เนื่องจากกะโหลกศีรษะของลูกน้อยแรกเกิดยังปิดไม่สนิท เราจึงสังเกตเห็น กระหม่อมทารก เป็นแอ่งนุ่มๆ ดูบอบบาง คุณแม่ทราบไหมคะว่า กระหม่อมทารกมีความสำคัญอย่างไร? กระหม่อมทารกปิดกี่เดือน? กระหม่อมปิดช้า กระหม่อมปิดเร็วบอกอะไร? กระหม่อมบุ๋ม กระหม่อมโป่งตึง ผิดปกติหรือไม่? และจะมีวิธีดูแลกระหม่อมลูกน้อยอย่างไร? พบคำตอบที่นี่ค่ะ
กระหม่อมเป็นโครงสร้างนิ่มๆ ของศีรษะทารกซึ่งแผ่นกระดูกหุ้มสมองสามารถหดชิดเข้ามาหากันได้ทำให้ศีรษะทารกผ่านช่องคลอดได้ในระหว่างคลอด และช่วยให้กะโหลกขยายได้เมื่อมีการขยายขนาดของสมองหลังคลอด
-
กระหม่อมทารกปิดกี่เดือน ?
กระหม่อมหน้า
เมื่อลองใช้นิ้วมือแตะลงตรงกลางศีรษะของทารก แล้วค่อยๆ เลื่อนมาข้างหน้า จะพบแอ่งนุ่มๆ มีรูปร่างเหมือนเพชรหรือสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ในแนวหน้าหลังยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และในแนวขวางยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร นั่นคือ กระหม่อมหน้าของทารก โดยที่แอ่งนี้เกิดจากกะโหลกศีรษะยังปิดไม่สนิท ซึ่งจะเริ่มปิดเมื่อลูกน้อยมีอายุ 6 เดือน และจะปิดสนิทเมื่อลูกน้อยอายุ 12-18 เดือน ซึ่งเด็กแต่ละคนกระหม่อมจะปิดช้าหรือเร็วต่างกัน
กระหม่อมหลัง
กระหม่อนหลังมีรูปร่างเป็นรูปสามเหลี่ยม ขนาดของกระหม่อมหลังกว้าง ประมาณ 1-2 ซม. อาจปิดตั้งแต่แรกเกิด หรือปิดสนิทเมื่ออายุ 6-8 เดือน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ กระหม่อมปิดช้า vs กระหม่อมปิดเร็ว บอกอะไร? คลิกหน้า 2
-
กระหม่อมปิดช้า vs กระหม่อมปิดเร็ว บอกอะไร?
กระหม่อมปิดเร็ว หรือปิดช้าเกินไป บอกถึงการเติบโตของสมองได้เช่นกัน ซึ่งการที่กระหม่อมปิดแสดงถึงการเชื่อมติดกันของกระดูกที่ประกอบกันเป็นกะโหลก
กระหม่อมปิดเร็ว
ถ้ากระดูกเชื่อมกันเร็วเกินไป เกิดจากการเจริญของสมองช้าหรือสาเหตุอื่น ทำให้กระหม่อมปิดเร็ว การเจริญของกะโหลกจะถูกจำกัด กะโหลกจะขยายไม่ได้ และสมองจะไปเบียด อวัยวะภายในศีรษะด้วย ลูกน้อยอาจมีรูปศีรษะผิดปกติหรือหน้าตาดูแปลกๆ ตาโปน หรือบางคนอาจมีความดันในสมองสูง ทำให้ลูกน้อยงอแงเพราะปวดหัว หรือพัฒนาการล่าช้า ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกต โดยอาจใช้วิธีสังเกตหรือว่าใช้มือสัมผัสบริเวณกระหม่อมลูก หากคุณแม่พบอาการเช่นนี้ ต้องรีบพาลูกน้อยไปหาแพทย์โดยเร็ว
กระหม่อมปิดช้า
ถ้ากระหม่อมปิดช้า อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคของกระดูกกะโหลกบางชนิด และโรคของระบบต่อมไร้ท่อ ส่วนใหญ่เกิดจาก ไทรอยด์ฮอร์โมนผิดปกติ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยลงแต่กำเนิด ซึ่งจะส่งผลให้พัฒนาการล่าช้าในทุกด้านด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ กระหม่อมบุ๋ม vs กระหม่อมโป่งตึง บอกอะไร? คลิกหน้า 3
-
กระหม่อมบุ๋ม หรือ โป่งตึง บอกอะไร?
กระหม่อมบุ๋ม
การตรวจร่างกายทารกจำเป็นต้องมีการคลำกระหม่อมหน้าด้วย หากกระหม่อมหน้าบุ๋ม หรือยุบลง แสดงถึงภาวะขาดน้ำ หากลูกน้อยมีอาการท้องเดิน หรืออาเจียนมากๆ คุณแม่ควรคลำกระหม่อมหน้าของลูก เพื่อดูว่ากระหม่อมบุ๋มลึกกว่าปกติหรือไม่ ถ้าคลำแล้วพบว่าบุ๋มลงไปมาก ลูกซึม ไม่เล่น ไม่ยิ้ม ไม่ร่าเริงเช่นเคย ดวงตาโหลลึก และปัสสาวะออกน้อย ลูกอาจมีอาการขาดน้ำรุนแรง หากช่วยเหลือไม่ทัน อาจมีอันตรายได้
กระหม่อมโป่งตึง
เมื่อลูกน้อยมีอาการตัวร้อน คุณแม่ควรคลำกระหม่อมดูว่ามีลักษณะโป่งตึงหรือไม่
หากลูกของคุณมีอาการตัวร้อน แต่ไม่ได้ร้องงอแง แล้วคลำกระหม่อมพบว่า มีลักษณะโป่งตึง ร่วมกับมีอาการซึม กินอะไรก็อาเจียนออกหมด แสดงว่าความดันในกะโหลกศีรษะมีมาก อาจเกิดความผิดปกติในสมอง เช่น เป็นโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์โดยเร็ว หากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้
อย่างไรก็ตามการบวม โป่ง นูนของกระหม่อมหน้าอาจไม่ได้บ่งบอกถึงการเพิ่มของความดันในกะโหลกเสมอไป หากลูกน้อยร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้กระหม่อมนูนในลักษณะเดียวกันได้
โดยปกติ กระหม่อมของทารกจะเต้นตุบ ๆ ตามชีพจรของลูก แต่หากพบว่า กระหม่อมโป่งพอง ไม่เต้นตุบๆ ไปตามจังหวะการเต้นของชีพจร แสดงว่าลูกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสมอง ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีดูแลกระหม่อมทารกที่ยังปิดไม่สนิท คลิกหน้า 4
-
วิธีดูแลกระหม่อมทารกที่ยังปิดไม่สนิท
ช่วงที่กะโหลกของทารกยังไม่เชื่อมปิดกันนั้น ไม่ควรกดบริเวณกระหม่อมของลูก และระวังไม่ให้ถูกกระทบกระแทกแรงๆ รวมถึง ควรระวังอากาศร้อนจัด หรือเย็นจัดด้วย เพราะกระหม่อมทารกยังเป็นเพียงเนื้อเยื่อบางๆ หรือที่เรียกว่า กระหม่อมบาง อาจทำให้เป็นหวัดได้ง่าย
แต่แม้ว่า กระหม่อมทารก จะดูบอบบาง แต่กระหม่อมบางๆ ของลูกนั้นแข็งแรงมากพอที่จะปกป้องเนื้อเยื่อสมองที่อยู่ภายในได้เป็นอย่างดี คุณแม่ไม่ต้องกังวลที่จะสัมผัสกระหม่อมลูกน้อย สามารถจับ คลำเบาๆ ได้ เพื่อเป็นการตรวจกระหม่อม สังเกตความผิดปกติของลูกน้อยตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก
ทารกแรกเกิด-6 เดือน ต้องกินน้ำหรือไม่ ?
6 ข้อ ห้ามทำกับสะดือทารกแรกเกิด
ขอบคุณข้อมูลจาก th.wikipedia.org , doctor.or.th