คุณแม่ท่านหนึ่งตั้งกระทู้ไว้ในพันทิป เล่าถึงเรื่องราวที่เกิดจากการสังเกตลูกน้อยว่า ลูกอายุ 2 ขวบแล้ว แต่ยังพูดไม่ได้ คุณแม่จึงรู้สึกว่าพัฒนาการด้านการพูดของลูกช้าเกินไป คุณแม่จึงไปปรึกษาคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องพัฒนาการเด็ก เมื่อคุณหมอทำการทดสอบก็พบว่า ลูกพูดช้า สาเหตุ เพราะการดูทีวี หรือการเล่นแท็บเล็ต
ลูกพูดช้า สาเหตุ เพราะดูทีวี มือถือ และแท็บเล็ต
คุณหมอแนะนำคุณแม่ให้ปิดทีวี ปิด แท็บเลต แล้วทำกิจกรรมกับลูก เล่นกับลูก ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นคนเดียว หลังจากนั้นลูกน้อยก็พูดได้มากขึ้น คุณแม่เล่าถึงต้นเหตุที่ทำให้ลูกพูดช้าว่า ตอนแรกลูกน้อยเริ่มพูดได้ตั้งแต่ 1 ขวบ คุณปู่คุณย่าเปิดทีวีให้ดู ลูกเริ่มไม่ฟังพ่อแม่ ลูกร้องดูทีวีตลอด และเริ่มเล่นแท็บเล็ต จนลูกพูดไม่ได้ คุณพ่อ คุณแม่เรียกลูกก็มักจะไม่ค่อยได้ยิน เพราะนั่งนิ่งดูทีวี ลูกมีอาการนอนดึก ถ้าไม่ได้ดูทีวีจะไม่ยอมนอน ต้องหลับหน้าทีวีทุกคืน คุณพ่อ คุณแม่จึงตัดสินใจนำทีวีไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ เมื่อลูกไม่เห็นทีวีก็ไม่ร้องดู หันมาสอนอ่านหนังสือ สอนพูด เริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
ทีวีทำให้ลูกพูดช้าจริงหรือ?
ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ ได้ให้คำตอบไว้ว่า การที่เด็กดูโทรทัศน์มากๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้พูดช้า เด็กขวบแรกยังไม่มีพื้นฐานด้านภาษาเพียงพอที่จะเรียนรู้จากโทรทัศน์ เด็กต้องเรียนรู้ภาษาจากการปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริงกับคนที่อยู่ด้วย เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จึงไม่ควรดูโทรทัศน์ เพราะจะทำให้เด็กขาดปฏิสัมพันธ์ พูดคุย เล่น และทำให้พัฒนาการด้านอื่นๆ ช้าลงไปด้วย หลังจากอายุ 2 ปี เด็กสามารถดูทีวีได้บ้าง แต่ไม่ควรเกินวันละครึ่งชั่วโมง และพ่อแม่ต้องเลือกรายการที่เหมาะสมและมีประโยชน์ เด็กโตก็ไม่ควรดูโทรทัศน์เกินวันละ 1 ชั่วโมงเช่นกัน
คุณพ่อ คุณแม่ควรคุยกับลูกให้มากขึ้น สอนให้ลูกเรียกชื่อสัตว์ และสิ่งของ โดยให้ดูจากของจริง หรือรูปภาพประกอบในหนังสือ พูดกับลูกด้วยประโยคง่ายๆ สั้นๆ ชัดๆ ช้าๆ โดยให้ลูกน้อยเห็นหน้าและปากเวลาพูด อย่างไรก็ตามคุณพ่อ คุณแม่ก็ควรพาลูกไปพบกุมารแพทย์โดยเร่งด่วน เพื่อตรวจเช็คการได้ยิน และพัฒนาการด้านอื่นๆ รวมทั้งโรคทางกายต่างๆ ที่อาจทำให้พูดช้า คุณหมอจะได้สอบถามการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมอื่นๆ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยพูดช้า จะได้แก้ไขอย่างถูกต้อง
อ่านต่อ “สมาร์ทโฟน ทำให้ลูกพูดช้าจริงหรือ? และลูกพูดช้าเกิดจากอะไร?” คลิกหน้า 2
Smart phone หรือ Tablet ทำให้ลูกพูดช้าจริงหรือ?
หลายครอบครัวในสมัยนี้ชอบเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยี ด้วยมือถือ ด้วยเกมส์ออนไลน์ต่างๆ เพราะคิดว่าจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูก แต่คุณหมอด้านสุขภาพจิตเด็กออกมาเตือนว่า หากปล่อยให้เด็กเล็กๆ อยู่กับโทรศัพท์มือถือ จะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กด้วย ชมคลิปได้ที่นี่
ลูกพูดช้า สาเหตุ เกิดจากอะไร?
- มีความผิดปกติทางการได้ยิน เช่น หูดับ หูหนวก
- พัฒนาการล่าช้า หรือมีภาวะปัญญาอ่อน พัฒนาการด้านอื่นๆ ก็ช้าไปพร้อมๆ กัน
- ภาวะออทิสติก มีความบกพร่องทางการใช้ภาษาสื่อสารกับผู้อื่น การพูด หรือการสื่อสารโดยไม่ใช้คำพูด
- ครอบครัว หรือญาติพูดช้า มีความบกพร่องเฉพาะด้านคือการพูดอย่างเดียว
- ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เปิดทีวีให้ลูกดู แต่ไม่มีการสื่อสารโต้ตอบ ทำให้เป็นการสื่อสารทางเดียว พัฒนาทางภาษาจึงหยุดชะงัก โดยมากจะให้พี่เลี้ยงเป็นคนเลี้ยงดู ไม่มีการเล่นหรือพูด
พัฒนาการพูดตามวัยเป็นอย่างไร?
- 4 -6 เดือน มองหน้าคนที่พูดด้วย หันหาที่มาของเสียงหัวเราะ ส่งเสียงอ้อแอ้ เล่นน้ำลาย
- 7 -9 เดือน เริ่มรู้จักการเลียนเสียง ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ ส่งเสียงยังไม่เป็นภาษา
- 10 – 12 เดือน ทำท่าตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบ พูดเป็นคำที่มีความหมาย เช่น หัดเรียก “แม่”
- 18 เดือน ชี้รูปภาพ/อวัยวะตามคำบอกได้ ทำตามคำสั่ง 1 ขั้นได้ พูดคำ 1 พยางค์ได้ 10 คำ ฮัมเพลงตามได้
- 2 ปี พูดคำ 2-3 คำติดกันได้อย่างมีความหมาย เช่น กินข้าว ไปเที่ยว หิวนม หิวน้ำ แต่ยังไม่เป็นประโยค
- 3 ปี พูดเป็นประโยคได้ เล่าเรื่องได้เข้าใจ 50% เช่น บอกชื่อ นามสกุลได้ ฟังคำสั่งที่ซับซ้อนเข้าใจมากขึ้น
ลูกพูดช้า เมื่อไหร่ควรไปหาหมอ?
- 18 เดือน ไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เช่น เรียกชื่อแล้วไม่หันตามเสียง มานี่ นั่งลง
- 2 ขวบ ไม่พูดเป็นคำที่มีความหมาย พูดคำเดี่ยวๆ ได้น้อยกว่า 5 – 6 คำ
- 2 ขวบ 6 เดือน ยังไม่พูด 2 คำติดกัน หรือยังไม่พูดเป็นวลี เช่น ไปเที่ยว ไม่เอา หม่ำหนม เป็นต้น
Amarin Baby and Kids แนะนำให้คุณพ่อ คุณแม่ ต้องคอยสังเกตลูกน้อย ว่าลูกของเราพูดช้าหรือไม่ และป้องกันไม่ให้ “ลูกพูดช้า” ด้วยการพูดคุยกับลูก ไม่ปล่อยให้ลูกดูทีวีนานๆ หรือเล่นมือถือสมาร์ทโฟน หรือแท็บเลตบ่อยๆ พัฒนาการในการพูดของลูกจะได้เป็นไปตามช่วงวัยที่เหมาะสม
เครดิต: pantip.com, กุมารแพทย์โรงพยาบาลเจ้าพระยา, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล, ไทยรัฐทีวี, haamor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่