AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

“8 ลักษณะนิสัยทารก” ลูกเป็นเด็กแบบไหน? ต้องเลี้ยงให้ถูกทาง!

ลักษณะนิสัยทารก

ลักษณะนิสัยทารก คุณพ่อคุณแม่ทราบหรือไม่ว่า ในเด็กวัยทารกก็มีบุคลิกลักษณะนิสัยด้วยเหมือนกัน ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กทารกแต่ละคนที่ดูเผินๆ แล้วก็เป็นเด็กเล็กๆ ที่ต้องการการดูแลใจใส่เหมือนๆ กัน แต่ในความเหมือนนั้นกลับมีความแตกต่างกัน ทีมแม่ ABK จะพาไปรู้จักกับ 8 ลักษณะนิสัยทารก กันค่ะ

 

ลักษณะนิสัยทารก

นักวิจัยเชื่อว่า เด็กทารกมี บุคลิกลักษณะนิสัย และพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป อยู่ 8 แบบ ซึ่งบางลักษณะนิสัยอาจมองเห็นได้อย่างเด่นชัดกันตั้งแต่แรกเกิด ในขณะที่ลักษณะท่าทีบางอย่าง อาจจะแสดงออกเอาเมื่อลูกอายุได้ราว 3-4 เดือน ลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันไปของลูกนี่เอง (อาจมีได้มากกว่าหนึ่งลักษณะนิสัย) ส่งผลให้ลูกมีท่าทีแสดงออกที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ ซน ไม่นิ่ง ขี้หงุดหงิด ใจร้อนโยเย ไปจนถึงขี้เล่นอารมณ์ดี

กระซิบกันหน่อยว่า ค่อยๆ ดูกันไปแบบสบายๆ เห็นก็ดี ไม่เห็นก็ไม่ผิดหรือต้องห่วงอะไร ถือว่ารู้ไว้เป็นแนวทาง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักลูกมากขึ้นค่ะ

อ่านต่อ >> “8 บุคลิกลักษณะ ในเด็กทารก” คลิกหน้า 2 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

8 ลักษณะนิสัยทารก ที่คุณยังไม่เคยรู้มาก่อน !! 

1. ไวต่อสิ่งเร้า หรือ ทนต่อสิ่งเร้า

สังเกตอย่างไร ลูกที่ไวต่อสิ่งเร้ามักจะงอแงอย่างรวดเร็ว เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ตั้งแต่เสียงดัง คนเยอะ ผ้าอ้อมแฉะ ร้อนไป หรือหนาวไป หรือเขาเป็นเด็กที่ทนกับสิ่งเร้าได้มาก ผ้าอ้อมเปียกก็ไม่โยเย ร้อนไปนิด เย็นไปหน่อยก็อยู่ได้

ควรเลี้ยงอย่างไร สำหรับลูกที่อ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม วิธีรับมือที่เหมาะคือทำกิจกรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่กระตุ้นหรือเร้าจนเกินไป เช่น พาเขาไปอยู่ในที่ค่อนข้างสงบ แสงไฟไม้จ้าหรือสว่างเกินไป ยามจะนอน ฯลฯ

สำหรับลูกน้อยจอมอึด ต้องขอแรงคุณพ่อคุณแม่ขยันสอดส่องดูแลความเรียบร้อยของลูก เช่น ผ้าอ้อมแฉะไหม ลูกถูกยุงกัดหรือมดกัดบ้างไหม เพราะเขาอาจจะอึดจนไม่ได้ร้องงอแงออกมาให้เรารู้ก็ได้

2. มาดนิ่ง หรือ ซุกซน

สังเกตอย่างไร ลูกชอบนั่งเล่นอยู่บนเก้าอี้เด็ก พลางสังเกตสิ่งรอบตัวแบบเงียบๆ เปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำก็อยู่นิ่งได้ หยอกล้อคุยกันไปจนเสร็จภารกิจ หรือว่าเป็นแบบไม่ค่อยจะยอมอยู่นิ่งๆ เอาซะเลย อลเวงกันทุกทีที่เปลี่ยนผ้าอ้อม (หรือทุกภารกิจ)

