AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิจัยเผย! ทารกร้องไห้ เก่งที่สุดพบมากในประเทศนี้…!?

เมื่อลูก ทารกร้องไห้ มีพ่อแม่มือใหม่หลายคนมักทำตัวไม่ถูกและสงสัยว่าทำไมลูกเราร้องไห้เก่งจัง!! เด็กทารกบ้านอื่นร้องไห้เก่งแบบนี้กันบ้างหรือไม่ ซึ่งความจริงแล้วเด็กทารกแรกเกิดที่ร้องไห้เก่งมากที่สุดไม่ใช่เด็กทารกไทย

การร้องไห้ของทารกอาจเป็นเรื่องกังวลใจของคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะครอบครัวมือใหม่ที่ต้องรับมือกับเสียงร้องโยเยของเจ้าตัวน้อย แต่รู้หรือไม่ว่าการร้องไห้ของทารกเป็นอีกวิธีการสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่คล้ายกับการพูดของผู้ใหญ่ ซึ่งเด็กแรกเกิดมักร้องไห้งอแงเป็นปกติ แต่มีนักวิจัยชาวอังกฤษที่มหาวิทยาลัย Warwick ได้ทำการศึกษาถึงอัตราการร้องไห้ของเด็กทารกในแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน

วิจัยเผย! ทารกร้องไห้ เก่งที่สุดพบมากในประเทศอังกฤษ

โดยนักวิจัยชาวอังกฤษ ได้ออกมาเผยถึงสถิติระยะเวลาการร้องไห้ของทารกในประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่าทารกชาวเมืองผู้ดีอย่างประเทศอังกฤษร้องไห้เก่งที่สุด ในขณะที่ทารกชาวเดนมาร์กงอแงน้อยที่สุด

ซึ่งงานวิจัยที่จัดทำขึ้นโดยนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Warwick ของอังกฤษ และถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Journal of Pediatrics ระบุว่า

 

“ตารางการร้องไห้โดยเฉลี่ยของเด็กทารกทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถช่วยในการศึกษาในขั้นต่อไปว่า อัตราการร้องไห้ที่แตกต่างกันของเด็กทารกในแต่ละประเทศนั้น เป็นผลมาจากวัฒนธรรมการเลี้ยงดู พันธุกรรม ประสบการณ์ระหว่างการตั้งท้อง หรือปัจจัยอื่นๆ หรือไม่ อย่างไร”

และที่สำคัญยังสามารถช่วยคุณพ่อคุณแม่วิเคราะห์ได้ว่า ลูกน้อยของตนร้องไห้มากไปหรือน้อยไปหรือไม่เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การปรับเปลี่ยนท่านอนหรือที่นอน ตอดจนการปรับอาหารของเด็กทารก

โดยจากการศึกษาทารกราว 8,700 คนในเยอรมนี เดนมาร์ก แคนาดา อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

พบว่า ทารกอังกฤษร้องไห้มากที่สุด ตามมาด้วยแคนาดา และอิตาลี โดยมีอาการโคลิคขั้นสูง คือ ร้องไห้มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์

อ่านต่อ >> “ประเทศที่ทารกร้องไห้น้อยที่สุด และสาเหตุที่ทำให้ทารกร้องไห้มากหรือน้อยต่างกัน” คลิกหน้า 2


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pptvhd36.com , www.pobpad.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ประเทศที่เด็กทารกร้องไห้ต่ำที่สุด

ส่วนประเทศที่พบอาการโคลิคในเด็ก หรือการที่เด็กทารกร้องไห้ต่ำที่สุด คือ เดนมาร์ก เยอรมนี รวมทั้งญี่ปุ่น

ส่วนปัจจัยที่ทำให้ทารกแต่ละประเทศแตกต่างกันขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประสบการณ์ของแม่ และพันธุกรรม โดยในอังกฤษ พบว่า คุณแม่เกือบ 3 ใน 4 ให้นมทารกหลังคลอด แต่กว่าครึ่งหยุดให้นมหลังผ่านไป 2 เดือน

ขณะที่การศึกษาอีกชิ้นพบว่า วัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของผู้ปกครองในกรุงโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษแตกต่างกัน เมื่อทารกตื่นขึ้นมาและร้องไห้ พ่อแม่ชาวเดนมาร์กจะเข้าไปสัมผัสลูกมากกว่า ซึ่งมีส่วนทำให้ทารกหยุดร้องไห้เร็วขึ้น

⇒ Must read : 10 วิธี ทำ ให้ ทารก หยุดร้องไห้
⇒ Must read : ปล่อยให้ลูกร้องไห้นานๆ ทำลายสมองจริงหรือ?

