พัฒนาการทารก 3 เดือน ผมลูกบาง อันตรายหรือไม่? - Amarin Baby & Kids
พัฒนาการทารก 3 เดือน

พัฒนาการทารก 3 เดือน ผมลูกบาง แหว่งเป็นกระจุก อันตรายหรือไม่?

account_circle
event
พัฒนาการทารก 3 เดือน
พัฒนาการทารก 3 เดือน

พัฒนาการทารก 3 เดือน  ลูกน้อยจะเริ่มจ้ำม่ำน่าฟัดสุดๆ นอกจากความน่ารักที่ใครเห็นก็หลงไปตามๆกันแล้ว พัฒนาการด้านร่างกายและอารมณ์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านร่างกายและอารมณ์ คุณแม่อาจกังวลว่าน้ำหนักของลูกเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าช่วง 1 – 2 เดือนแรก พร้อมกับเส้นผมที่บางลง หรือแหว่งหายเป็นกระจุก แบบนี้อันตรายหรือเปล่า?

ลูกวัยนี้จะยิ้มเก่งชวนหลง แถมบางคนเริ่มเลียนแบบสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินเป็นแล้วด้วย ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่คงต้องชวนคุยบ่อยๆ เล่นกับลูกเยอะๆ เพราะนั่นเป็นวิธีเรียนภาษาและการพูดของเจ้าตัวน้อย เพราะเด็กวันนี้เริ่มจำเสียงพ่อแม่ และอยากเรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้นทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ

พัฒนาการทารก 3 เดือน ทำไมผมลูกบาง ผมแหว่งเป็นกระจุกแบบนี้ ผิดปกติหรือเปล่า

พัฒนาการทารก 3 เดือน พัฒนาการทางร่างกาย

ลูกวัย 3 เดือนแข็งแรงกว่าที่คิด พวกเขาเริ่มควบคุมกล้ามเนื้อคอให้มั่นคง ยกคอขึ้นตั้งตรงได้แล้ว ชอบหันหน้ามองตามพ่อแม่ซ้ายที ขวาที เวลาจับนอนคว่ำก็สามารถยกหัวและหน้าอกข้น พร้อมกับเตะขาได้ แต่ในสายตาของลูกน้อยอะไรก็ไม่สำคัญเท่า “มือของตัวเอง” โดยมักจะจ้องมือบ่อยๆ พยายามเอามือเข้าปาก หรือจับมือตัวเองเล่นได้ทั้งวันเหมือนเป็นของเล่นชิ้นพิเศษที่เคลื่อนไหวได้ มือคว้าจับของเล่นถึงจะยังจับไม่ได้

หากลองจับลูกให้ยืน เขาจะทำท่ากระโดดขาคู่ ขณะที่การมองเห็นทำงานดีขึ้น เห็นในระยะมือตัวเองชัดเจน ถ้าอยากส่งเสริมพัฒนาการ 3 เดือน ของลูกน้อย ควรปล่อยให้เล่นบนพื้นรองด้วยแผ่นปูนุ่มๆ เพื่อให้มีพื้นที่กว้างพอจะเตะขาหรือแกว่งของเล่น

พัฒนาการทางอารมณ์

เป็นเรื่องน่าดีใจสุดๆของแม่หลายคน เพราะเด็ก 3 เดือน สามารถจำหน้าแม่ได้ และพยายามคุยด้วยผ่านรอยยิ้มน้อยๆ ส่งเสียงอื้อๆ เรียกร้องความสนใจ ถ้าแม่ยิ้มให้ลูกก็พร้อมยิ้มตอบทันที แสดงอาการดีใจด้วยการกางมือ ชูแขน ขยับขา หากลองจ้องหน้าลูกใกล้ๆแล้วทำสีหน้ายิ้ม ร้องไห้ หน้าบึ้ง หัวเราะ ลูกน้อยก็จะพยายามทำตาม เพราะนั่นคือกระบวนการเลียนแบบการแสดงอารมณ์ตามธรรมชาติ ฉะนั้นถ้าอยากให้ลูกมีพัฒนาการด้านอารมณ์ที่ดี พ่อแม่ควรเล่นกับลูก พูดคุยกับลูกบ่อยๆ

