หลายต่อหลายบ้านกำลังเตรียมตัวต้อนรับสมาชิกน้อยๆ คนใหม่ คุณพ่อคุณแม่ป้ายแดงซึ่งอยู่ในช่วงพะวักพะวงคงได้ตัวช่วยเป็นคำบอกเล่าประเภทว่ากันว่า จากผู้มีประสบการณ์บ้าง ผู้หวังดีบ้าง ฟังแล้วก็น่าคิด เชื่อหรือไม่เชื่อดีล่ะ เราเลยขออาสาคลายสงสัยในความเชื่อเรื่องทารก ที่ “เขาเล่ามา” ด้วยคำอธิบายหรือข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญมายืนยันว่างานนี้ชัวร์หรือมั่วนิ่ม กันแน่!
10 ความเชื่อเรื่องทารกยอดฮิต จริงหรือหลอก??
1. แม่หลงรักลูกแต่แรกเห็น
คุณแม่หลายท่านถึงกับหลั่งน้ำตาด้วยความยินดีเมื่อรู้ว่าตั้งท้อง หรือตอนได้เห็นหน้าลูกครั้งแรก “เพราะมันคือความผูกพัน” โซซานา เบนเนทท์ นักจิตวิทยาคลินิกอธิบาย “คุณแม่บางคนรู้สึกแบบนี้ทันที แต่ถ้าตอนนี้คุณยังไม่รู้สึกหลงรักเจ้าตัวเล็กในอ้อมกอด ก็ไม่มีอะไรผิดปกตินะ นั่นเป็นเพราะคุณอาจจะเหนื่อยหรือกำลังปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่เมื่อคุณได้ใกล้ชิด ได้เลี้ยงดูลูก ความรู้สึกแบบนั้นจะเกิดขึ้นแน่นอน” ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการใช้เวลาร่วมกัน
2. เบบี๋ไม่มีกระดูกสะบ้า
เรื่องนี้ไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ที่จริงโครงสร้างร่างกายของทารกแรกเกิดนั้นมีกระดูกอ่อนอยู่มาก รวมถึงกระดูกสะบ้าด้วย กระดูกอ่อนเหล่านี้จะค่อยๆ พัฒนาไปเป็นกระดูกทั้งหมดซึ่งจะสมบูรณ์เมื่อสิ้นสุดช่วงวัยรุ่น
อ่านต่อ “10 ความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับลูกเบบี๋” หน้า 2
3. ว่ากันว่า…เบบี๋แรกเกิดยังมองไม่เห็น
ไม่ถึงกับมองไม่เห็น แค่เป็นภาพลางๆ เท่านั้น ซึ่งเป็นภาวะปกติของเบบี๋ในช่วงสัปดาห์แรก ช่วงนี้เบบี๋จะมองเห็นทุกอย่างเป็นสีเทาๆ เห็นหน้าแม่ลางๆ เป็นโครงร่าง เพราะสายตายังโฟกัสไม่ได้ อาจเกิดอาการตาเหล่หรือตาสั่นบ้างเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นถ้าคุณแม่ได้เลี้ยงลูกเอง ลูกน้อยจะคุ้นเคยและจำโครงหน้าแม่ได้เพราะเขาเห็นหน้าแม่ใกล้ชิดทุกๆ วัน 2-3 เดือนหลังจากนั้นภาพที่เคยลางๆ จึงจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมองเห็นได้ดีขึ้น อาการตาเหล่และตาสั่นที่เห็นในช่วงแรกก็จะหายไป
4. รถหัดเดินช่วยให้เบบี๋เดินได้เร็วขึ้น
“ไม่ควรนำรถหัดเดินมาใช้กับเด็กเพราะอันตรายมาก ในขณะที่เบบี๋ทรงตัวหรือเคลื่อนไหวในรถหัดเดินนั้น เขาจะมองไม่เห็นเท้าของตัวเอง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย อย่างเช่น การตกบันได และทำให้เดินช้าด้วย” สมาคมกุมารแพทย์อเมริกา รวมทั้งกุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในไทย ต่างยืนยันหนักแน่นตรงกัน
ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีเด็กๆ บาดเจ็บจากรถหัดเดินที่ถูกนำตัวเข้าห้องฉุกเฉินปีละกว่า 29,000 ราย และจากการวิจัยยังพบว่าร้อยละ 10.8 ของเด็ก 185 คน ที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำ จะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้
อ่านต่อ “10 ความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับลูกเบบี๋” หน้า 3
5. ให้ลูกดูดนมจากเต้าแล้วเขาจะไม่ยอมดูดจากขวด
ปัญหาการติดเต้าอาจจะมีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสำหรับเบบี๋ทุกอย่างคือประสบการณ์ใหม่ ขวดนมทุกขวดและจุกนมทุกอันที่คุณซื้อมาถึงจะคุณภาพดีขนาดไหน เบบี๋ก็ไม่อาจยอมเปลี่ยนจากดูดเต้าเป็นดูดขวดแทนได้ทันที การให้เวลาปรับตัวเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าลูกร้องไห้งอแงคุณแม่ก็ต้องอดทนหน่อย อาจจะหาจุกนมสัก 2-3 แบบ มาใช้แล้วสังเกตดูว่าลูกชอบแบบไหน ค่อยๆ เรียนรู้กันไปทั้งแม่และลูก
6. เดี๋ยวเต้าจริงเดี๋ยวขวดทำให้ลูกสับสน
ความจริงคือ “เบบี๋บางคนชอบกินนมจากขวดเพราะนมไหลเร็วและคล่องตัวกว่าดูดจากเต้า เมื่อเด็กติดขวดแล้วก็ยากที่จะกลับไปดูดจากเต้าอีก” ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย “แต่ถ้าคุณอยากให้ลูกสลับดูดระหว่างเต้ากับขวด เมื่อให้ลูกกินนมจากขวดแล้ว คุณก็ต้องเริ่มฝึกเขากินจากเต้าอีกครั้ง โดยดูอารมณ์ของลูกเป็นหลัก ถ้าลูกหิวมากให้เริ่มดูดจากขวดสักครึ่งหนึ่งก่อน พอลูกอารมณ์ดีก็ให้เข้าเต้าต่อทันที ฝึกแบบนี้บ่อยๆ ลูกจะชินไปเอง
อ่านต่อ “10 ความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับลูกเบบี๋” หน้า 4
7. เบบี๋ขาโก่งต้องช่วยดัดขา
อีกหนึ่งความเชื่อที่ทำให้พ่อแม่เข้าใจผิด เพราะเมื่อลูกคลอดออกมาเห็นว่าขาและเข่าของลูกโก่งหรือโค้งจริงๆ ที่จริงแล้วภาวะนี้จะพบได้บ่อยในเบบี๋แรกเกิด เพราะตอนที่อยู่ในท้องแม่ช่วงไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ตัวเบบี๋ใหญ่ขึ้นและต้องอยู่ในมดลูกที่มีเนื้อที่จำกัด ดังนั้นเบบี๋ส่วนใหญ่จึงมักอยู่ในท่าขัดสมาธิและงอสะโพก หลังคลอดออกมาในช่วงขวบปีแรก จึงมีอาการขาโก่งให้เห็น แต่ไม่นาน เมื่อเบบี๋เริ่มหัดคลานหรือหัดเดิน อาการนี้จะค่อยๆ หายไปเอง เพราะกระดูกจะค่อยๆ ปรับให้ตรงขึ้นในช่วงขวบครึ่งถึงสองขวบ
8. ผิดปกติแน่ถ้าเบบี๋ร้องไห้มากเกินไป
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าการร้องไห้คือสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเบบี๋ เช่น ตอนนี้รู้สึกไม่สบายตัวหรือต้องการอะไรบางอย่าง “แต่ถ้าเบบี๋ไม่มีไข้ ไม่หายใจหอบถี่ หรือกระสับกระส่าย ก็สบายใจได้ว่าไม่มีปัญหาร้ายแรงอะไร” ดังนั้นถ้าพบว่าเบบี๋ร้องไห้ไม่หยุด ทั้งที่ผ้าอ้อมก็ยังแห้ง นมก็เพิ่งกิน นอนก็เต็มอิ่ม ให้คุณเริ่มสำรวจว่ามีอะไรทำให้ลูกเจ็บปวดหรือไม่สบายตัวได้อีก เช่น เล็บข่วนตาหรือเปล่า หรือมีมดแอบอยู่ในที่นอนไหม
“ถ้าจัดการปัญหาเรียบร้อยแล้ว ให้คุณอุ้มลูกไปในห้องที่มืดหน่อยแล้วกอดสัมผัสลูกเพื่อกล่อมนอน เบบี๋จะรับรู้ความรู้สึกของพ่อแม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นคุณต้องทำใจให้ปกติ อย่าตกใจหรือกังวลเกินไป”
อ่านต่อ “10 ความเชื่อแปลกๆ เกี่ยวกับลูกเบบี๋” หน้า 5
9. ลูกจะรักพี่เลี้ยงมากกว่าคุณ
ขึ้นอยู่กับการแบ่งหน้าที่ระหว่างคุณกับพี่เลี้ยง ถ้าคุณปล่อยให้ลูกอยู่กับพี่เลี้ยงตลอดเวลา ลูกก็ย่อมเกิดความผูกพันกับคนที่ใช้เวลากับเขามากกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าให้พี่เลี้ยงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของลูกแทนคุณ จงเตือนตัวเองเอาไว้เสมอว่าช่วงเวลาที่ลูกจะสร้างความผูกพันกับพ่อแม่คือวัย 1-3 ขวบเท่านั้น แต่ถ้าคุณไม่สามารถเลี้ยงลูกได้เองแน่ๆ ก็ให้ใช้เวลาที่มีกับลูกอย่างคุ้มค่าที่สุดไม่ว่าจะเป็นตอนเย็นหลังเลิกงานหรือวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อรักษาสายใยรักระหว่างคุณกับลูกเอาไว้
10. เสียงร้องไห้ของเบบี๋เหมือนกันหมด
ใครว่าเสียงร้องไห้ของทารกเหมือนกัน ลองสังเกตหรือเข้าไปฟังใกล้ๆ ดู เวลาที่ลูกร้องเพราะหิว ง่วง หรือรู้สึกเฉอะแฉะ เสียงต่างกันทั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า เสียงร้องหลักๆ ของทารกมีอยู่ 4 เสียง คือ
- เสียง เฮะ หมายถึงเปียกชื้นหรือไม่สบายตัว
- เสียง เอะ คือมีลมในท้อง
- เสียง อาว หมายถึงง่วงนอนอยากพักผ่อน
- เสียง อึน หมายความว่าหนูหิวนม
พ่อแม่จะจับเสียงเหล่านี้ได้ต้องใช้เวลาและต้องสนใจที่จะเรียนรู้ด้วย
เป็นอย่างไรบ้างคะ 10 ความเชื่อข้างต้น มีข้อไหนที่ผิดไปจากที่เคยคิดกันบ้างไหมเอ่ย รู้อย่างนี้แล้ว ขอให้ทุกครอบครัวมีความสุขกับการเลี้ยงลูกน้อยวัยทารก สังเกต เรียนรู้ เติบโตไปพร้อมกับลูกนะคะ
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock