ลูกไม่กินข้าว สำหรับคุณแม่ที่กำลังหนักอกหนักใจกับการป้อนข้าวลูก หรือให้ลูกกินข้าวเองแล้วเจ้าตัวเล็กเมินหน้าหนีกับอาหารที่อยู่ตรงหน้า ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ มาฝากค่ะ รับรองว่าถ้าแม่ค่อยๆ ปรับ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่อง ลูกไม่กินข้าว ได้ไม่ยากค่ะ
ลูกไม่กินข้าว ทำไงดี?
1. ฝึกให้กินอาหารเป็นเวลา
การที่พ่อแม่ให้ลูกทานอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรให้ลูกกินพร้อมๆ กับทุกคนในครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการกินอาหารให้ลูก
2. ขณะมื้ออาหารไม่ดูทีวี
เมื่อถึงเวลาของมื้ออาหาร พ่อแม่ต้องตัดสิ่งรบกวนการกินของลูกที่จะทำให้ ลูกไม่กินข้าว คือ ไม่เปิดทีวี หรือให้ลูกเล่นของเล่นไปด้วยในขณะที่นั่งทานข้าว เพราจะทำให้เด็กไม่สนใจอาหารที่อยู่ตรงหน้า ทำให้กินช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่กินไปได้นิดเดียว
3. ทำบรรยากาศขณะมื้ออาหารให้ผ่อนคลาย
ช่วงเวลาคุณภาพของครอบครัวอีกช่วงเวลาหนึ่งก็คือการที่ทุกคนได้ทานข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในทุกเรื่อง การสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะบนโต๊ะอาหารจะช่วยทำให้บรรยากาศในการทานข้าวเป็นที่น่าจดจำสำหรับเด็ก แต่ไม่ควรใช้ช่วงเวลาทานข้าวมาดุด่ากัน เพราะจะทำให้ทุกคนบนโต๊ะอาหารตึงเครียดเกินไป และลูกก็จะไม่ชอบการทานข้าวในบรรยากาศที่ดูไม่มีความสุข
4. เปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง
ในเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสถือหรือหยิบอาหารเข้าปากด้วยตัวเองบ้าง ถึงแม้จะเลอะเทอะไปบ้างก็ต้องยอม ส่วนเด็กที่อยู่ในช่วงวัย 4 ขวบ ส่วนใหญ่จะสามารถตักอาหารเข้าปากได้ด้วยตัวเอง พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกตักอาหารเข้าปากเอง
บทความแนะนำ คลิก>> ฝึกลูกกินข้าวเอง ช่วยพัฒนาการอะไรบ้าง?
5. ให้นั่งกินอาหารบนเก้าอี้
การฝึกให้ลูกรู้ว่าหากถึงเวลาทานอาหารของทุกคนในบ้าน จะต้องนั่งทานที่โต๊ะอาหารเท่านั้น และต้องทานให้เสร็จเรียบร้อยอิ่มแล้วถึงจะออกจากโต๊ะทานข้าวได้ พ่อแม่ไม่ควรเดินตามป้อนข้าวให้ลูกเด็ดขาด
6. ไม่ให้นมมากเกินไป
สำหรับเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรกินข้าวเป็นอาหารหลัก วันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลง เหลือวันละ 3 – 4 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น เด็กอายุมากกว่า 6 เดือน ร่างกายไม่ต้องการนมหลังจากหลับไป แล้วจนถึงเช้า จึงไม่ควรปลุกเด็กขึ้นมากินนม เพราะเด็กวัยนี้สามารถกินนมก่อนนอนแล้วอยู่ได้ถึงเช้า หากให้กินกลางดึก จะกลายเป็นความเคยชินและทำให้เด็กเบื่ออาหารเช้าเพราะยังอิ่มนม หลังอายุ 1 ปี ควรเลิกขวดนม ดังนั้นจึงให้เด็กเริ่มฝึก ดูดจากหลอดหรือดื่มจากแก้วแทนตั้งแต่อายุ 10 เดือน
7. ให้ลูกรู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหาร
ก่อนหน้ามื้ออาหารหลัก ให้งดอาหารหรือขนมจุกจิกระหว่างมื้อ ไม่ว่าจะเป็นขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน ไอศกรีม ฯลฯ หากจะให้ ควรให้หลังอาหาร หากเด็กกินได้เหมาะสม ก็จะช่วยลดปัญหา ลูกไม่กินข้าว ได้ค่ะ
นอกจากปัญหา ลูกไม่กินข้าว ที่พบบ่อยแล้ว การป้อนอาหารลูกเล็ก อย่างไรให้ปลอดภัย เป็นอีกเรื่องที่ถูกถามเข้ามามากจากคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ เพราะกังวลไปหมดว่าถ้าลูก กินเข้าไปแล้วจะดี จะปลอดภัยต่อร่างกายของลูกหรือเปล่า และเพื่อให้คุณแม่ได้สบายใจกับอาหารการกินของลูก ผู้เขียนมีเคล็ดลับที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ได้ทราบกันค่ะ
อ่านต่อ ป้อนอาหารลูกอย่างไรให้ปลอดภัย หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ป้อนอาหารลูกเล็ก อย่างไรให้ปลอดภัย ?
เพื่อที่ทุกครอบครัวจะได้แน่ใจว่าทุกมื้ออาหารนั้น ลูกน้อยจะได้ทานอาหารที่ครบคุณค่าสารอาหาร สะอาด ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และช่วยให้พัฒนาการร่างกาย สติปัญญาเจริญเติบโตดีสมวัยกันค่ะ
1. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนป้อนอาหารเด็ก
ถ้าทำอาหารเองมืออาจจับของสดของดิบหรือไข่ ยิ่งควรล้างให้สะอาดอีกครั้ง นอกจากนี้ทุกครั้งคุณไอ จามหรือเอามือโดนปาก หรือคุณมีแผลบาดที่มือ ยิ่งต้องล้างมือให้ดี
2. เก็บอาหารสำเร็จรูปให้ดี
อาหารสำเร็จรูปต่างๆ สำหรับเด็กที่ยังไม่ได้เปิด ควรเก็บไว้ในที่เย็น แห้ง ห่างจากความร้อนสูงหรือเย็นจัด ควรดูวันหมดอายุให้ดีและสังเกตลักษณะกระป๋องอย่าให้บุบ บี้ เบี้ยวก่อนนำมากิน
3. เช็ดฝาขวดบรรจุอาหารเด็กด้วยผ้าสะอาดก่อนเปิด
หรือเปิดน้ำก๊อกไล่ฝุ่นบนฝาก่อนเปิด ถ้าขวดอาหารเปิดยาก ให้รินน้ำอุ่นรดรอบๆ คอขวดก่อนหรือใช้ที่เปิดขวดค่อยงัดบริเวณข้างๆ ฝาจนกระทั่งได้ยินเสียงป๊อบจะเปิดง่ายขึ้น พยายามอย่าให้ที่เปิดโดนปากขวดเพราะอาจแตก และมีชิ้นส่วนขวดแก้วหล่นลงไปในเนื้ออาหารได้
บทความแนะนำ คลิก>> ลูกไม่ยอมกินข้าว แก้ไขได้อย่างไร?
4. ไม่ป้อนอาหารจากขวดบรรจุโดยตรง
ควรใช้ช้อนสะอาดตักแบ่งออกมา และอย่าเก็บจานข้าวที่เด็กกินเหลือไว้กินมื้อต่อไป เพราะเอ็นไซม์และแบคทีเรียจากน้ำลายของเด็กจะเริ่ม “ย่อย” อาหารและบูดอย่างรวดเร็ว
5. เก็บอาหารหลังป้อนเสร็จให้ดี
หลังจากตักอาหารออกจากขวดแล้ว ให้ปิดฝาขวดและเก็บไว้ในตู้เย็นจนกว่าจะถึงเวลามื้อต่อไป สำหรับอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำผลไม้และเนื้อผลไม้จะเก็บไว้ได้ประมาณสามวันหลังจากเปิดฝาครั้งแรก และอาหารที่มีส่วนประกอบของวัตถุดิบอื่นจะเก็บไว้ได้นานราวสองวัน
อ่านต่อ เคล็ดลับป้อนข้าวลูกให้ปลอดภัย หน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
6. ไม่จำเป็นต้องอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนนำไปป้อนเด็ก
สำหรับผู้ใหญ่อาหารที่ร้อนจะทำให้รสชาติดี แต่เด็กเล็กยังไม่รู้สึกอย่างนั้น ไม่อุ่นอาหารเด็กด้วยเตาไมโครเวฟ เพราะแม้ภาชนะที่ใส่อาหารจะไม่ร้อนแต่อาหารจะที่อุ่นด้วยไมโครเวฟจะยังร้อนจัดมากต่อไปอีก 2-3 นาที ซึ่งอาจจะยังร้อนพอที่ลวกปากลูกได้ ถ้าจะทำให้อาหารร้อนก็เพียงอุ่นๆ พอ เช่น แบ่งอาหารใส่ชามและแช่ลงในน้ำร้อน หรืออุ่นจากไอน้ำร้อน เช่น หม้อซึ้งสำหรับนึ่งอาหารที่มีภาชนะใส่น้ำเพื่อให้เดือดไว้ด้านล่าง
7. ใช้วัตถุดิบสด สะอาดในการทำอาหารให้ลูก
ถ้าทำอาหารจากของสด ควรแน่ใจว่าวัตถุดิบที่ใช้สดและเก็บในที่ที่เหมาะสม ของสดและต้องการความเย็นก็ควรเก็บในที่เย็น วัตถุดิบบางอย่างไม่ต้องแช่เย็นแต่เก็บในที่ร้อนเกินไปก็อาจเสียได้ บูดเสียเร็วขึ้น ต้องเก็บในอุณหภูมิห้อง
8. น้ำผลไม้ นม ชีสที่ให้ลูกกิน
ควรผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อโรคแล้ว เช่น แบบยูเอชที หรือพาสเจอไรส์
บทความแนะนำ คลิก>> เคล็ดลับแม่บ้าน เทคนิคเก็บอาหารให้อยู่นาน คงคุณค่าสูง!
9. ใช้ช้อนแยกเมื่อชิมอาหาร
ถ้าต้องการชิมรสชาติอาหารในระหว่างปรุง ควรใช้ช้อนสะอาดต่างหากชิมหรือล้างช้อนคันเดิมก่อนจะชิมอีก
10. อย่าเสียดายหากอาหารเสีย
อาหารที่เก็บค้างคืนไว้ในตู้เย็นหลายวัน จริงๆ ไม่แนะนำนำมาทานต่อค่ะ ถึงแม้จะนำไปอุ่นใหม่ก็ตาม เพราะคุณค่าสารอาหารแทบจะไม่มีเหลือ อีกอย่างอาหารนั้นอาจจะบูดเสียแล้วก็ได้ เอาเป็นว่าการที่คุณแม่ปรุงอาหารให้ลูกแบบสุก สดใหม่ทุกวันน่าจะดีต่อสุขภาพร่างกายของลูกๆ รวมถึงทุกคนในครอบครัวด้วยค่ะ อย่าว่าอาหารเสีย อย่าเสียดาย ให้ทิ้งไปนะคะ
การเตรียมอาหารที่สะอาด สด ใหม่ ในทุกวันให้ลูกได้ทานนั้น เท่ากับเป็นการมอบสิ่งดีๆ ให้กับสุขภาพร่างกายของลูกที่ง่ายที่สุด แต่ได้คุณค่ามหาศาลเลยนะคะ เอาเป็นว่ามาเริ่มดูแลคุณภาพของอาหารให้ลูกกันตั้งแต่ตอนนี้เลยนะคะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจคลิก
11 เทคนิคแก้ปัญหา ลูกกินยาก อมข้าว
มารยาทบนโต๊ะอาหารเรื่องที่พ่อแม่ควรสอนลูก
ข้อมูลจาก กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids