ทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันแรกไปจนครบ 1 เดือน หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตให้ดีจะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ทีมงาน Amarin Baby & Kids จะพาไปสำรวจกันว่ามีอาการปกติอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับลูกในช่วงวัยแรกเกิด เพื่อที่พ่อแม่จะได้ไม่ต้องตกใจ และกังวลกันค่ะ
ทารกแรกเกิด กับอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ มีอะไรบ้าง?
ไหนใครกำลังเป็นพ่อแม่มือใหม่อยู่บ้างคะ? รู้หรือไม่ว่า ทารกแรกเกิด มือและเท้าเท่าฝาหอยเนี่ยตั้งแต่ที่เขาเกิดมาวันแรกก็มีอาการต่างๆ ให้ได้สังเกตกันแล้วค่ะ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด แต่ก็ไม่เสมอไปว่าเด็กทุกคนจะมีอาการปกติเหล่านี้ ไปดูกันดีกว่าว่า “อาการปกติในทารกแรกเกิด” นั้นมีอะไรให้ได้สังเกตกันบ้าง…
1. รูปทรงของศีรษะ
ในช่วง 1-2 วันแรกคลอด จะสังเกตเห็นว่าศีรษะของเด็กทารกแรกเกิดบางคนจะบวมไปทางซ้าย หรือไม่ก็ทางขวา หรือมีรอยบุ๋มลงไปเล็กน้อย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะศีรษะของลูกยังนิ่มอยู่ โดยเฉพาะถ้าคลอดผ่านช่องคลอดที่อาจต้องใช้เครื่องช่วยดูดบ้างในบางกรณี แต่หากผ่าคลอดทารกจะมีรูปศีรษะที่กลมกว่าค่ะ แต่คุณแม่ก็ไม่ต้องตกใจไปค่ะ เพราะภายใน 3-7 วัน ศีรษะของลูกก็จะค่อยๆ ปรับรูปร่างให้เต็มกลมอย่างสมส่วนเป็นธรรมชาติได้เองค่ะ
2. เปลือกตาบวมไม่เท่ากัน
แม่จ๋าพ่อจ๋า อย่าเพิ่งตกอกตกใจว่า เอ๊ะ!! ทำไมลูกฉันตาดูบวมแล้วก็ไม่เท่ากันอย่างนั้นหล่ะ!? ในเด็กแรกเกิดจะมีเปลือกตาบนที่ออกจะบวมหน่อยๆ ซึ่งถือเป็นอาการปกติค่ะ เนื่องจากอาการเปลือกตาบวมจะหายไปเป็นปกติภายในหนึ่งสัปดาห์ ฉะนั้นใจร่มๆ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของทารกค่ะ
3. นอนหลับนานไปไหมลูก
พ่อแม่มือใหม่จ๋า ให้เวลาลูกปรับตัวนิดนะคะ อย่าเพิ่งไปรบกวนเรียกลูกมาเล่นกันนะจ๊ะ คือที่เห็นว่าลูกแรกคลอดนอนได้นอนดี นอนนานๆ แบบนั้นหนะ เป็นเรื่องปกติของทารกแรกเกิดค่ะ หลังจากที่คลอดออกมาจากครรภ์คุณแม่ในสัปดาห์แรก ลูกจะนอนมากถึง 16.6 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งวงจรการนอนก็จะแบ่งออกเป็นการนอนสั้นๆ ถึง 18 ครั้ง หรือในเด็กทารกบางคนอาจนอนชั่วโมงมากกว่านี้ก็มีค่ะ ปกตินะคะอย่าตกใจว่าทำไมลูกนอนได้ทั้งวันจัง!!
4. การมองเห็นของลูก
รักแรกพบสบตา รู้อะไรไหมคะว่า ทารกน้อยแรกคลอดจะสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ในระยะ 8-10 นิ้ว ที่สำคัญการมองเห็นช่วงแรกๆ นี้ หากเป็นภาพหรือสิ่งที่เห็นเป็นสีที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจน เช่น สีขาว-สีดำ จะทำให้ทารกมองเห็นได้ดีมากขึ้นค่ะ
5. การได้กลิ่น
อ๊ะ อ๊ะ!! จะว่าไปลูกน้อยหอยสังข์ของคุณพ่อคุณแม่ก็มีเรื่องให้น่าอัศจรรย์ใจอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ โดยเฉพาะเรื่องของการได้กลิ่น ทารกที่เพิ่งลืมตาคลอดออกมาจากครรภ์คุณแม่นั้น เขาสามารถหั่นไปตามทิศทางที่มีกลิ่นของน้ำนมแม่ตัวเองได้อย่างแม่นยำเลยละค่ะ
อ่านต่อ 20 อาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติทารกแรกคลอด หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
6. สามารถแยกแยะรสชาติได้
จริงเหรอ? ไม่จริงมั้ง ทารกจะแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่แรกเกิดเนี่ยนะ! ไม่ต้องตกใจปนสงสัยค่ะ ความจริงก็คือบริเวณลิ้นของทารกจะมีตุ่มเล็กๆ ปกคลุมเรียกว่า พาพิลเล่ (Papillae) ซึ่งในทารกจะมีปุ่มรับรสที่ว่านี้อยู่มากถึงหนึ่งหมื่นปุ่ม คือมากกว่าของผู้ใหญ่อย่างเราๆ ซะอีกนะเนี่ย และก็ไม่ได้มีอยู่บนลิ้นเท่านั้น แต่ยังกระจายไปตามด้านข้าง เพดาน และรอบช่องปากเลยค่ะ นั่นจึงทำให้ทารกน้อยสามารถแยะแยะรสชาติต่างๆ ได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยละค่ะ อย่าลืมว่าถึงลูกจะรับรสชาติและแยกแยะได้ อาหารที่ควรให้ลูกตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 6 เดือนแรก ต้อง “น้ำนมแม่” เท่านั้นนะจ๊ะ
7. ร้องไห้ทุกครั้งที่ถ่ายปัสสาวะ
เป็นเรื่องปกติที่ทารกมักจะร้องไห้เวลาที่ปัสสาวะออกมา นั่นเป็นเพราะว่าลูกมีความรู้สึกรับรู้เวลาปวดปัสสาวะ ซึ่งลูกจะหยุดร้องไห้เวลาที่ปวดปัสสาวะ ก็เมื่ออายุ 1 เดือนขึ้นไปแล้วนั่นเองค่ะ
8. อาการตัวเหลือง
เด็กทารกแรกเกิดบางคนจะมีอาการตัวเหลืองบางเล็กน้อยช่วง 2-4 วันแรกหลังคลอด ซึ่งอาการนี้จะหายไปหากได้ทานนมแม่อย่างเพียงพอค่ะ
9. ไม่ถ่ายอุจจาระทุกวัน
ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ทารกที่ทานนมแม่จะถ่ายอุจจาระทุกวัน เนื่องจากน้ำนมแม่ส่วนหน้า(น้ำนมเหลือง)จะช่วงกระตุ้นการขับถ่ายได้ดี และเมื่อลูกอายุได้ 1 เดือนขึ้นไประบบขับถ่ายจะเป็นแบบ 3-4 วันถึงถ่ายอุจจาระออกมาที ซึ่งเป็นปกติของเด็กที่ทานนมแม่ค่ะ
บทความแนะนำ คลิก>> ของใช้ทารกแรกเกิด 11 อย่างที่ไม่จำเป็นต้องซื้อ
10. ไวต่อการสัมผัส
ตั้งแต่แรกคลอดทารกน้อยจะมีความรู้สึกไวต่อการสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวด การเปลี่ยนแปลงของอากาศ(หนาว-ร้อน-เย็น) การสั่นสะเทือน หรือการถูกจับ ลูบ แตะเบาๆ ตามร่างกาย ฯลฯ ซึ่งทารกจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งต่างๆ ด้วยการร้องไห้ออกมา
11. การสะดุ้งหรือผวา
ในทารกแรกเกิดทุกคนจะมีอาการนอนสะดุ้ง หรือผวา เวลาที่มีเสียงดัง หรือมีคนไปสัมผัสเนื้อตัวขณะหลับ ก็มักจะมีอาการสะดุ้ง ผวาขึ้น ซึ่งถือเป็นอาการปกติในทารก แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลเนื่องจากอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อลูกอายุได้ 6 เดือนขึ้นไป แต่ในระหว่างนี้ขณะลูกนอนหลับให้ทุกคนในบ้านอย่างส่งเสียงดัง และควรห่มผ้าให้ลูกจนถึงหน้าอกเพื่อเพิ่มความอบอุ่น ลดอาการนอนสะดุ้ง ผวาได้ค่ะ
12. นมเป็นเต้า
รู้ไหมคะว่า ในเด็กทารกแรกเกิดทั้งผู้หญิง และผู้ชาย จะมีเต้านมเป็นเต้าจนเห็นชัดเจน ซึ่งเป็นปกติของเด็กที่คลอดครบกำหนดค่ะ แต่แนะนำว่าไม่ควรไปบีบเค้นที่เต้านมลูกกันนะคะ เพราะอาจเกิดการอักเสบขึ้นมาได้
13. อาการบิดตัว
การบิดตัวของทารกแรกเกิด หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการ “บิดเรียกเนื้อ” เป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นกับเด็กทารกทุกคน ซึ่งการบิดตัวถือเป็นการออกกำลังกายกล้ามเนื้อของทารกที่มักจะทำตอนเวลาตื่นนอนค่ะ
14. ผิวหนังลอก
ในทารกแรกคลอดจะมีไขสีขาวๆ ปกคลุมอยู่ทั่วทั้งตัว ซึ่งไขสีขาวนี้ก็คือ เวอร์นิกซ์ (Vernix) ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ที่ลูกอยู่ในครรภ์ของแม่ค่ะ สำหรับไขขาวๆ นี้หลุดไปเองตามธรรมชาติประมาณ 2-3 วันหลังคลอดค่ะ
15. มีผดร้อนขึ้น
ในเด็กทารกคุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าตามท้ายทอยลูกมีผดเม็ดเล็กๆ ขึ้นมา ซึ่งผดที่ว่านี้คือผดร้อน สาเหตุเกิดจากต่อมเหงื่อที่อยู่บนผิวหนังยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อขึ้นได้ วิธีแก้ไขคือให้ลูกอยู่ในบ้าน หรือห้องนอนที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ลูกรู้สึกร้อนจนเหงื่อออกมาก เพียงเท่านี้อาการผดร้อนก็จะค่อยๆ หายไปค่ะ
อ่านต่อ 20 อาการที่เกิดขึ้นเป็นปกติในทารกแรกคลอด หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
16. ลิ้นขาว
เป็นปกติของเด็กที่ทานนมแม่ค่ะ ซึ่งลิ้นจะมีสีขาวๆ ตรงกลางลิ้น ซึ่งถือเป็นอาการปกติในเด็กทารก และจะหายเป็นปกติเมื่อลูกอายุมากขึ้น ในนมแม่มีสารฆ่าเชื้อรา ลิ้นลูกขาวก็ไม่จำเป็นต้องเช็ดลิ้น หรือกลัวว่าลูกจะเจ็บลิ้นนะคะ หากคุณแม่มีความกังวล อาจจะช่วยเช็ดลิ้นให้ลูกโดยใช้ผ้านุ่ม สะอาด หรือผ้าก็อช ชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดช่องปาก และลิ้นให้ลูกช่วงก่อนอาบน้ำเช้าเย็นค่ะ
17. ร้องโคลิค
ในเด็กทารกแรกเกิดบางคนจะมีอาการที่เรียกว่าร้องโคลิค หรือร้องนาน 3 เดือน ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยที่ลูกจะร้องซ้ำๆ ในเวลาเดียวกันของทุกวัน ร้องต่อเนื่องเป็นชั่วโมง และก็จะหยุดร้องไห้เอง สำหรับการร้องโคลิคจะหายไปเมื่อลูกอายุครบ 3 เดือนค่ะ
18. อาการแหวะนม
เป็นปกติที่เด็กทารกแรกเกิดบางคนจะมีอาการแหวะนมออกมาเล็กน้อยหลังทานนมอิ่ม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากหูรูดกระเพาะอาหารยังปิดไม่สนิท บวกกับระบบการย่อยอาหารที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์จึงทำให้ลูกมักมีการอาเจียน หรือแวะเอานมที่เพิ่งทานอิ่มๆ ออกมาได้ค่ะ แต่อาการนี้จะดีขึ้นเมื่อลูกอายุโตขึ้น ระบบกระเพาะ ระบบย่อยอาหารทำงานได้สมบูรณ์มีประสิทธิภาพขึ้นแล้วนั่นเองค่ะ
19. ผิวหนังลายเหมือนร่างแห
ทารกแรกคลอดใหม่ๆ นอกจากผิวเนื้อจะเหี่ยวย่นแล้ว ตามผิวหนังจะมีลักษณะลายคล้ายร่างแห ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดดำย่อยกำลังขยายตัว สำหรับอาการนี้มักจะเกิดขึ้นจนเห็นได้ชัดเจนถ้าลูกอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิเย็นหรือร้อนมากไปนั่นเองค่ะ แต่อาการนี้จะค่อยๆ หายไปและดีขึ้นเมื่อลูกอายุได้ 2-3 เดือนขึ้นไปที่ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้นค่ะ
20. ปานแดง ปานดำ
ในทารกแรกเกิดหากสังเกตดีๆ จะพบว่าบริเวณหลัง หรือช่วงขา แขน มักจะมีรอยปานแดง ปานดำ(ออกเขียวจางๆ) ขึ้นบางๆ ซึ่งรอยปานนี้จะค่อยๆ หายไปเมื่อลูกโตขึ้นค่ะ
ส่วนเด็กที่มีปานแดงนูนขึ้นที่ใบหน้า โดยเฉพาะหัวตาเหนือคิ้ว อาจต้องให้คุณหมอเด็กตรวจดูอย่างละเอียด เพราะหากเป็นปานสตอเบอร์รี่คุณหมอจะแนะนำการรักษาที่ถูกต้องให้ค่ะ
เป็นอย่างไรบ้างค่ะกับ 20 อาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทารกทุกคน แต่หากพบว่าลูกมีอาการบางเกิดขึ้นที่นอกเหนือไปจากนี้ และไม่แน่นอนใจว่าใช่อาการปกติในทารกหรือไม่ แนะนำให้รีบพาลูกไปพบคุณหมอทันทีค่ะ …ด้วยความห่วงใยและใส่ใจ
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ทารกร้องไห้มีน้ำตาตอนกี่เดือน
10 พัฒนาการทารก (วัยแรกเกิด-12 เดือน) ที่บอกว่ารักคุณ