ถึงแม้ว่าลูกจะถือขวดนมได้เก่งมากแล้ว แต่คุณแม่ก็ยังต้องช่วยเอาขวดนมออกให้ลูกเมื่อนมหมดด้วยค่ะ เพราะลูกมักจะดูดจุกนมไปเรื่อย ๆ แม้ว่านมจะหมดแล้ว เพราะหากปล่อยให้ดูดไปเรื่อย ๆ อาจทำให้เกิดปัญหาในช่องปากได้ค่ะ และหากนำขวดนมออกให้ลูกแล้ว ลูกยังร้องกวนอีก แสดงว่าลูกยังทานไม่อิ่มค่ะ คุณแม่อาจพิจารณาปรับปริมาณของนมให้เหมาะสมกับช่วงวัยและพฤติกรรมการทานนมของลูก
5. อย่าปล่อยให้ลูกหลับคาขวดเอง
เพราะเมื่อลูกดูดนมขณะที่กำลังจะหลับ อาจทำให้ลูกสำลักนมได้ หรือลูกอาจจะใช้นมกล่อมตัวเองไปเรื่อย ๆ จนเผลอทานมากจนเกินไป ทำให้เกิดภาวะ overfeeding ได้
การถือขวดนมเองเป็น พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่ไม่ยากสำหรับเด็กในวัยนี้ ความอดทนและความช่วยเหลือเล็ก ๆ น้อย ๆ จากพ่อแม่ จะเป็นแรงจูงใจให้ลูกมีความสนุกที่จะฝึกถือขวดนมได้เอง และจะทำได้ในที่สุดค่ะ
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่
เสริมพัฒนาการลูกด้วยของเล่นใกล้ตัว
ท่านอนทารก ช่วยลูกฉลาด และพัฒนาการดีจริงหรือ?
นี่คือพัฒนาการ ความจำ ของลูกทารกตั้งแต่แรกเกิด – 1 ขวบ
ขอบคุณข้อมูลจาก : momjunction
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่