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าเวลาที่ทารกร้องไห้นานที่สุด คือ

ทารกร้องไห้เฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงอายุ 2 สัปดาห์แรก และจะร้องไห้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยไปจนถึงอายุ 6 สัปดาห์ ที่อัตราสูงสุดเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 15 นาที ต่อวัน จากนั้นจะเริ่มลดลง เหลือราว 1 ชั่วโมง 10 นาที เมื่ออายุ 12 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม จำนวนเวลาที่ทารกแต่ละคนร้องไห้นั้นแตกต่างกันมาก บางคนอาจอยู่ที่วันละ 30 นาที แต่บางคนอาจมากถึง 5 ชั่วโมง

งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นสถิติที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นคู่มือสำหรับผู้ปกครอง เพื่อประเมินว่า ลูกน้อยร้องไห้มากกว่าระดับปกติหรือไม่ในช่วงอายุ 3 เดือนแรก หากพบว่า ร้องไห้มากกว่าปกติทีมวิจัยแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกมีอาการโคลิก ก็อย่างเพิ่งกังวลใจ เพราะอาการนี้จะหายไปเองเมื่ออายุ 3 เดือน ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการนี้มักจะมีปัญหากระเพาะอาหารและลำไส้ยังไม่แข็งแรง แต่เมื่อครบ 3 เดือนแล้วจะแข็งแรงมากขึ้น ผู้ปกครองต้องใจเย็น และคอยอุ้มจนกว่าเค้าจะหยุดร้อง

และกรณีเด็กร้องไห้ 3 เดือน ในเมืองไทย แล้วเป็นเรื่องค่อนข้างปกติ เพราะสภาวะที่เด็กไม่คุ้นกับสภาพแวดล้อมใหม่ ซึ่งไม่เหมือนการอยู่ในครรภ์มารดาที่อบอุ่น ที่ยาวนานถึง 9 เดือน ก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นคุณแม่ควรให้ความรักความเข้าใจและความอบอุ่นกับเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นับเป็นสิ่งดีที่สุด

เสียงร้องที่เด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือนใช้บ่อย มีอยู่ 5 เสียง

แง แง แง… : “ลูกหิวแล้ว” เสียงร้องแบบนี้จะมีเสียง “ง” หรือเสียงขึ้นจมูก โดยเริ่มจากร้องเบาๆ ติดๆ กัน จากนั้นลูกจะทำปากเหมือนพยายามดูดนม แล้วเสียงร้องก็ค่อยๆ ดังและกระชั้นขึ้นกลายเป็นร้องไห้โยเย จนกว่าจะได้นมหรืออาหารนั่นแหละ

อาว… (ก็เสียงหาวนอนนั่นแหละ): “ลูกง่วงแล้ว” สังเกตดูรูปปากของลูกจะเป็นรูปวงรี หรือรูปไข่ มีทั้งแบบหาวสั้น หรือหาวยาวๆ

เฮอะ เฮอะ เฮอะ… : “ลูกไม่สบายตัวเพราะ แฉะ เจ็บ หรืออึดอัด ฯลฯ” คล้ายกับเสียงร้องหิว แต่ต่างกันตรงเสียงต้นจะเป็น ฮ ตอนร้องเริ่มต้นก็ เฮอะ…นำมาก่อนติดๆ กันก่อน แล้วสักพักถ้าแม่แยกไม่ออก ก็จะกลายเป็นร้องไห้ชุดใหญ่ล่ะ

อือ อือ อือ… : “อีดอีดจัง ลมเต็มท้องเลยแม่” คำนี้เป็นเสียงในท้องของลูกน้อย นึกถึงเวลาผู้ใหญ่อย่างเราๆ ปวด/ไม่สบายท้อง ก็จะร้องคราง โอดโอย โอยนั่นแหละ

อา… : “ลูกอยากเรอจัง” ถ้าได้ยินเสียงนี้ ติดกันหลายที ก็ไม่ต้องตกใจ จัดให้ลูกได้เรอตามที่เขาต้องการก็เท่านั้นเอง

อ่านต่อ >> “ลักษณะสำคัญของอาการร้องไห้มากและวิธีรับมือที่ถูกต้อง” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

