AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เบบี๋น้ำลายไหลย้อย ผิดปกติหรือไม่?

ปัญหาเรื่องน้ำลายไหลในเด็ก พบได้ในเด็กปกติ ส่วนใหญ่มักเป็นไม่นานหรือเป็นตามช่วงอายุ เช่น อายุ 3-4 เดือน ที่ชอบเล่นน้ำลาย ชอบทำเสียงพ่นน้ำลายออกมา หรืออายุ 6 เดือน เป็นช่วงที่ฟันกำลังขึ้น อาจมีอาการเจ็บที่เหงือก หรืออาจมีอาการเจ็บป่วย ติดเชื้อบางอย่าง เป็นแผลในปาก หรือมีการอักเสบบริเวณช่องปากและลำคอ ทำให้กลืนน้ำลายไม่ได้ น้ำลายจึงยืดออกมา แต่มักเป็นไม่นาน จึงไม่ต้องใช้ผ้ากันเปื้อนหรือผ้ากันน้ำลายตลอดเวลา

 ข้อเสียของการมีน้ำลายไหลยืด คือทำให้ผิวหนังบริเวณที่โดนน้ำลายเป็นผื่นแดง อักเสบติดเชื้อ ข้าวของหรือหนังสือเสียหายจากน้ำลายที่เปรอะเปื้อน และเด็กเกิดความอับอายเพราะถูกล้อเลียน เด็กที่มีน้ำลายไหลยืดนานกว่าคนอื่นอาจเกิดจากภาวะต่อไปนี้

▶ การสบฟันผิดปกติ ควรปรึกษาทันตแพทย์

▶ ใช้จุกหลอก หรือดูดจุกขวดนมนานเกินช่วงวัย ควรหยุดการใช้โดยเร็ว

▶ ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคสมองพิการ ซึ่งวินิจฉัยได้โดยแพทย์เท่านั้น

▶ เด็กมีโรคประจำตัวภูมิแพ้ หายใจทางจมูกไม่สะดวก ต้องอ้าปากช่วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการภูมิแพ้

▶ แนวโน้มพัฒนาการสื่อสาร ภาษาล่าช้า ควรปรึกษาแพทย์พัฒนาการเด็ก เพื่อส่งต่อฝึกพูด

▶ กล้ามเนื้อรอบปากไม่แข็งแรง โทนกล้ามเนื้อต่ำ มีปัญหาการเคี้ยวกลืน ควรปรึกษาแพทย์พัฒนาการเด็ก เพื่อส่งต่อนักกิจกรรมบำบัด

อ่านวิธีการนวดปาก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบปาก คลิกหน้า 2

เรามีวิธีการนวดปาก เพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบปากและประสิทธิภาพในการเคี้ยวมาให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำตามกันนะคะ

ท่าแรก : ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้ง วางที่จุดกึ่งกลาง เหนือริมฝีปากบน จากนั้นออกแรงกดเล็กน้อย พร้อมกับวาดนิ้วทั้งสองออกทางด้านข้าง ทำซ้ำ 10 ครั้ง และทำเช่นเดียวกับ บริเวณด้านล้างของริมฝีปากล่าง ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าที่สอง : ใช้นิ้วโป้ง วางบริเวณด้านข้างของริมฝีปาก จากนั้นออกแรงกดเล็กน้อย พร้อมปัดออกทางด้านข้างออกไปบริเวณแก้ม ทำรอบริมฝีปาก ทั้งด้านข้างและด้านล่าง ทำซ้ำ 10 ครั้ง

ท่าที่สาม : คว่ำมือใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางวางบนแก้มด้านขวา นิ้วโป้งวางบนแก้มด้านซ้ายของน้อง จากนั้นออกแรงกดเล็กน้อย พร้อมทั้ง หมุนเป็นวงกลมวนด้านซ้าย และด้านขวา ทำซ้ำ 10 ครั้ง

*สามารถทำได้ทุกวัน ก่อนมื้ออาหาร

โดยการนวดต่อเนื่อง 5-10 นาที

พร้อมทั้งพูดเตือนให้น้องหัด “กลืนน้ำลาย” ไปด้วยนะคะ

อย่างไรก็ตามคุณแม่คุณพ่อ ต้องคอยหมั่นสังเกตลูกน้อยด้วย เพราะเด็กที่มีน้ำลายไหลอยู่นานเกินวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังอายุ 2 ปีขึ้นไป หากยังไม่สามารถกลืนน้ำลายได้ทำให้มีน้ำลายไหลออกมาเยอะ ถือเป็นความผิดปกติค่อนข้างรุนแรงและมักมีอาการป่วยอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคสมองพิการ โรคพิษสุนัขบ้า โรคสมองอักเสบ แต่มักพบได้น้อยมากคุณแม่ไม่ต้องตื่นตกใจนะคะ เพราะโรคนี้จะต้องมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย

ดังนั้นการสังเกตอาการของลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มั่นใจหรือคิดว่าผิดปกติแนะนำให้รีบปรึกษากุมารแพทย์ หรือหมอเด็ก เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดค่ะ


บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : @ครูแนน นักกิจกรรมบำบัด