ลูกผมบาง ผมแหว่งผิดปกติหรือเปล่า

“ผ้าอ้อมกัดหัว” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยๆจากปู่ย่าตายาย มักเกิดในช่วงที่ทารกอายุราว 2 – 3 เดือน  ผมเส้นบางแสนอ่อนนุ่มของลูกน้อยเริ่มบางลง บางทีอาจแหว่งหายไปเป็นกระจุกคล้ายรอยหนูกัด คุณแม่เห็นแบบนี้อาจตกใจกลัวลูกเป็นอันตราย แต่ความจริงแล้ว อาการผมร่วงแบบนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดกับเด็กทุกคน เพราะระบบฮอร์โมนของลูกเปลี่ยนแปลง มักกินเวลาประมาณ 3- 6 เดือน เช่นเดียวกับคุณแม่ที่มักผมร่วงเยอะในช่วงเวลานี้เช่นกัน โดยมีคำกล่าวว่า “ถ้าลูกจำหน้าแม่ได้ ผมแม่จะร่วง” ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาที่ลูกอายุครบ 3 เดือนนั่นเอง  ยกเว้นกรณีที่หนังศีรษะลูกมีรอยแผล อาการคัน หรือเป็นผื่นแดง ซึ่งอาจเกิดจากอาการแพ้ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาให้ละเอียด

MUST READ :ลูกผมร่วง เพราะ ผ้าอ้อมกัดหัว ผ้าอ้อมกัดผม จริงหรือ?

เรื่องนี้พ่อแม่มักสงสัย

การกิน : ลูกจะกินเยอะกว่าเดิมมาก และสื่อสารบอกว่าหนูหิวได้เก่งขึ้นแล้ว ทารกที่กินนมผสมส่วนมากกินนมครั้งละ 5 ออนซ์ วันละ 6-8 มื้อ ส่วนทารกที่กินนมแม่ หากผ้าอ้อมสำเร็จรูปเต็มวันละ 4-5 ชิ้นก็ถือว่ากินได้เพียงพอ ทารกวัย 3 เดือนยังไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำ เนื่องจากในนมผสมและนมแม่มีน้ำมากพอต่อความต้องการแล้ว

การนอน : เบบี๋ในระยะนี้มักนอนประมาณวันละ 15 ชั่วโมง ส่วนมากเป็นเวลากลางคืน ซึ่งอาจนอนได้ถึง 10 ชั่วโมงเลยทีเดียว ทารก 3 เดือนอาจหลับยาวต่อเนื่องได้ 5-6 ชั่วโมง ระหว่างวันอาจนอนหลับสัก 3 รอบ รวมระยะเวลาราว 5 ชั่วโมง เด็กวัยนี้อาจนอนยากขึ้นแม้จะง่วงเพลีย คุณแม่ควรจัดสภาพการนอนให้เหมาะสม อย่างเช่น ปิดไฟมืด ร้องเพลงกล่อม วางทารกลงนอนในตอนที่เด็กง่วงแต่ยังไม่หลับ และฝึกให้ทารกนอนหลับเอง

ส่วนเวลาเข้านอนของเบบี๋วัย 3 เดือนนั้นให้ขึ้นอยู่กับตารางเวลาของครอบครัว แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแนะนำว่าให้นอนระหว่าง 1 – 3 ทุ่ม เมื่อทารกเริ่มนอนยาวขึ้น ให้ลองพาทารกเข้านอนเร็วขึ้น จะช่วยให้ลูกยิ่งหลับยาวมากขึ้นด้วย

เรื่องนี้แม่ห้ามพลาด

  • พาลูกไปพบแพทย์และฉีดวัคซีนตามนัด
  • ลองให้ลูกได้นอนคว่ำเล่น เพื่อฝึกกล้ามเนื้อคอและแขน หากลูกไม่ชอบนอนคว่ำบนพื้น ลองจับลูกอย่างมั่นคงและให้นอนคว่ำบนลูกบอล แล้วคุณพ่อคุณแม่จับลำตัวลูกให้เคลื่อนที่เป็นวงกลม
  • เล่นเกมกับลูก : นำกระจกมาตั้งให้ลูกส่องมองตัวเอง เด็กๆ ส่วนมากจะชอบมองและยิ้มให้ตัวเองในกระจก หรืออาจให้ลูกน้อยสวมถุงเท้าเสริมพัฒนาการที่มีกระพรวนกรุ๋งกริ๋ง เด็กจะสนุกสนานเมื่อขยับเท้าตัวเองแล้วได้ยินเสียงดัง

แหล่งข้อมูล  www.thebump.com

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน ต้องกระตุ้นอย่างไร? ให้ลูกแข็งแรงสมวัย

 

ของเล่นเสริมพัฒนาการ เด็กแรกเกิด-6 เดือน แบบไหนเหมาะกับวัยลูก?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up