ลักษณะสำคัญของอาการร้องไห้มาก ได้แก่

  1. ร้องและหยุดร้องเองโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ขณะที่ร้องมีหน้าตาเหยเกคล้ายเจ็บปวด ทั้งที่ไม่เจ็บปวดอะไร ร้องนานต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง บางคนนาน 5-6 ชั่วโมง มักจะเริ่มร้องช่วงเย็นๆ ถึงหัวค่ำ
  2. ร้องไห้มากขึ้นเรื่อยๆ และมากที่สุดประมาณเดือนที่ 2 หลังจากนั้นจะร้องน้อยลง
  3. คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถทำให้หยุดร้องได้ทันที แต่สามารถทำให้ร้องน้อยลงได้ ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพยายามค่อยๆ ปลอบลูกค่ะ

♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦

อันตรายของเด็กที่ร้องไห้มากใน 3 เดือนคือผู้ปกครองหรือผู้ดูแลหมดความอดทนหรือเหน็ดเหนื่อยจากการที่ลูกร้องไห้มาก แล้วเผลอจับเด็กเขย่า เพื่อให้หยุดร้อง การเขย่าอาจก่อให้เกิดอันตรายที่รุนแรงได้ เพราะศีรษะเด็กจะเคลื่อนไปมาหน้าและหลัง ศีรษะเด็กมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว อาจทำให้หลอดเลือดในสมองฉีกขาด ลูกอาจพิการหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลุกเริ่มร้องไห้คือ

  1. อุ้ม ปลอบ พูด หรือเดินค่ะ ส่วนใหญ่จะทำให้การร้องไห้ลดลง
  2. ในกรณีที่ลูกร้องไห้นานมาก เมื่อพ่อแม่หรือผู้ดูแลเกิดความเครียด ให้วางลูกไว้ในที่ๆ สงบและปลอดภัย เช่นในเตียงของลูก และหลบออกไปผ่อนคลายสักพัก เมื่อรู้สึกดีขึ้นค่อยกลับมาดูลูกค่ะ ที่สำคัญอย่าจับลูกเขย่าหรือทำร้ายลูกเป็นอันขาด
⇒ Must read : อันตราย !! จากการ อุ้ม เขย่าทารก “Shaken baby syndrome”

บางครั้งอาจต้องให้แพทย์ประจำตัวตรวจร่างกายลูกรัก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีสาเหตุอื่นที่ทำให้ลูกร้องไห้มาก อย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องอธิบายให้ทุกคนที่ดูแลลูกเข้าใจและไม่ปล่อยลูกไว้กับเพื่อนหรือญาติในช่วงเวลาที่ลูกมักจะร้องไห้มากค่ะ

ปรับตนเองอย่างไรไม่ให้หัวเสียเมื่อลูกร้องไห้ ?

เด็กที่ร้องไห้งอแงอาจทำให้พ่อแม่หลายคนฟิวส์ขาดเอาได้ง่าย ๆ เพราะไม่รู้ต้องทำอย่างไรให้เด็กหยุดร้อง พ่อแม่จำเป็นต้องรู้จักควบคุมตนเองเช่นกัน เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น หากเริ่มรู้สึกหงุดหงิด คุณแม่อาจขอความช่วยเหลือให้คุณพ่อหรือญาติพี่น้องช่วยดูแลแทนให้ชั่วครู่ เพื่อจะได้พักก่อนกลับมารับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้น พยายามใจเย็นและเข้าใจถึงสถานการณ์ว่าการร้องไห้เป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งของเด็ก เมื่อเด็กโตขึ้นจะเริ่มร้องไห้น้อยลง นอกจากนี้การดูแลตนเองให้อยู่ในสภาพพร้อมก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เช่น ไม่ปล่อยให้ตนเองหิวหรือนอนหลับไม่เพียงพอจนอาจโมโหลูกได้ง่าย

⇒ Must read : วิจัยเผย! แม่เลี้ยงลูกลำพังเสี่ยงเป็น โรคซึมเศร้าหลังคลอด!

ในปัจจุบันมีศูนย์ให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงลูกมากมายที่คอยให้คำแนะนำเมื่อเกิดปัญหากับลูกน้อย โดยเฉพาะโรงพยาบาลทั้งของรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึงสายด่วนขององค์กร โรงพยาบาล หรือมูลนิธิ เช่น สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือสายด่วนโรงพยาบาลเด็ก โทร. 1415

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


เรียบเรียงโดย: กองบรรณาธิการ Amarin Baby & Kids

ข้อมูลจาก: ภาควิชากุมารเวชศาสตร์และงานพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล