โดยเฉพาะเมื่ออายุได้สัก 10 เดือนจนถึงครบขวบ ทารกสามารถอ่านสีหน้า สายตา และน้ำเสียงของคุณออกว่าต้องการให้เขาหยุดหรือให้ทำอะไร ทักษะที่ว่านี้มีชื่อเฉพาะฟังหรูๆ ว่า social referencing
พอได้เห็นสีหน้า น้ำเสียงที่บอกอารมณ์ของพ่อแม่เป็นตัวช่วย ลูกจะตัดสินใจได้ว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไรกับสิ่งรอบตัว เช่น จะลองกินอาหารแมวได้ไหม ลองปีนขึ้นโต๊ะหรือขึ้นบันไดดีหรือเปล่า จะหยิบของเล่นใหม่ดีไหมนะ เป็นประโยชน์มากสำหรับวัยที่ยังบอกกล่าวเป็นคำพูดไม่ได้
คำใบ้จากพ่อแม่นอกจากใช้เพื่อห้ามแล้วยังใช้กระตุ้นให้ลูกทำบางอย่างได้ด้วย เช่นตอนลุ้นให้กินส้มสักกลีบ กินข้าวตุ๋นสักคำถ้าพ่อแม่ส่งกำลังใจไป ผ่านใบหน้ายิ้มแย้มพูดให้กำลังใจด้วยเสียงร่าเริง กระฉับกระเฉง ลูกก็รู้ว่าพ่อแม่อยากให้เขาหม่ำๆ
ทักษะนี้พ่อแม่ช่วยพัฒนาให้ลูกไดง่ายๆโดยหมั่นคุยกับลูก บอกกล่าวให้เขาได้รู้ได้ยินชื่ออารมณ์ต่างๆ จากความรู้สึกที่เกิดจริงๆ กับคุณ เช่น แม่ดีใจมาก หรือชอบมากที่ลูกชอบกินกล้วย พร้อมกับมีรอยยิ้มบนใบหน้า หรือหากเขาทำอะไรที่ไม่ปลอดภัย คุณก็บอกลูกได้ แม่กลัว / ใจหายเลยพอเห็นลูกปีนเตียง ผ่านสีหน้า แววตาที่บอกความห่วงใยของคุณ ลูกน้อยจะเข้าใจสิ่งที่คุณอยากบอกได้ดี
มีข้อควรระวังฝากไว้ ถ้าสีหน้า น้ำเสียง และอารมณ์ไม่ตรงกัน เช่น คุณกำลังโมโห แต่พยายามปกปิด ทำน้ำเสียงให้ร่าเริงทั้งที่สีหน้ากลับตึงๆ จะทำให้ลูกน้อยกังวล สับสน ทำอะไรไม่ถูก คุณอาจหลบไปสงบใจสักครู่ พร้อมแล้วค่อยกลับมาหาเขาใหม่จะเหมาะกว่าเที่ยวบินแรก ของผู้โดยสารตัวน้อย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง