ส่งเสริมให้ลูกเล่น ขวบปีแรก พัฒนาการสมองดี การปูพื้นฐานให้ลูกเป็นเด็กเก่ง ฉลาดที่จะเรียนรู้ ต้องเริ่มมาจากพ่อแม่ที่เป็นครูคนแรกของลูก ที่เริ่มจากการส่งเสริมให้ลูกได้เล่นของเล่นที่เหมาะสมกับช่วงวัย ทีม Amarin Baby & Kids จะมาช่วยให้ทุกครอบครัวส่งเสริมให้ลูกในขวบปีแรกได้มีพัฒนาการสมองดีที่เริ่มมาจากการเล่นกันค่ะ
ส่งเสริมให้ลูกเล่น ขวบปีแรก พัฒนาการสมองดี – พัฒนาการสมองของลูก
สมองของเด็กถูกพัฒนามาตั้งแต่ตอนที่อยู่ในครรภ์ของแม่ สมองของลูกจะเจริญเติบโตได้ดีส่วนหนึ่งต้องมาจากอาหารที่แม่ทานตั้งแต่ตอนท้อง อาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงสมอง เช่น อาหารประเภทปลา ไก่ นม ไข่ ถั่ว ผักใบเขียว ฯลฯ และนอกจากนี้จะต้องได้รับการกระตุ้นจากแม่ด้วย ซึ่งกิจกรรมที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการสมมองของลูกได้ตั้งแต่ในครรภ์ คือ
1. ฟังเพลง
ระบบประสาทการรับฟังของทารกจะเริ่มทำงานตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 เดือน การใช้เสียงกระตุ้นจะทำให้เครือข่ายใยประสาทที่ทำงานเกี่ยวกับการได้ยินของลูกมีพัฒนาการดีขึ้น คลื่นเสียงจากเพลงจะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทการได้ยินมีการพัฒนาระบบการทำงานได้เร็วขึ้น ทำให้หลังจากที่ลูกคลอดออกมาจะมีความสามารถในการจัดลำดับความคิดในสมอง และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี1
2. พูดคุยกับลูก
การพูดคุยกับลูกในครรภ์จะช่วยให้ระบบประสาทและสมองที่ควบคุมการได้ยินมีพัฒนาการที่ดีและเตรียมพร้อมสำหรับการได้ยินหลังคลอด2
3. ส่องไฟที่หน้าท้อง
เมื่อแม่อายุครรภ์ 7 เดือน กิจกรรมหนึ่งที่ควรทำคือการส่องไฟที่หน้าท้อง เพราะลูกสามารถกะพริบตาเพื่อตอบสนองต่อแสงไฟที่กระตุ้นได้แล้ว การส่องไฟที่หน้าท้องจะทำ ให้เซลล์สมองและเส้นประสาท ส่วนรับภาพและการมองเห็นมีพัฒนาดีขึ้น3
และหลังจากที่ลูกคลอดออกมาแล้ว การเตรียมพร้อมให้สมองลูกเรียนรู้ได้อย่างฉลาดยังไม่จบลง เพราะการจะสร้างลูกให้เป็นเด็กที่มีพัฒนาการสมองดี พ่อแม่จะต้องช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้ลูกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขวบปีแรกถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างมาก พ่อแม่จะต้องศึกษาหาข้อมูลในการเตรียมพร้อมทั้งด้านร่างกาย และสมองให้ลูก สำหรับพัฒนาการทั้งสองด้านนี้มีความต้องการอย่างมากก็คืออาหาร และการได้รับการกระตุ้นทักษะอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะสมองของลูก ที่สามารถเรียนรู้และจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้ดี ดังนั้นเพื่อให้ลูกเป็นเด็กมีพัฒนาการสมองดี หัวไว ในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราในฐานะพ่อแม่ มาเริ่มต้นส่งเสริมลูกให้เขาได้เล่นกันอย่างสมวัย เพราะการเล่นคือหนึ่งในอาวุธสำคัญที่จะช่วยให้ลูกมีสมองดีได้ค่ะ
ส่งเสริมให้ลูกเล่น ขวบปีแรก พัฒนาการสมองดี
ในช่วงขวบปีแรกหน้าที่หลักของลูกยังคงเป็นการนอน กิน และเล่น ซึ่งการเล่นคือหน้าที่ของลูกวัยนี้เลยก็ว่าได้ การที่ลูกได้เล่นอย่างเหมะสมตามช่วงวัย จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการสมองที่ดีมากขึ้น ผู้เขียนในฐานะแม่คนนึงจึงอยากแนะนำให้พ่อแม่มือใหม่ได้ส่งเสริมให้ลูกเล่นตามช่วงวัยของเขา เพราะการเล่นที่เหมาะสมกับพัฒนาการลูก จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้พัฒนาการสมอง รวมทั้งพัฒนาการทุกด้านของลูกมีประสิทธิภาพ แข็งแรงสมบูรณ์ด้วยเหมือนกันค่ะ
อายุ 1-3 เดือน
พัฒนาการ เคลื่อนไหวร่างกาย แขน ขา ได้ 2 ข้างเท่ากัน สำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัว จ้องมองและเคลื่อนสายตาตามวัตถุที่เคลื่อนที่ใช้มือคว้า เอื้อมหยิบสิ่งของ อาจจะจับถูกบ้างผิดบ้าง เนื่องจากการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อตาและมือยังไม่สมบูรณ์
การเล่น การอุ้มสัมผัสพูดคุย เด็กจะยิ้มและตอบสนองต่อเสียงรอบข้าง ของเล่นกระตุ้นสายตา โมบายสีสดใสกรุ๋งกริ๋งเขย่ามีเสียงดัง ฟังเพลงบรรเลงเบาๆ
4-5 เดือน
พัฒนาการ เด็กเริ่มจำวัตถุและบุคคลใกล้ชิดได้ คอแข็ง พลิกคว่ำได้ ใช้แขนได้ดีขึ้น หมุนตัวหรือคืบไปข้างหน้าได้ พยายามไขว่คว้าสิ่งของที่ต้องการด้วยตัวเอง ชอบถือของเล่นฟาดไปมา จับของเล่นเข้าปาก จับให้นั่งได้แต่ยังนั่งเองไม่ได้
การเล่น ของเล่นที่ใช้มือจับ เขย่ามีเสียง ควรเป็นของเล่นที่ปลอดภัย ไม่มีความคม และเอาเข้าปากได้โดยไม่เป็นอันตราย เมื่อเล่นยอกล้ออารมณ์ดีจะหัวเราะเสียงดัง
5-6 เดือน
พัฒนาการ เคลื่อนไหวได้คล่องขึ้น สนใจสิ่งต่างๆรอบตัว อยากรู้อยากเห็น อยากหยิบจับของทุกอย่างที่มองเห็น บางคนสามารถนั่งได้เอง เมื่อจับยืนเท้าสองข้างจะวางแนบกับพื้น เด็กบางคนจะร้องเมื่อเห็นคนแปลกหน้า
การเล่น ของเล่นที่จับแกว่งแล้วมีสียงดัง ยางกัดนิ่มๆ กล่องดนตรี เล่นกับเงาตัวในกระจก
6-7 เดือน
พัฒนาการ นั่งพิงเก้าอี้ได้ นั่งตามลำพังได้ มองของเล่นและพิจารณารายละเอียด
ของเล่น ของเล่นประเภทที่มีเสียง เล่นรุนแรงขึ้น เล่นตุ๊กตาล้มลุก ตุ๊กตาไขลาน ชอบเพลงที่มีจังหวะ
อ่านต่อ >> “เทคนิคส่งเสริมให้ลูกเล่นตามวัยในขวบปีแรก” หน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
7-8 เดือน
พัฒนาการ คลานได้ เริ่มซน บางคนชอบปีนขึ้นเก้าอี้ คลานขึ้นบันได ชอบรื้อของเล่นออกจากกล่อง/ตะกร้า ของเล่น ใช้มือปัดออกเมื่อไม่ต้องการสิ่งนั้น เมื่อถูกแย่งของจะโกรธและร้องไห้ ฟันเริ่มขึ้น
ของเล่น ของเล่นชนิดเดิมที่มีเสียง เริ่มสนใจสิ่งของภายในบ้าน ชอบเล่นของเล่นชิ้นใหญ่ เช่น ไม้ขนไก่ ที่ตักผงขยะ โทรศัพท์ เลือกของเล่นด้วยตัวเอง
8-9 เดือน
พัฒนาการ คลานได้คล่องขึ้น คลานไปไหนๆก็ได้ เริ่มปีนขึ้นเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เริ่มเข้าใจความหมายของคำพูดและเปล่งเสียงได้ เช่น หม่ำๆ เลียนแบบคำสั่งง่ายๆได้ เช่น “บ๊ายบาย สาธุ”
การเล่น เล่นจ๊ะเอ๋เป็น ชอบใจจะหัวเราะเสียงดัง ชอบเล่นที่เคาะแล้วมีเสียงดัง เช่น กลอง ระนาด ขยับร่างกายตามจังหวะเพลง
9-10 เดือน
พัฒนาการ เกาะยืนได้ บางคนเกราะเดินได้ ซนมากขึ้นและไม่อยู่นิ่ง สนใจสิ่งของทุกอย่างที่มองเห็น ชอบเลียนแบบท่าทางผู้ใหญ่ เข้าใจคำว่า ไม่ หย่าทำ
การเล่น สนใจสิ่งแวดล้อมในบ้าน ชอบเล่นของใช้ในบ้าน เช่น ถ้วยชามช้อน ขวดเครื่องสำอาง ปลั๊กไฟ เล่นเพราะสำรวจ อยากรู้อยากเห็น ต้องเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดและคอยระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก
10-11 เดือน
พัฒนาการ เมื่อเกาะเดินเก่งขึ้น เด็กก็จะเริ่มปล่อยมือและตั้งไข่ เปิดบานประตูเล็กได้ เปิดลิ้นชักได้ อยากทดลองทำทั้งๆที่รู้ว่าห้ามทำ บางคนเรียก พ่อ แม่ ได้
การเล่น เล่นของเล่นที่เป็นบล็อกจับเข้าจับออก ฆ้อนตอกหมุดเป็นสีๆ ดูหนังสือภาพ เปิดหนังสือภาพ เป่ากันหันลม เป่าฟองสบู่
11-12 เดือน
พัฒนาการ เริ่มก้าวเดิน ไต่ขึ้นบันไดได้เอง พูดเป็นคำได้ เช่น หมา ป้า ไป ไม่ เด็กบางคนอาจจะยังไม่พูดแต่ฟังรู้เรื่อง มีความอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น ชอบเที่ยวนอกบ้าน
การเล่น เล่นเชิงสำรวจ เล่นรถลาก เล่นสนามเด็กเล่น แกว่งชิงช้า ม้าโยก ม้าหมุน4
ความฉลาด เรียนรู้เก่ง มีความจำดี ไม่สามารถซื้อหามาให้ลูกได้ด้วยเงินทอง แต่พ่อแม่สามารถสร้างปูพื้นฐานให้ลูกได้ด้วยตัวของพ่อแม่เอง โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ลูกได้เล่นอย่างเหมาะสมตามวัย บวกกับมีเพื่อนเล่นที่ดีนั่นก็คือพ่อแม่ ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้ลูกเป็นเด็กที่มีพัฒนาการสมอง พัฒนาการร่างกาย และทุกทักษะในตัวลูกเติบโตขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก!
10 เทคนิค ช่วยให้ สมองดี สมองไบรท์
เล่นกระบะทราย พัฒนาสมองลูก ได้จริงหรือ?
6 เคล็ดลับ สร้างความสุขให้ลูกรัก สมองเติบโต
ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
1,2,3หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย รศ. นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. Thaihealth
4การเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก. med.cmu