หนึ่งในคำถามท็อปฮิตที่คุณแม่มือใหม่หลาย ๆ ท่านสงสัยและอยากรู้กันมากที่สุดก็คือ “ลูกจำหน้าแม่ได้ เมื่อไหร่?” จะจำได้ตั้งแต่ 2 – 3 สัปดาห์แรกกเลยไหม? และแท้จริงแล้วลูกจะสามารถเริ่มมองเห็นได้เมื่อไหร่ หากคำถามพวกนี้เป็นคำถามที่คุณแม่กำลังต้องการคำตอบอยู่ละก็ ไปค้นหาคำตอบนั้นพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
ก่อนอื่นคุณแม่ทราบกันหรือไม่คะว่า ลูกของเรานั้นเริ่มมองเห็นกันได้ตั้งแต่เมื่อไหร่? จริง ๆ แล้วนั้นพัฒนาทางด้านการเรียนรู้และความสามารถในการจดจำของลูกนั้น เริ่มพัฒนาตั้งแต่พวกเขาอยู่ในครรภ์ของคุณแม่แล้วละค่ะ และจะเริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงอายุครรภ์ 23-29 สัปดาห์ ในขณะที่ลูกอยู่ในครรภ์ หากคุณแม่ฟังเพลงที่ชอบบ่อย ๆ ลูกก็จะเกิดความคุ้นเคยพร้อมทั้งดิ้นตอบรับเพลงดังกล่าวนั้น เช่นเดียวกับหากลูก ๆ คลอดออกมาแล้ว เวลาที่ลูกงอแง เพียงแค่คุณแม่เปิดเพลงที่ชอบ ลูกก็จะหยุดร้องได้ทันที
เมื่อลูกมีอายุครบ 2เดือน สายตาของลูกเริ่มมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นแล้วและเริ่มมองเห็นรายละเอียดและลักษณะเฉพาะของใบหน้ามากขึ้น ลูกสามารถเริ่มจดจำว่าตาของคุณแม่สีอะไร ลักษณะของจมูก และปาก เป็นแบบไหน ในขณะเดียวกันลูกก็เริ่มสังเกตและจดจำใบหน้าของคุณพ่อได้ด้วย ทารกในช่วงวัยนี้จะจำคุณพ่อคุณแม่ได้แม้ว่าทั้งคู่จะแต่งตัวต่างไปจากทุกวันหรือตัดผมทรงใหม่ ลูกก็ยังจำได้ ซึ่งต่างจากช่วงแรกที่ลูกยังจดจำเฉพาะภาพรวมของคุณพ่อคุณแม่
และลูก ๆ ก็จะเริ่มจดหน้าแม่ได้ในช่วงอายุระหว่าง 3 – 5 เดือน และด้วยความใกล้ชิดและความผูกพันที่แสนวิเศษทำให้ลูกจำคุณแม่ได้ทันทีเมื่อเจอหน้า เพราะถ้าหากเป็นคนอื่นละก็ ลูกจะนิ่งไม่แสดงออกมา เพราะไม่คุ้นเคย อาจจะต้องใช้เวลาสักพักถึงจะยิ้มให้ นอกจากใบหน้าของคุณแม่และคนในครอบครัวแล้ว ยังรวมถึงการจดจำสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เสียงสุนัขที่บ้านเห่า ของเล่น หรือข้าวของเครื่องใช้ เป็นต้น
ส่วนในช่วง 5 – 8 เดือนนั้น เป็นช่วงของการเรียนรู้และอยากเล่นสนุก ไม่สำคัญว่าจะเป็นการเล่นกับคน สัตว์เลี้ยง ของเล่นชิ้นโปรด หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน ลูกก็จดจำได้หมดแล้ว อีกทั้งยังรู้ด้วยว่า พวกเขาชอบเล่นกับใคร และจะตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้ไปตามสถานที่ใหม่ ๆ ที่พวกเขายังไม่คุ้นเคย และจะแสดงออกผ่านทางสีหน้า แววตา และเสียงหัวเราะชอบใจ
จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกจำหน้าแม่ได้ แล้ว? อยากรู้คลิกเลย!
เครดิต: pigeon
4 วิธีสังเกตุ ลูกจำหน้าแม่ได้ แล้วนะ!
-
จ้องหน้าคุณแม่โดยไม่ละสายตา เมื่อ ลูกจำหน้าแม่ ได้ ลูกจะชอบมองทุกอย่างที่เป็นแม่ ไม่ว่าจะเป็นดวงตา ผม รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ ลูกชอบทุกอย่างที่เป็นคุณ และไม่ว่าวันนี้คุณจะสวยหรือไม่ ผมจะเปลี่ยนเป็นทรงไหนก็ตาม ลูกก็ยังจำแม่ได้อยู่ดี
-
จำกลิ่นและรสชาติของน้ำนมแม่ได้ เชื่อไหมคะว่า ต่อให้ใครจะมาแกล้งสวมบทบาทเป็นแม่ให้ลูกของเรากินนม ลูกก็สามารถจำได้ว่าคน ๆ นั้นไม่ใช่แม่ของตัวเองภายในช่วงเวลาเพียงไม่นาน และจะเริ่มร้องไห้งอแงหาแม่ของตัวเอง ที่พวกเขาจำได้นั้นเป็นเพราะ กลิ่นตัวของแม่นั้นมีลักษณะเฉพาะตัวไม่ซ้ำแบบใคร ต่อให้แม่จะไม่อาบน้ำ เชื่อเถอะค่ะว่า สำหรับลูกนั้น กลิ่นตัวของแม่นั้นหอมเสมอ
-
หันหน้าตามทุกครั้งที่ได้ยินเสียง ไม่ว่าลูกจะกำลังเล่น หรือนอนหลับ เพียงแค่ได้ยินเสียงแม่ พวกเขาก็จะแสดงความกระตือรือร้นหันตามหาเสียงของแม่ตัวเองอย่างจริงจัง และเมื่อเจอแล้ว พวกเขาก็จะส่งรอยยิ้มหวาน ๆ ให้กับแม่ ชนิดที่เรียกได้ว่า หวานจนมดขึ้น!
-
พูดคุยไม่หยุด เหมือนจะเป็นการทักทายและบอกรักกับแม่ เพราะทุกครั้งที่เห็นแม่อยู่ตรงหน้า ลูก ๆ จะส่งเสียงอ้อแอ้ ราวกับว่าคุยกับแม่รู้เรื่อง และถ้าแม่ยิ่งพูดคุยกับเขามากขึ้น คราวนี้ละค่ะ รับรองพูดไม่หยุดเลยละค่ะ
อ่านวิธีพัฒนาการทางด้านสายตาของลูกเพิ่มเติม คลิก!
ถึงแม้ว่าพัฒนาการในการมองเห็นของลูกในช่วงแรก ๆ นั้นจะยังใช้การได้ไม่สมบูรณ์เท่าผู้ใหญ่ แต่หลังจากที่ลูกมีอายุครบได้ 2 เดือน พัฒนาทางด้านสายตาของเขาจะเริ่มชัดและปรับระยะของภาพได้ดีขึ้น ซึ่งทั้งคุณแม่และคุณพ่อ สามารถช่วยเสริมและกระตุ้นพัฒนาการทางสายตาของลูกได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- หาของเล่นที่มีสีขาวดำมาให้ลูกเล่น จริงๆ แล้วลูกสามารถมองเห็นสีต่าง ๆ ได้ตั้งแต่แรกเกิดแล้วค่ะ เพียงแต่ว่าการมองเห็นอาจจะยังไม่สมบูรณ์ และยังแยกแยะสีต่าง ๆ ได้ไม่มากเท่ากับผู้ใหญ่ แต่สีที่ลูกสามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ สีที่ตัดกันอย่างชัดเจน อย่างสีดำและสีขาว เช่นเดียวกับดวงตาของคุณแม่ ที่พวกเขาชอบจ้องมอง เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ลูกมากที่สุด
- เล่นกับลูกให้มาก ๆ การเล่นกับลูกบ่อย ๆ จะช่วยเสริมพัฒนาการทางด้านสายตาของลูกได้ด้วยเช่นกัน เพราะในการเล่นแต่ละครั้ง แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ก็มักที่จะหาตัวช่วยเป็นของเล่น สมุด หรือตุ๊กตาต่าง ๆ มาเล่นกับลูก รวมถึงการเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกนั้น นอกจากจะช่วยกระตุ้นสายตาแล้ว ยังมีในการช่วยพัฒนาการทางด้านอารมณ์ให้กับลูกไปด้วยทางอ้อม
- ตุ๊กตาแขวนหรือโมบายล์ คุณพ่อคุณแม่ลองมองหาโมบายล์หรือตุ๊กตาที่มีเสียงกรุ๊งกริ๊งมาแขวนในตำแหน่งที่ลูกสามารถเอื้อมจับได้ แนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะแขวนในตำแหน่งที่ลูกสามารถเอื้อมจับได้นะคะ เพราะลูกจะได้หยิบจับและเล่นเมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาอยากเล่น การเล่นของเล่นชิ้นนี้ นอกจากจะเสริมสร้างระบบประสาท การหยิบจับแล้ว ยังช่วยในเรื่องของสายตาและการสังเกตได้อีกด้วยค่ะ
นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะมีหน้าที่ในการเป็นผู้กระตุ้นพัฒนาการทางสายตาให้กับลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถช่วยบำรุงสายตาของลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพในการมองเห็นได้ดียิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ โดยนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์พบว่า ดีเอชเอในนมแม่ เป็นตัวช่วยในช่วงต้นของการพัฒนาสายตา เป็นผลให้สายตาพัฒนาไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้าง เซลล์รับแสงของจอตาซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ของการเกิดสายตาสั้น จากการศึกษาเด็กบนเกาะสิงคโปร์ พบว่าเด็กที่กินนมแม่จะสายตาสั้นน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่อยู่ 0.6 เท่า นี่แหละ! อีกหนึ่งความมหัศจรรย์ของนมแม่ที่ธรรมชาติได้มอบให้
เครดิต: Haijai
คลิกอ่านเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่