ควรเลี้ยงอย่างไร ถ้าลูกชอบอยู่นิ่งๆ ช่วยกระตุ้นให้สนุกกับการเคลื่อนไหวมากขึ้น จะได้ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่-มัดเล็กมากขึ้น เช่น พาลูกสนุกกับการขยับแขนขาออกกำลังกาย หรือใช้ผ้าขนหนูม้วนวางไว้ด้านหลังตัวลูกแล้วสอดผ่านรักแร้ดึงปลายผ้าขนหนูสองข้างขยับตัวลูกขึ้นลง หรือง่ายกว่านั้นจับเจ้าตัวน้อยกลิ้งตัวไปมาบนลูกบอล

ส่วนลูกที่เคลื่อนไหวมากจนเกินไปข้อดีคือ ลูกอาจจะเดินได้เร็ว แต่แบบนี้ต้องระวังเรื่องอุบัติเหตุเจ็บเนื้อเจ็บตัว หรืออันตรายจากข้าวของรอบตัว ต้องป้องกันด้วยการเก็บของชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่อยู่รายรอบให้พ้นตา พ้นมือ ตลอดจนจำกัดอาณาเขตความซนของลูก

3. ความเป๊ะ: เป็นเวลาหรือเอาแน่ไม่ได้

สังเกตอย่างไร ลูกมักจะกิน นอน ขับถ่ายอย่างเป็นเวลา หรือเขาเปลี่ยนเวลาได้ตลอด

ควรเลี้ยงอย่างไร ลูกที่ทำอะไรเป็นเวลา เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ทำให้พ่อแม่วางแผนทำอะไรได้ง่ายขึ้น เมื่อลูกโตขึ้นก็จะค่อยๆยืดหยุ่นตัวเองได้มากขึ้น เช่น อาจจะผิดเวลานอนกลางวันไปบ้าง สำหรับลูกที่ทำอะไรไม่เป็นเวลา ก็ไม่เป็นไร พ่อแม่เพียงค่อยๆสร้างเสริมกิจวัตรที่คุ้นเคยให้กับลูก เช่น นั่งกล่อมเขาบนเก้าอี้โยกตัวเดิม ปลอบประโลมด้วยวิธีที่เขาชอบ และพยายามพาเขาเข้านอนเป็นเวลา สิ่งสำคัญไม่ใช่การสร้างตารางเวลาใหม่ให้ลูก แต่ช่วยให้เขา “คุ้นชิน” กับกิจวัตรของเขา ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้สึกสบายใจและสงบมากขึ้น

4. ขี้เล่น หรือ ขี้ระแวง

สังเกตอย่างไร ลูกมักจะร่าเริง หัวเราะอืออาได้เวลาที่คนไม่คุ้นเคยเข้ามาหาหรืออุ้ม หรือต่อให้ตรงรี่เข้ามาทักทายหรือจู่โจมเข้ามาอุ้มก็ยังยิ้มร่า ชอบใจได้ หรือลูกมักจะระแวง ยิ้มไม่ออก แถมเบะใส่เวลาเจอคนแปลกหน้า หรือแม้จะเป็นคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายที่ใจดีก็ตาม

ควรเลี้ยงอย่างไร ถ้าลูกสนุกกับผู้คน ควรสนับสนุนเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เช่น ไปเล่นกับเด็กแถวบ้านถ้าคุณมีเวลาจะไปเพลย์กรุ๊ปบ้าง หรือพาลูกออกไปทำธุระนอกบ้านด้วยกัน

สำหรับลูกที่ออกจะขี้ระแวง อย่าผลักไสหรือบังคับเขาให้ต้องกล้ากับคนแปลกหน้า ในสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ค่อยๆให้ลูกปรับตัวจนมีท่าทีที่ผ่อนคลาย เช่น เริ่มอยากลงจากตักแม่ หรืออืออาทักทายคนที่พบเจอเสียก่อน อย่างไรก็ดี แม้แต่เด็กที่ไม่กลัวคนก็ยังมีช่วงเวลาติดแม่ และกลัวคนแปลกหน้า ซึ่งมักจะเริ่มเป็นตอนอายุราว 9 เดือน และค่อยๆ ปรับตัวได้ดีขึ้นจนอายุราว 1 ขวบ 6 เดือน

อ่านต่อ >> “8 บุคลิกลักษณะ ในเด็กทารก” คลิกหน้า 3 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

5. ปรับตัวเร็ว หรือ ปรับตัวช้า

สังเกตอย่างไร ลูกเป็นเด็กง่ายๆ เปลี่ยนที่กิน ที่นอนก็กินได้ นอนหลับ ให้ลองกินอาหารใหม่ก็รับได้เร็ว ใช้เวลาไม่มากในการปรับตัวกับคนแปลกหน้าไม่คุ้นเคย หรือลูกเป็นเด็กติดที่นอน ติดอาหาร ป้อนอาหารใหม่ให้ลองทีไร เป็นบ้วนออกทุกที และกับคนหน้าใหม่ๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ต้องขอเวลาพอสมควรถึงจะวางใจให้เข้าใกล้ได้

ควรเลี้ยงอย่างไร แม้ลูกจะเป็นเด็กที่ปรับตัวได้เร็ว การเปลี่ยนสถานที่นอนที่กินไม่ทำให้เขาเดือดร้อน กังวลใจ เข้ากับคนง่าย พาไปไหนพ่อแม่สบายอกสบายใจอยู่แล้ว ถึงอย่างนั้นถ้าคุณจะให้เขาอยู่กับคนหน้าใหม่ในชีวิต เช่น พี่เลี้ยงใหม่ ก็อย่าชะล่าใจ คุณยังควรให้เวลากับลูกอยู่ เพื่อดูให้มั่นใจว่า ลูกปรับตัวกับพี่เลี้ยงได้แล้วจริงๆ

สำหรับลูกที่ปรับตัวช้า ติดที่ ติดคน การเปลี่ยนแปลงแม้เล็กๆ น้อยๆ อาจทำให้เขากังวลใจ หากจำเป็นต้องพาลูกเดินทางไปไหนๆ หรือไปพักค้างคืน แปลกที่นอน ที่กิน และพบคนแปลกหน้า ความสงบของคุณเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกที่จะทำให้ลูกรับรู้ว่าเขาจะปลอดภัย ต่อมาคือแม้ลูกจะโยเย หรือปฏิเสธสิ่งต่างๆ ขอให้ใจเย็นๆ ให้เวลาเขาค่อยๆ ปรับตัวรับกับสิ่งใหม่ อีกอย่างที่จะช่วยคุณได้มากคือการเตรียมสิ่งของที่ลูกคุ้นชินติดไปด้วย เช่น ผ้าห่ม หนังสือ หรือของเล่น พอให้ลูกอุ่นใจว่ายังมีของคุ้นเคยอยู่บ้าง

6. แสดงความรู้สึก : เบาะๆ เบาๆ หรือแรงจัดชัดเจน

สังเกตอย่างไร ลูกมักจะแสดงความรู้สึกออกมาให้รู้อย่างชัดเจน อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดเป็นร้องไห้เสียงดัง พอใจก็ถีบแขนถีบขาหัวเราะเอิ๊กอ๊ากหรือดีใจก็ยิ้มส่งเสียงอืออา ขนาดไม่สบอารมณ์ขอแค่สะอื้นเบาๆ

ควรเลี้ยงอย่างไร พ่อแม่ไม่ควรจะรู้สึกแย่ เวลาที่ปราบพยศลูกไม่สำเร็จ และให้เข้าใจว่านี่คือการแสดงออกของลูก หากว่าคุณถึงจุดที่รู้สึกรับไม่ไหวแล้ว ให้ปล่อยลูกไว้ในที่นอนหรือเปลที่ปลอดภัย แล้วเดินออกมาพักยกก่อน ให้เวลาทั้งลูกและตัวคุณเองด้วย รู้สึกดีขึ้นแล้วค่อยว่ากันใหม่ ท่าทีที่สงบและเย็นลงของคุณจะช่วยให้ลูกน้อยค่อยๆ ผ่อนคลายลงได้

สำหรับลูกที่ไม่ค่อยแสดงออก ไม่อือไม่หืออะไร พ่อแม่ควรจะสังเกตท่าทีของเขา เช่น เวลาที่เขาร้องแต่ไม่เสียงดัง ร้องอั้นๆ อึดอัดๆ เพราะความเบื่อหรือหงุดหงิด คุณสามารถเข้าไปปลอบเขาได้ เช่น “อ๋อ เบื่อใช่มั้ยลูก? เสียงดังไป ลูกไม่ชอบเนอะๆ” ให้เขารู้ว่าพ่อแม่ใส่ใจ และพร้อมตอบสนองความรู้สึกของเขาเสมอ

7. อารมณ์ดีเป็นนิจ หรือ ขาหงุดหงิดเป็นประจำ

สังเกตอย่างไร ลูกมักจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับรอยยิ้ม ในหนึ่งวันอารมณ์ดีเป็นส่วนใหญ่ หรือมักจะหน้าคว่ำ หน้างอ ไม่สบอารมณ์อยู่เสมอ

ควรเลี้ยงอย่างไร สำหรับลูกที่อารมณ์ดี กิจวัตรต่างๆ ที่ทำร่วมกันจะมีแต่ความครื้นเครง สำหรับลูกที่หงุดหงิดบ่อย ต้องลองหาสาเหตุก่อน เช่น หงุดหงิดเพราะป่วยไข้ หรือไม่สบายตัวรึเปล่า พ่อแม่ที่หมั่นยิ้มแย้มแจ่มใสเวลาที่อยู่กับลูกจะช่วยให้ลูกผ่อนคลายอารมณ์ลงได้ ทั้งเด็กอารมณ์ดีและหงุดหงิดง่ายบ่อยๆ ควรจะได้รู้จักอารมณ์ต่างๆ ของเขาเอง วิธีง่ายๆ คือ พ่อแม่สังเกตและช่วยบอกขณะที่ลูกอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เช่น “อืม สบายอกสบายใจน่ะสิ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เลย” “โอ๊ะๆๆ ร้องอย่างนี้ ลูกหงุดหงิดเนอะ ไหนแม่ช่วยดูนะหงุดหงิดอะไรเอ่ย”

เด็กๆ ควรได้รู้จักอารมณ์ทั้งดีและไม่ดีของตัวเอง เมื่อโตขึ้น เขาจะรู้จักความรู้สึกและอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกรับมือกับความรุนแรงของอารมณ์ตัวเองได้

8. มุ่งมั่น หรือ ล้มเลิกง่าย

สังเกตอย่างไร ลูกมักจะไม่ยอมปล่อยของเล่น ไม่ยอมให้หลุดมือ ต่อให้กำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมอยู่ หรือเวลาจัดการของเล่นให้ถูกใจไม่ได้ เขาก็ร้องไห้สักครู่หรือไม่ร้อง แต่หันไปเล่นอย่างอื่นแทน

ควรเลี้ยงอย่างไร ถ้าการเปลี่ยนผ้าอ้อม หยุดความสนใจของเล่นของลูกไม่ได้ ก็ปล่อยให้เขาเล่นไป และถ้ามีโอกาสก็ให้เขาได้สนุกกับของเล่นที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น ถ้าเขาเล่นของเล่นที่ตั้งซ้อนกันจนเบื่อแล้ว ลองเปลี่ยนให้เขาเล่นของเล่นแบบรูปทรงดู
สำหรับลูกที่ไม่ชอบทนกับความซับซ้อนของของเล่น ก็ค่อยๆให้ลูกเรียนรู้ที่จะสนุกกับของเล่นไปเรื่อยๆ ทีละระดับ

 

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะได้รู้จักลูกของตัวเองกันมากขึ้น และจะได้ต่อยอดนำไปเลี้ยงดูลูกน้อยให้เหมาะสมกับบุคลิกลักษณะนิสัย ของเด็กแต่ละคน ที่แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ลูกเท่านั้นที่มีความสุข และพ่อแม่ก็มีความสุขด้วยเช่นกัน …ด้วยความห่วงใยค่ะ

อ่านบทความอื่นที่น่าสนใจ

คำสอนดี ๆ ในการเลี้ยงดูลูกแบบคนจีน
สิทธิการเลี้ยงดูบุตร เมื่อไม่ได้จดทะเบียน

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids