พ่อแม่ลูกอ่อนมือใหม่ที่พึ่งจะมีลูกแรกคลอด มีสารพัดเรื่องให้ได้เรียนรู้ ทั้งการอาบน้ำ การให้นมลูก แล้วไหนจะเรื่องการนอนของลูกที่หลายข้อมูลก็ว่าควรให้ลูกนอนหงาย แต่อีกหลายเสียงก็บอกว่า ลูกทารกต้องให้นอนคว่ำนะ!! ใครเคยสงสัยบ้างไหมว่าทำไมต้องให้ ลูกนอนคว่ำ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำตอบในเรื่องนี้มาให้ได้ทราบกันค่ะ
จับลูกนอนคว่ำ หรือนอนหงายดีนะ?
จับลูกนอนคว่ำ หรือจะเป็นท่านอนหงายดี เคยสงสัยกันไหมคะ? พ่อแม่มือใหม่ หรือจะมือเก่ามีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกมาแล้วก็ตาม ต้องรู้ว่าในเด็กแรกคลอดวัยทารกช่วง 1-3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ลูกยังไม่สามารถช่วยเหลือ หรือขยับตัวพลิกคว่ำ พลิกหงายได้เอง ยังคงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากพ่อแม่ และพี่เลี้ยงเด็ก ในการช่วยจัดท่านอน ขยับพลิกคว่ำ พลิกหงาย หรือนอนในท่าตะแคง เป็นต้น อยู่ตลอดเวลา
ท่านอนของเด็กทารกจะมีอยู่ 2 ท่าที่พ่อแม่จะคุ้นเคยกันดี นั่นคือ ท่านอนหงาย กับท่านอนคว่ำ สมัยก่อนเด็กแรกเกิดคนเฒ่า คนแก่ ย่ายาย มักจะให้หลานตัวนอยนอนหลับท่านอนคว่ำกันซะส่วนใหญ่ เพราะการ จับลูกนอนคว่ำ จะช่วยให้รูปศีรษะของเด็กทุยสวย ศีรษะจะไม่แบนจนเสียรูปทรง แต่ถ้าในปัจจุบันตามวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมในการจัดท่านอนให้เด็กทารกแรกเกิด ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรให้ทารกนอนในท่านอนหงาย เพื่อป้องกันภาวะการตายเฉียบพลัน
มีการวิจัยพบว่าการนอนคว่ำเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อโรคการตายฉับพลันของเด็กทารกเรียกกันว่าโรค SIDS (sudden infant death syndrome)
ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีโครงการ “ให้เด็กนอนหงาย” (back to sleep) โดยแนะนำให้จัดท่านอนเด็กเป็นท่านอนหงายเสมอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 พบว่าการตายจากโรค SIDS ลดลง จากการวิจัยหลายแหล่งพบว่าการนอนคว่ำมีความเสี่ยงต่อการกดทับจมูกปากจนขาดอากาศหายใจ[1]
ดังนั้นจึงแนะนำคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัยทารกแรกคลอดว่า ในช่วงที่ลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือน ไม่ควรจัดท่านอนให้ลูกด้วยการ จับลูกนอนคว่ำ เพราะทารกแรกเกิดยังไม่สามารถยกศีรษะ หรือตะแคงหน้าได้เอง การนอนคว่ำโดยที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่ด้วย อาจทำให้ลูกขาดอากาศหายใจได้ ดังนั้น ควรเปลี่ยนจากท่านอนคว่ำมาเป็นท่านอนหงายก่อนจะดีที่สุด
อ่านต่อ ให้ลูกนอนคว่ำ ที่ไม่ได้มีดีแค่ช่วย หัวทุย คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ให้ลูกนอนคว่ำ ที่ไม่ได้มีดีแค่ช่วยลูกหัวทุยสวย!!
คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า แล้วถ้าจะให้ลูกนอนคว่ำละ เพราะอยากให้ลูกหัวทุยสวย จริงๆ ให้นอนคว่ำได้ค่ะ แต่ควรรอให้ลูกสามารถชันคอ และเริ่มยกศีรษะของตัวเองขึ้นได้ ซึ่งช่วงหลัง 2 เดือนขึ้นไป ลูกจะเริ่มมีพัฒนาการการชันคอ ยกศีรษะขึ้นได้บ้างแล้ว ช่วงนี้คุณแม่อาจจัดท่าให้ลูกได้นอนทั้งท่านอนหงาย และนอนคว่ำในขณะที่ลูกตื่น แต่ถ้าเป็นการนอนหลับในช่วงกลางคืน หรือกลางวันที่หลับยาวๆ ควรมีผู้ใหญ่คอยจับพลิกตัวให้ลูกด้วย ไม่ควรปล่อยให้ลูกนอนคว่ำนานๆ ค่ะ
การนอนคว่ำไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะยังมีข้อดีหลายอย่าง ตามนี้ค่ะ
- ช่วยให้อวัยวะภายในอย่างปอด สามารถขยายตัวและทำงานได้ดี เวลาที่ลูกหายใจก็จะช่วยส่งออกซิเจนไปเลี้ยงยังอวัยวะทุกส่วยของร่างกายได้ดีมากขึ้น
- ช่วยให้ลูกไม่นอนผวา ไม่สะดุ้งตื่นบ่อยๆ
- ช่วยให้ลูกหัวทุยสวย ศีรษะได้รูปสวย ไม่แบนจากการนอนหงาย
Tips for mom…การยกตัวลูกขึ้นจากท่านอนคว่ำ
เมื่อลูกอายุได้ 2 เดือนขึ้นไป เขาจะสามารถพลิกตัวให้มาอยู่ในท่านอนคว่ำได้ แต่เพื่อช่วยให้ลูกสบายไม่อึดอัด คุณแม่ควรอุ้มลูกขึ้นเพื่อเปลี่ยนท่าให้ลูก จะเป็นการนอนหงาย หรือนอนตะแคงบ้างก็ได้ ซึ่ง Dr.Frances Williams กุมาแพทย์[2] ได้ให้คำแนะนำในการยกตัวลูกขึ้นจากท่านอนคว่ำที่ถูกต้องไว้ดังนี้
1. ประคองท้องและศีรษะลูก
ให้คุณแม่สอดมือข้างหนึ่งเข้าไประหว่างขาของลูก เพื่อให้ฝ่ามือของคุณแม่วางบนท้อง และทรวงอกของลูก จากนั้นให้วางมืออีกข้างไว้ใต้แก้มลูก พร้อมประคองศีรษะลูกให้อยู่แนวเดียวกับลำตัว
2. ประคองท้องและทรวงอกลูก
จากนั้นให้คุณแม่ยกลูกขึ้น โดยให้เลื่อนมือข้างหนึ่งที่อยู่ใต้แก้มมาอยู่รอบทรวงอกลูก เสร็จแล้วให้หมุนตัวลูกเข้าหาลำตัวคุณแม่ (ลักษณะคือตัวลูกจะหันด้านหน้าออกมา) แต่ศีรษะลูกต้องให้อยู่สูงเหนือลำตัวส่วนอื่นของลูก
จากการการยกตัวลูกขึ้นจากท่านอนคว่ำ คุณแม่จะวางลูกลงนอนท่าหงาย หรือจะอุ้มไว้ในอ้อมแขนก็ได้ ซึ่งช่วยให้ลูกสบาย และไม่ร้องงอแงค่ะ
อ่านต่อ ประโยชน์จากการให้ลูกนอนคว่ำ คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
จับลูกนอนคว่ำ ให้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ทีมงานขออนุญาตนำความรู้จากคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ[3] ที่กล่าวถึงประโยชน์ของการจับลูกนอนคว่ำในขณะที่ลูกตื่น ดังนี้ค่ะ
- ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ และกล้ามเนื้อหลังส่วนบน เมื่อลูกยกคอได้ดีจะจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงภาวะ SIDS
- ช่วยทำให้ศีรษะของลูกทุย ไม่แบนราบเหมือนท่านอนหงาย
- ช่วยส่งเสริมพัฒนาการทำให้ลูกพลิกคว่ำได้เร็ว และพัฒนาต่อไปสู่การนั่ง การคลาน
- ช่วยให้การทำงานของปอด และลำไส้ทำงานได้ดี
ข้อควรระวังในการจับลูกนอนคว่ำ!!
- ห้ามจัดท่านอนคว่ำให้ลูกขณะนอนหลับ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ SIDS
- ไม่ควรมีสิ่งของนุ่มนิ่ม เช่น ตุ๊กตา ผ้าห่ม หมอนข้าง ฯลฯ วางอยู่ใกล้ๆ ขณะลูกนอนคว่ำ เพราะลูกอาจเผลอนอน ทับแล้วหายใจไม่ออก เนื่องจากยกศีรษะขึ้นยังไม่เป็น
- ไม่แนะนำให้ฝึกลูกนอนคว่ำมากกว่าวันละ 2-3 ครั้ง และแต่ละครั้งไม่ควรนานมากกว่า 5-10 นาที
- ไม่ควรจับลูกนอนคว่ำภายใน 1 ชั่วโมง หลังทานนม เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกอาเจียนออกมา
Must Read >> SIDS หรือไหลตายในเด็ก ภัยเงียบของลูกน้อย
การให้ลูกนอนคว่ำดูเหมือนจะมีอันตราย แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้หลักการ และวิธีจัดท่านอนคว่ำที่ถูกต้อง และให้ลูกนอนท่าคว่ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม รับว่าไม่เป็นอันตรายต่อตัวลูกอย่างแน่นอน กลับแต่จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อคอที่ดีให้ลูกซะมากกว่าค่ะ และอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญ และคุณหมอเด็กบอกว่า การจับลูกนอนคว่ำ ควรทำขณะที่ลูกตื่นนอนจะปลอดภัย ได้สุขภาพ และได้พัฒนาการที่ดีด้วยค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ระวัง! อย่าวางทารกนอนบนโซฟา
เปิดคัมภีร์ ทารกนอนหลับแบบไหน? ช่วยให้พัฒนาการดี
วิจัยชี้! ลูกน้อยนอนตะแคงดีต่อสมอง
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
[1]ผศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์. เด็กนอนอย่างไรปลอดภัย. www.doctor.or.th
[2]Dr.Frances Williams.คู่มือการเลี้ยงลูกสำหรับคุณแม่มือใหม่ หน้า 8-9
[3]พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.ท่านอนคว่ำมีประโยชน์อย่างไร. www.facebook.com